ประชุมกมธ.ประชามติครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาด “สุรชัย” ยันถกร่าง พ.ร.บ.ฯ จบ ม.ค. เสนอเข้าสภา ก.พ.

ประชุมกมธ.ประชามติครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาด “สุรชัย” ยันถกร่าง พ.ร.บ.ฯ จบ ม.ค. เสนอเข้าสภา ก.พ.

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 มกราคม ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาว่า กมธ.ฯ ยังคงเป้าหมายเดิม ที่จะพิจารณาปรับแก้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ แต่ยังมีผู้แปรญัตติเสนอปรับแก้มามากพอสมควร หากจำเป็นต้องเลื่อน หรือขอขยายเวลา ก็จะดำเนินการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด แต่เบื้องต้นกมธ.ฯ ยังคงเป้าหมายเดิมคือ ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ และจะติดตามการประชุมของกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม รัฐสภา เพื่อพิจารณาไทม์ไลน์ให้คู่ขนานใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 จะต้องมีการดำเนินการออกเสียงประชามติด้วย

ส่วนรายละเอียดที่ ส.ส. และ ส.ว. เสนอให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายประชามตินั้น นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนใหญ่ขอให้มีการออกเสียงประชามติล่วงหน้า และการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร ซึ่งกมธ.ฯ ได้เชิญผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ถึงข้อดี และปัญหา ทั้งการออกเสียงประชามติล่วงหน้า ที่คล้ายกับการเลือกตั้งล่วงหน้า และการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร ที่คล้ายกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร แต่แตกต่างกันในรายละเอียด เพื่อให้กมธ.ฯ สามารถพิจารณาได้อย่างรัดกุมมากขึ้น

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพิจารณาถึงรูปแบบการออกเสียงประชามติแบบใช้บัตร ที่กมธ.เห็นว่า ควรมีการใช้ระบบอิเลกทรอนิกส์มาทดแทน ซึ่งการเขียนกฎหมายมันไม่ยาก แต่เราต้องมองถึงผู้ปฏิบัติเขาด้วย ว่าถ้าเราออกติกาไปแล้ว ความพร้อมทั้งเรื่องงบประมาณ กำลังคน อุปกรณ์ และระบบโปรแกรมสามารถมีความรองรับได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งกมธ.ได้สอบถามความพร้อมของ กกต.แล้ว พบว่ายังมีข้อจำกัดของระบบ จึงมีความเป็นไปได้ที่กมธ.จะปรับแก้ไข เพื่อรองรับสภาพการณ์ในอนาคตไว้ด้วย ส่วนประเด็นต่างๆ ที่มีการแปรญัตติ และยังไม่ได้ข้อสรุป น่าจะมีการลงมติในช่วงปลายเดือนม.ค.นี้ แต่ในระหว่างการพิจารณา ประเด็นใดที่สามารถลงมติได้ ก็จะดำเนินการเรื่อยไป และมั่นใจว่า จะสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ในที่ประชุมใหญ่รัฐสภาได้ ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวันนี้ (14 ม.ค.) เป็นการประชุมนัดแรก หลังหยุดเทศกาลปีใหม่ และต้องงดการประชุมไปเมื่อสัปดาห์ก่อน จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรสโควิด-19 ซึ่งการประชุมในวันนี้ มีมาตรการการป้องกัน โควิด-19 อย่างเข้มงวด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ และจัดเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดก่อนเข้าร่วมประชุม นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนภาชนะชุดอาหารว่าง และเครื่องดื่ม จากพลาสติก เป็นชาม-แก้วกระดาษ ชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อลดการแพร่เชื้อ และสัมผัส รวมถึงยังอนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่เป็นกมธ.เท่านั้น ที่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ โดยงดให้ที่ปรึกษาจากบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุม เพื่อลดความแออัดภายในห้องประชุม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image