เอ็นจีโอ เผยเบื้องหลัง ‘แรงงานข้ามชาติ’ เชื่อมีขบวนการเอี่ยว แนะปรับขึ้นทะเบียนฟรี ‘วิน-วิน’ ทั้ง 3 ฝ่าย

เอ็นจีโอ เผยเบื้องหลัง ‘แรงงานข้ามชาติ’ เชื่อ มีขบวนการเอี่ยว จี้ รัฐรับผิด แนะ ปรับขึ้นทะเบียนฟรี ‘วิน-วิน’ ทั้ง 3 ฝ่าย

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงกรณีการปราบปรามแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าไทยผิดกฎหมาย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชื่อว่ามีขบวนการนำพาเข้ามา ซึ่งอาจจะมีข้าราชการ หรือตำรวจร่วมด้วย ส่งผลให้ จ.สมุทรสาคร กลายเป็นศูนย์กลางแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 รอบ 2 จึงต้องปราบปรามขบวนการอย่างเข้มงวดนั้น

น.ส.สุธาสินีเปิดเผยว่า จำนวนแรงงานข้ามชาติเฉพาะที่อยู่ใน จ.สมุทรสาคร เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแถลงว่าที่อยู่ในระบบมีประมาณ 260,000 คน และนอกระบบอยู่ที่กว่า 100,000 คน ซึ่งนอกระบบของแรงงานข้ามชาตินั้น ไม่ใช่ว่าเป็นกำลังแรงงานทั้งหมด เพราะยังมีผู้ติดตาม ซึ่งอาจเป็นสามี ภรรยา หรือผู้ที่ทำงานอยู่ แล้วเปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างเป็นผู้ติดตาม, ไปจนถึงบุตร ที่จู่ๆ เกิดมาในประเทศไทย ซึ่งก็ถือเป็นผู้ติดตาม แต่ถูกตีเป็นแรงงานนอกระบบไป

เมื่อถามว่า ส่วนตัวรู้เบื้องลึกเบื้องหลังว่ามีเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ หรือมีผลประโยชน์ตอบแทนจากขบวนการแรงงานข้ามชาติหรือไม่ น.ส.สุธาสินีเผยว่า พูดตามหลักที่เคยสอบเคสแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 รอบแรก และยังไม่เคยเห็นขบวนการเหล่านี้ เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติไม่น่าจะเข้ามาช่วงโควิดรอบ 2 เพราะเท่าที่ติดตามข่าว แรงงานจะมาได้แต่เฉพาะระหว่างชายแดนกับชายแดนที่ติดกัน ซึ่งโดยธรรมชาติของคนที่มาจากอีกประเทศหนึ่ง สู่อีกประเทศหนึ่ง ที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ก็น่าจะมีกระบวนการขนแรงงานข้ามชาติร่วมด้วยอย่างแน่นอน

Advertisement

เมื่อมีคนมาร้อง เขาก็จะบอกว่าเขาติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือ เราก็จะทำการสอบเคสว่าตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน เป็นมาอย่างไร เขาบอกว่ามีนายหน้าพามา ไปทำงานที่ประเทศไทยเพราะงานที่ประเทศไทยมีเยอะ เอกสารอะไรก็ไปทำที่ประเทศไทยได้ เพราะประเทศไทยทำอะไรก็ง่าย รายได้ดี มีงานเยอะแยะ ไปถึงก็มีงานทำเลย แต่ต้องจ่ายเงินมาก่อน เท่านั้น เท่านี้ คือต้องจ่ายค่านายหน้า ซึ่งสูงกว่าที่เข้ามาตามกฎหมาย

“ถ้าหากคนงานข้ามชาติเข้ามาตามเส้นทางที่ถูกกฎหมายของไทย ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท เดิม ค่าวีซ่า 2 ปี เดิม 500 ตอนนี้ไทยขึ้นราคา เป็น 1,900 บาท แต่ก็ยังน้อยกว่าจำนวนเงินที่นายหน้าเรียกเอา และมีค่าใบอนุญาตทำงาน 2 ปี อยู่ที่ 1,900 บาท รวมแล้ว จากเดิมตอนวีซ่ายังไม่ขึ้นราคา อยู่ที่ 2,900 บาท ตามใบเสร็จราชการรัฐไทย แต่ฝั่งพม่าจะมีการประกาศเป็นระเบียบออกมา ถ้าทางจากต่างจังหวัดเขาก็จะมาส่วนกลางที่เมืองย่างกุ้ง เสีย 1,000 จ๊าด และค่าพาสปอร์ต 2,500 จ๊าด ค่าทำสัญญา 6,000 จ๊าด รวมแล้วเป็นเงินไทย อยู่ที่ไม่เกิน 4,000 บาท แต่ถ้ามาด้วยระบบนายหน้า มาแบบช่องทางไม่ปกติ เขาจะต้องเสียเทียบเป็นเงินไทย ไม่น้อยกว่า 20,000-30,000 บาท” น.ส.สุธาสินีกล่าว

