มูลนิธิกระจกเงา แถลงการณ์ทบทวนระเบียบแต่งกาย ยกประสบการณ์ ชุดน.ร. ไม่ลดเหลื่อมล้ำ

มูลนิธิกระจกเงา แถลงการณ์ทบทวนระเบียบแต่งกาย ยกประสบการณ์ ชี้ชุดน.ร. ไม่ลดเหลื่อมล้ำ

จากกรณีที่ กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มภาคีนักเรียนKKC และ เครือข่าย นัดใส่ชุดไปรเวตไปโรงเรียนต้อนรับเปิดเทอม โดยมีหลายโรงเรียนร่วมกิจกรรม อาทิ เตรียมอุดมศึกษา สตรีวิทยา สามเสนวิทยาลัย ขอนแก่นวิทยาลัย ต่างมีเด็กนักเรียนใส่ไปรเวตไปเรียน โดยประเด็นดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสถกเถียงในสังคม ว่า ชุดนักเรียนนั้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้จริงหรือไม่

เด็กเตรียมอุดมฯ แต่งไปรเวต ขออิสระการเลือกชุดมาเรียน จี้ ศธ.แก้ระเบียบ-เปิดกว้าง

ดีเดย์วันนี้ นร.นัดแต่งชุดไปรเวตไปเรียนพรึบแค่ไหน พร้อมตั้งคำถาม “เครื่องแบบสำคัญจริงหรือ”

‘ณัฏฐพล’ ชี้อย่านำทรงผม-เครื่องแบบ มากดดัน ย้ำต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาก่อน

Advertisement

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม มูลนิธิกระจกเงา ได้เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง ต้องมีการทบทวน และอภิปรายระเบียบการใส่เครื่องแบบนักเรียน โดยมีเนื้อหาดังนี้

จากกรณีการเคลื่อนไหวของนักเรียน รวมกลุ่ม 23 โรงเรียนแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน เพื่อแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย ทำให้เกิดการลงโทษ หรือปฏิกิริยาโต้กลับของคุณครู และโรงเรียนในฐานะผู้ควบคุมกฎระเบียบในโรงเรียน

มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรที่เปิดรับบริจาคชุดนักเรียนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา เราส่งต่อชุดนักเรียนไปทั้วประเทศแล้วหลายหมื่นชุด

เห็นได้ชัดว่าผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่ระเบียบการใส่เครื่องแบบนักเรียนยังเป็นปัญหา สร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมาก สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตาม แม้เราเห็นว่าเป็นภาระ แต่กฎระเบียบโรงเรียนได้กำหนดให้ผู้ปกครอง และเด็กต้องทำตาม

ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นเพียงมูลนิธิ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์องค์กรหนึ่ง การขับเคลื่อนโดยลำพัง ย่อมไม่มีขีดความสามารถ ที่จะผลักดันให้เกิดการยุติความเหลื่อมล้ำนี้ ที่ผ่านมาเราจึงเพียงขอทำหน้าที่ในการอุดข้อจำกัดของชุดนักเรียนนี้ แต่อย่าเข้าใจผิดว่าเราสนับสนุนให้เกิดการใส่เครื่องแบบนักเรียน อันนำมาซึ่งความเดือดเนื้อร้อนใจของผู้ปกครอง และเด็ก

เราไม่เชื่อว่าการใส่ชุดนักเรียนจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าระเบียบวินัยได้ ใน 5 วันต่อสัปดาห์ เด็กนักเรียนต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน 2 วัน เครื่องแบบลูกเสือ 1 วัน เครื่องแบบพละ 1 วัน และหากเป็นโรงเรียนในต่างจังหวัด ยังมีชุดพื้นเมืองที่ต้องจัดหาเพิ่มอีก 1 ชุด

ในขณะที่รัฐอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียน ระดับอนุบาล คนละ 300 บาท/ปี ระดับประถมศึกษา คนละ 360 บาท/ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น คนละ 450 บาท/ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย คนละ 500 บาท/ปี และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ คนละ 900 บาท/ปีเท่านั้น ทำให้ค่าใช้จ่ายเครื่องแบบนักเรียนจึงเกินงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้อยู่มาก

เราจึงพบเห็นได้อยู่เสมอว่า มีเด็กในพื้นที่ห่างไกล หรือในโรงเรียนขนาดเล็กเด็กยากจน จะมีชุดนักเรียนอยู่ชุดเดียว ซัก 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และใส่จนดำ เด็กบางคนใส่ชุดนักเรียนทับกันสองชั้นเพื่อทับจุดที่ขาดของแต่ละตัวไว้ เด็กบางคนใส่ชุดนักเรียน แต่ไม่มีรองเท้านักเรียนให้ใส่ และเด็กบางคนไม่มีถุงเท้านักเรียนใส่ ในขณะที่ฝั่งของผู้ปกครอง ก็จะถูกกดดันให้จัดหาเครื่องแบบนักเรียน หากครอบครัวไหนที่ไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ เหมือนจะถูกตีตราว่าไม่สนับสนุนการศึกษาของลูก

เราไม่รู้หรอกว่า จุดลงตัวจะอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้ แต่มูลนิธิกระจกเงา ขอเรียกร้องให้เกิดการทบทวนและอภิปรายในเรื่องเครื่องแบบนักเรียน กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และหมายรวมถึงการทบทวนสิทธิเสรีภาพเด็ก ที่ควรมีต่อเนื้อตัวร่างกายของตนเอง

มูลนิธิกระจกเงา
1 ธันวาคม 2563″

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image