‘เต้นลุยไฟ’ หน้ารัฐสภา ‘กลุ่มทำทาง’ ผนึกเครือข่าย จี้ยกเลิก ม.301-แก้กฎหมายทำแท้ง หลังเสียงถูกเมิน

‘เต้นลุยไฟ’ หน้ารัฐสภา ‘กลุ่มทำทาง’ ผนึกเครือข่าย จี้ ยกเลิก ม.301-แก้กฎหมายทำแท้ง หลังเสียงถูกเมิน

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย กรุงเทพฯ กลุ่มทำทาง พร้อมด้วย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม, มูลนิธิมานุษยะ, กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี, เครือข่ายสลัม 4 ภาค และ องค์กรกองทุนเพื่อการทำแท้งปลอดภัย (SAAF) จัดกิจกรรม “ม็อบสีดาลุยไฟหน้ารัฐสภา” เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง และต้องยกเลิกมาตรา 301 โดยผู้ร่วมกิจกรรมได้ชูป้ายสีชมพู ระบุข้อความ “การทำแท้งปลดภัยคือสิทธิมนุษยชน” ป้ายข้อความ “เพศสรีระ ไม่เท่ากับ อัตลักษณ์ทางเพศ” “Decriminalize Abortion! ปลดแอกกฎหมายทำแท้งฯ”

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวปราศรัยในประเด็นยกเลิกกฎหมายมาตรา 301 “ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้องเพื่อทำแท้ง” การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ราดน้ำสีแดง “กฎหมายทำแท้งฆ่าผู้หญิง” และการแสดงเต้น “สีดาลุยไฟ”

ทั้งนี้ เนื่องด้วยวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมรัฐสภา ได้กำหนดวาระรับร่างหลักการร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก มาตรา 301-305 สองฉบับ กล่าวคือ 1.ฉบับที่เสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 พฤศจิกายน และ 2.ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก มาตรา 301-305 ฉบับที่เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม เพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาตรา 301 (หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่ทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 (บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย หรือทั้งจำทั้งปรับ) จะมีผลเมื่อพ้น 360 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัยนั้น

Advertisement

อ่านข่าว : ‘ส.ส.พปชร.’ รับหนังสือ ‘กลุ่มทำทาง’ หลัง กม.ทำแท้งเข้าสภา เผยรอตั้ง กมธ.

ที่ผ่านมาในกระบวนการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย กลุ่มทำทาง ในฐานะตัวแทนของกลุ่มผู้หญิงที่ผ่านประสบการณ์ทำแท้ง และผู้ให้คำปรึกษาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของ “ผู้หญิงท้องไม่พร้อม” ตลอดจนองค์กรภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนสิทธิของผู้หญิงในการเข้าถึงการทำแท้ง ในฐานะสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน และบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่จำเป็น ได้เข้ายื่นหนังสือ และนำเสนอข้อมูลต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายในหมวดนี้มาแล้ว ได้แก่ 1.คณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 2.คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดแก้ไขและปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก 3.สำนักงานคณะกรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ แก้ไขมาตรา 305 เพื่อเอื้อให้แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงได้ถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ และให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ในกรณีที่มีความจำเป็น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีความผิดทางอาญา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย จะเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองจากกติกาสากลระหว่างประเทศหลายฉบับ และประเทศไทยเองก็มีเครือข่ายแพทย์อาสา ส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย รวมทั้ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยุติการตั้งครรภ์ครั้งละ 3,000 บาท มาตั้งแต่ปี 2559 และมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การเปิดให้มีบริการทำแท้งที่ปลอดภัยช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยลงได้ อีกทั้งการรณรงค์สาธารณะของกลุ่มทำทาง และภาคีเครือข่ายในเว็บไซต์ change.org ให้ยกเลิกมาตรา 301 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ก็มีผู้ร่วมลงซื่อถึง 37,325 คน แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ทั้งของ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ซึ่งแก้ไขให้ผู้หญิงที่ทำแท้งในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ไม่มีความผิด) และของคณะ ส.ส.พรรคก้าวไกล (ที่เสนอให้บุคคลสามารถทำแท้งในอายุครรภ์ต่ำกว่า 24 สัปดาห์ ไม่มีความผิด) ก็ยังคงไม่ได้ยกเลิกความผิดทางอาญาต่อผู้หญิงที่ทำแท้งอยู่ดี แม้ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เข้าถึงความปลอดภัย และช่วยผู้หญิงแก้ปัญหาได้มากกว่าร่างของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งกำหนดอายุครรภ์ไว้ต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่มีผู้หญิงมากกว่าร้อยละ 20 ที่มายุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์

กลุ่มทำทาง เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่สนับสนุนสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ได้แก่ มูลนิธิมานุษยะ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กลุ่มบูรณาการแรงานสตรี เครือข่ายสลัม 4 ภาค องค์กรกองทุนเพื่อการทำแท้งปลอดภัย (SAAF) เห็นว่า ในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เสียงของผู้หญิงที่ทำแท้ง และเสียงของประชาชนที่สนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง ไม่ได้รับการรับฟัง และให้ความสำคัญอย่างแท้จริง จึงจัดให้มีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ขึ้น เพื่อเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ได้รับฟังเสียงของผู้หญิงที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายทำแท้งนี้โดยตรง และพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการปกป้อง คุ้มครองสิทธิของผู้หญิง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงต้องบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เพราะตราบใดที่ยังมีกฎหมายอาญาที่เอาผิดกับผู้หญิงที่ทำแท้งอยู่ ผู้หญิงก็จะไม่สามารถเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยได้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image