อ่านข่าว : ‘วิษณุ’ เผยนายกฯสั่งกวาดล้างคนเอี่ยวแรงงานผิด กม.ทะลัก เชื่อมีข้าราชการ-ตร.ร่วมขบวนการ
ผบ.สส.สั่งเหล่าทัพ-ตร.เข้มป้องกันโควิด ‘โฆษกทัพไทย’ ยัน ยังไม่พบทหารเอี่ยวขบวนการค้ามนุษย์

Advertisement

น.ส.สุธาสินีกล่าวว่า พอมองสถานการณ์บ้านเราออก การมีสินบน การทำอะไรก็ตามที่มีสินบน กระทั่งเรื่องที่ผิด กลายเป็นไม่ผิด เป็นโรคเรื้อรังของประเทศเรามานานแล้ว ซึ่งเราไม่เคยปราบปราม จัดการเรื่องนี้อย่างยาวนานมาก แต่จู่ๆ จะบอกว่า แรงงานลักลอบมาช่วงสถานการณ์โควิด-19 รอบสอง อันนี้ไม่น่าจะใช่ ที่มีความเชื่อเช่นนี้ เพราะว่าประเทศพม่าเองก็มีการล็อกดาวน์ในช่วงนี้ รถส่วนตัวก็ห้ามวิ่งไปไหนมาไหน รถโดยสารก็ห้ามวิ่ง กล่าวคือ ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ถ้าจะไปไหนต้องเดินไป จู่ๆ บอกว่ามีชุมชน ลักลอบเข้ามา ไม่น่าจะเป็นไปได้ ที่น่าจะเป็นไปได้คือ มาระหว่างชายแดนที่ติดกัน และอาจจะมีนายหน้าไปติดต่อ ชักชวนให้มุด ลอดมา ซึ่งก็ถูกจับอยู่ดี ไม่เห็นว่าจะมีครั้งไหนที่เข้ามาแล้วลอดไปทำงานได้ เห็นทุกรายโผล่ออกมาก็ถูกทางฝั่งเราจับอยู่แล้ว ส่วนตัวจึงไม่มีความเชื่อว่า สถานการณ์โควิด รอบ 2 จะมีสาเหตุมาจากแรงงานข้ามชาติ

น.ส.สุธาสินีกล่าวต่อว่า ลำพังมองว่าโควิดไม่เลือกชาติที่จะเข้าสู่ร่างกายคน ความจริงแล้ว ทั้งเราคนไทย คนต่างชาติ เราไม่ได้ถูกตรวจ ไม่ได้คัดกรองตั้งแต่ต้นมากกว่า เราไม่ได้เข้มงวดตั้งแต่โควิดระลอกแรกมากกว่า ซึ่งมันอาจจะบ่มอยู่ในร่างกายของเรา อย่างที่คุณหมอพูดว่า 5-3 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ออกฤทธิ์ต่อร่างกาย เพราะ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติที่อยู่ฝั่งย่างกุ้งมีน้องติดต่อมา บอกว่าให้ระมัดระวังตัวด้วย เพราะโควิดประเทศไทยน่าจะยังมีอยู่เยอะ เนื่องจากคนงานที่ไม่มีงานทำ ตกงาน ไม่มีเงินกิน ไม่มีเงินค่าเช่าบ้านต่างก็กลับประเทศต้นทางไป ซึ่งเขาต้องถูกกักตัว

น.ส.สุธาสินีกล่าวว่า พม่ากักตัวมากกว่าคนไทยด้วยซ้ำ คือ 21 วัน เขาจะพบเจอเชื้อโควิดอยู่ในร่างกายช่วงที่ถูกกักตัว ซึ่งเป็นคนงานที่กลับจากไทย ไปประเทศพม่า กล่าวคือ ประเทศเรามีโรคโควิด แล้วเขายังไม่มีโควิดด้วยซ้ำไป ของพม่าจะได้รับเชื้อจากคนที่กลับจากต่างประเทศมาแพร่ระบาดให้เขาทั้งนั้น ดังนั้น ส่วนตัวจึงไม่มีความเชื่อเช่นนี้ เพราะติดต่อประสานงานกับองค์กรที่อยู่ฝั่งต้นทางเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยมีส่วนรับผิดชอบกรณีนี้โดยตรง เมื่อพบเชื้อในร่างกายของแต่ละคน ก็ต้องทำการรักษา ถ้าจะขจัดเชื้อโรค ก็ต้องกำจัดตรั้งแต่ที่อยู่ในตัวคน และหลังจากนั้น จะล้าง จะฆ่าเชื้อในพื้นที่ ในจังหวัดอย่างไร ก็ว่ากันต่อไป


