หน้า2 : เปิดสาระรายมาตรา ร่างแก้ไขรธน.ฉบับกมธ.

หมายเหตุรายละเอียดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาแล้วเสร็จและคาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาวาระ 2 ในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้.

บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช…

หลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้ (1) แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256) (2) กำหนดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (เพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 256/1 มาตรา 256/2 มาตรา 256/3 มาตรา 256/4 มาตรา 256/5 มาตรา 256/6 มาตรา 256/7 มาตรา 256/4 มาตรา 256/4 มาตรา 256/10 มาตรา 256/11 มาตรา 256/12 มาตรา 256/13 มาตรา 256/14 มาตรา 256/15 มาตรา 256/16 มาตรา 256/17 มาตรา 256/18 และมาตรา 256/19)

เหตุผล

Advertisement

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้ประกาศและมีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่บทบัญญัติหลายมาตรายังไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและบริบทของสังคมในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กระบวนการการได้มาซึ่งองค์กรต่างๆ ในสถาบันทางการเมือง การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในการบริหารประเทศ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความเข้าใจหรือความคิดเห็นไม่ตรงกันที่จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือด้านอื่นๆ เพื่อให้มีการแก้ไขสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ควรที่จะได้มีการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดให้เกิดความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแม่แบบให้การดำเนินการด้านต่างๆ ในการแก้ไขปรับปรุงให้ประเทศมีเสถียรภาพและความมั่นคง รวมทั้งให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างยุ่งยากอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ดังกล่าว สมควรที่จะแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยเหมาะสมและไม่ยุ่งยากดังเช่นบทบัญญัติปัจจุบัน รวมทั้งสมควรที่จะได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทั้งฉบับ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้เปิดโอกาสและสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองจากทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนที่จะมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและร่างรัฐธรรมนูญโดยการรับฟังความคิดเห็นและการออกเสียงประชามติ จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช…”

Advertisement

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 256 ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย

(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

(8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (7) ต่อไป

(9) ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) หรือกระบวนการตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 256/1 ถึงมาตรา 256/19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

มาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

มาตรา 256/2 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา หรือเคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี

มาตรา 256/3 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1

(1) เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 98 (1) (2) (4) (5) (6) (8) (9) (10) (11) (12) (13) (15) (16) (17) หรือ (18)

(2) เป็นข้าราชการการเมือง

(3) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือรัฐมนตรี

มาตรา 256/5 การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1 ในแต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวนสองร้อยคน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคน

จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคนตามวรรคหนึ่ง ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคน

เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละจังหวัดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว ถ้าจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ครบสองร้อยคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตามวรรคสองมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวนสองร้อยคน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

มาตรา 256/6 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1 ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามหมวดนี้

การกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องกำหนดให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการแนะนำตัวผู้สมัครอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ให้ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้หนึ่งคน และจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครผู้ใดหรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 95 และมาตรา 96 มาใช้บังคับกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ทั้งนี้ ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อาจกำหนดให้นำบทบัญญัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม

เมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบตามจำนวนสมาชิกสภาร่างรับธรรมนูญที่พึงมีในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีส่งให้ประธานรัฐสภาภายในห้าวันนับแต่วันที่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศรายชื่อบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในราช
กิจจานุเบกษา

มาตรา 256/10 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง เมื่อ (1) สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดตามมาตรา 256/18 (2) ตาย (3) ลาออก (4) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 256/2 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 256/3

เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากที่ถึงคราวออกตาม (1) ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่มีอยู่ แต่ต้องมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญว่างลง เว้นแต่สภาร่างรัฐธรรมนูญจะเหลือเวลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่ดำเนินการเลือกตั้งก็ได้

มาตรา 256/11 สภาร่างรัฐธรรมนูญมีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาคนหนึ่ง หรือสองคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจดำเนินกิจการของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามหมวดนี้ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจตามที่ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญมอบหมาย และปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญในกรณีที่ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

กรณีประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และไม่มีรองประธาน สภาร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคสอง ให้ที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในคราวนั้น เพื่อดำเนินการประชุมต่อไปได้

มาตรา 256/12 เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 256/13 สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก ซึ่งต้องจัดให้มีขึ้นไม่ช้ากว่าสามสิบวัน นับแต่วันที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1 มีจำนวนไม่น้อยกว่า ร้อยละเก้าสิบของจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด แล้วให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญส่วนที่เหลือโดยเร็ว

การที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง

ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป และประชาชนในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาสาระและความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชนและเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ

ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญแจ้งให้คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือมีข้อเสนอแนะอื่นใดในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ ภายในกำหนดเวลาที่สภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนด

การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหาษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้

กรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรคห้า ให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป

มาตรา 256/14 การพิจารณาและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การประชุม การลงมติ การแต่งตั้งกรรมาธิการและการดำเนินการของกรรมาธิการ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามหมวดนี้ ให้นำข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาใช้บังคับโดยอนุโลม

การแต่งตั้งกรรมาธิการที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้งจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับกรรมาธิการอื่นอาจแต่งตั้งจากบุคคล ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยให้พิจารณาถึงความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการทำหน้าที่และมีจำนวนกรรมาธิการตามความจำเป็น

ให้นำความในมาตรา 120 มาตรา 124 และมาตรา 125 มาใช้บังคับกับการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญและการประชุมของคณะกรรมาธิการโดยอนุโลม

มาตรา 256/15 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา

ให้รัฐสภาพิจารณาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการลงมติ

เมื่อรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคสองเสร็จสิ้นแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามมาตรา 256/16

มาตรา 256/16 ในการออกเสียงประชามติ ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รัฐสภาประชุมเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอเสร็จสิ้นตามมาตรา 256/15 เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนรับทราบเป็นการทั่วไปผ่านช่องทางต่างๆ และให้นำเทคโนโลยีการสื่อสารมาสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเผยแพร่ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสิทธิและความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็นกับร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบของกฎหมาย

เมื่อมีการออกเสียงประชามติเสร็จสิ้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันออกเสียงประชามติ หากคะแนนการออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการตามมาตรา 256/17 ต่อไป แต่หากคะแนนการออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือผู้มีสิทธิออกเสียงมาออกเสียงลงคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป และให้แจ้งผลการออกเสียงประชามติให้ประธานรัฐสภาและประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญทราบโดยเร็ว

มาตรา 256/17 เมื่อผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา 81 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา 256/18 สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) สภาร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

(2) สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 256/13 วรรคหนึ่ง

(3) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญตกไปตามมาตรา 256/13 วรรคหก หรือมาตรา 256/16 วรรคสี่

(4) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

ในกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตาม (2) ให้ดำเนินการจัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามหมวดนี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรา 256/13 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ บุคคลซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิมจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีกไม่ได้

มาตรา 256/19 ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตามหมวดนี้ตกไป คณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องได้เสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ทั้งนี้ บุคคลผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีกมิได้

เมื่อรัฐสภามีมติอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคหนึ่งแล้ว จะมีการเสนอญัตติตามวรรคหนึ่งอีกมิได้ เว้นแต่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่แล้ว

มาตรา 5 ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้ดำเนินการตามมาตรา 256/6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายกรัฐมนตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image