“ในช่วงที่เขาได้รับผลกระทบ ในช่วงที่ไม่มีใครอยากเป็น รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ แรงงานข้ามชาติต้องได้รับสิทธิในการตรวจรักษา รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานข้ามชาติพึงจะได้รับ เช่น เป็นคนงานในโรงงาน เขาก็ไม่ควรที่จะถูกตัดสิทธิ เพราะไม่ได้มีเจตนาที่อยากหยุดงาน แต่ด้วยโรคที่ขึ้นอยู่กับว่าจะอยู่ในร่างกายของใคร ซึ่งเลือกไม่ได้ ก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ทั้งค่าจ้าง สวัสดิการ การเข้าถึงสิทธิต่างๆ ต้องได้รับการรับผิดชอบ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วย” น.ส.สุธาสินีกล่าว

เมื่อถามถึงกรณี ที่นายกฯเล็งขึ้นทะเบียนต่างด้าวชั่วคราว บัตรสีชมพู เพื่อกันนายจ้างเทคนงานออกนอกพื้นที่

น.ส.สุธาสินีเผยว่า เป็นข้อเสนอของทางองค์กรที่เราทำงานด้านสิทธิแรงงานมาตั้งแต่โควิดรอบแรกแล้ว และวันที่เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) จัดเสวนาเนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี 2563 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ก็ได้แถลงเรื่องนี้ไปว่า เพื่อที่จะให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาคือ ให้เอาคนงานที่อยู่ในประเทศไทยขึ้นมาเข้าระบบ ให้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมดทุกคนให้ได้ พอหลังจากนั้นก็จะไปตอบโจทย์ที่ว่า คนงานก็จะมีงานทำ นายจ้างเอง ธุรกิจ ผู้ประกอบการเอง ก็จะได้มีกำลังแรงงาน เศรษฐกิจของเราก็จะได้จากแรงงานข้ามชาติ เป็นผลผลิตที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ทั้ง 3 ฝ่ายจะไม่มีใครเสียอะไร

อ่านข่าว : ‘บิ๊กตู่’ เล็งขึ้นทะเบียนต่างด้าวชั่วคราวบัตรสีชมพู แก้ปัญหา หวั่นนายจ้างแห่เทนอกพื้นที่

“ไม่ว่าจะแก้ไขปัญหาอะไร ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยธรรม-สิทธิมนุษยชน เป็นหลัก อย่าลืมว่าที่ผ่านมา การแก้ปัญหาโดยนโยบายรัฐ ก็ทำให้คนงานได้รับผลกระทบเช่นกัน มีสิ่งที่ภาครัฐควรจะต้องระวัง คือเมื่อคนงานไปทำเอกสารอะไรก็ตาม ควรที่จะมีล่ามกำลับดูแลให้ดี ใช้กำลังล่ามให้ดี โดยที่เขาไม่ต้องไปหันพึ่งแนวหน้าพาเขาไป และไปเอาเงินค่าหัวคิวในการทำเอกสารต่างๆ ที่แพงมาก ความจริงเราเสนอให้รัฐบาลขึ้นทะเบียนฟรี เพราะอย่างน้อยแรงงานข้ามชาติก็เป็นกำลังหลักในการสร้างเศรษฐกิจให้กับไทย

“คนเหล่านี้ที่ตกหล่น ไม่ใช่คนที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย เขาเป็นคนที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่ตกหล่นในช่วงโควิดรอบแรก ดังนั้น ต้องทำให้คนเหล่านี้ถูกต้องตามกฎหมายให้ได้ โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้วยซ้ำ อีกทั้งต้องกำกับให้ดี เรื่องระบบนายหน้าที่จะสอดแทรกเข้ามาเพื่อที่จะเอาสินบน เอาหัวคิว หรือรวบรวมเอาตัวผลงานไปแซงคิวกับผู้กระทำ ซึ่งความเป็นมา เป็นเช่นนี้มาตลอด นโยบายอะไรของรัฐออกมา คนงานก็จะจ่ายมากกว่าที่รัฐกำหนดไว้ เพราะขบวนการนายหน้าเข้ามาแทรกแซง เก็บเยอะๆ แล้วหอบเงินเป็นปึกไปติดต่อกับภายใน ไม่รู้ว่าตกลงกันเท่าไหร่ ส่วนตัวไม่ทราบ” น.ส.สุธาสินีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image