‘ฝ่ายค้าน’ รุมถล่มญัตติยื่นศาลตีความ ‘พิธา’ อัด เหมือนจงใจให้ รธน.ฉบับ คสช.อยู่นิรันดร

‘ฝ่ายค้าน’ รุมถล่มญัตติยื่นศาล รธน.ตีความ ‘สมคิด’ ชี้แก้ รธน.เดินมาไกลแล้ว อย่ายื้อเวลา ขณะที่ ‘พิธา’ อัด เหมือนจงใจให้ รธน.ฉบับ คสช.อยู่นิรันดร หากดื้อดึงเชื่อความขัดแย้งทางการเมืองจะพาไปสู่ทางตัน ขณะที่ ‘พปชร.’ เอาด้วยขอขวางเบรกแก้ รธน. แนะให้คำนึงความรู้สึก ปชช.

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาวาระให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ

เวลา 10.40 น. นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า วันนี้เราดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเสร็จแล้ว แต่กลับต้องพูดว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ ไม่เข้าใจทุกอย่างเวลามีปัญหาหลายเรื่องเราจะโยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตลอด เหตุใดคน 750 คน ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญเสมอ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ

นายสมคิดกล่าวว่า วันนี้ไม่ได้มีการขัดแย้งอะไรเลย เดินตามกติกาทุกเรื่อง เป็นอำนาจของเราแล้วจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญทำไม ทั้งนี้ ไม่อยากเรียกว่ายื้อเวลา แต่มองอย่างอื่นไม่ได้เลย ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะยื้อเวลา ไม่อยากให้โยนภาระนี้ไปให้ใคร ดังนั้น เวลานี้เวลามันเดินหน้าไปแล้ว จึงขอเรียกร้องเพื่อนสมาชิกอย่าส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเลย

Advertisement

อ่านข่าว : สภา ถกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้ไข รธน. ‘ไพบูลย์’ อ้างหากไม่ส่ง หวั่น ส.ว.งดออกเสียงวาระสาม

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่รัฐสภาทำงานมา เราเห็นความพยายามที่จะยื้อเวลาและเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นระยะๆ การพิจารณาญัตติในวันนี้ผู้เสนอญัตติอาจจะอ้างว่าไม่ได้ถ่วงเวลาเพื่อรักษาอำนาจให้ใคร แต่อาจอ้างว่าหวังดีให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเสียตั้งแต่ตอนนี้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาตอนหลัง

นายพิธากล่าวว่า ตนเห็นด้วยว่าสิ่งที่ท่านทำไม่ใช่เป็นการเตะถ่วงเวลา แต่มันเป็นญัตติที่เลวร้ายยิ่งกว่า เพราะนี่คือการหาหนทางตัดทอนอำนาจของรัฐสภาและประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Advertisement

นายพิธากล่าวว่า เป็นความพยายามที่จะแช่แข็งประเทศไทยด้วยการทำให้รัฐธรรมนูญของ คสช.เป็นรัฐธรรมนูญฉบับนิรันดร โดยอ้างว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น เหมือนรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่ตัวเอง

นายพิธากล่าวว่า การตีความว่ารัฐสภาจะมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ได้ก็ต่อเมื่อมีบทบัญญัติกำหนดไว้ตั้งแต่ต้น แต่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ที่ผ่านมามีปัญหามาก เพราะรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างที่เสนอญัตติกล่าวอ้างล้วนเกิดขึ้นจากวงจรรัฐประหารทั้งสิ้น คือทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว และทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อสืบทอดอำนาจ

แฟ้มภาพ

“ถ้าเรายอมรับการตีความแบบนี้ หมายความว่าประเทศไทยจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ด้วยการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้นใช่หรือไม่ นี่คือความหมายที่แท้จริงของการยื่นญัตตินี้

“ปัจจุบันเครือข่ายรัฐประหารสามารถยึดกุมอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้ง และรัฐสภาได้ พื้นที่การเมืองเกือบทั้งหมดอยู่ในมือพวกท่าน แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ยังมีความกังวลว่าจะอยู่ในมือพวกท่านอีก แต่ท่านยังจะใช้สถาบันตุลาการเป็นเครื่องมือเพื่อกินรวบพื้นที่การเมือง

“หากยังดื้อดึง ความขัดแย้งทางการเมืองมีแต่จะพาพวกเราไปสู่ทางตัน ขอเรียกพวกเราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่จะแสดงว่าเป็นผู้มีจิตใจประชาธิปไตย ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติทำได้ในรัฐสภา อย่าทำให้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ต้องทำผ่านการรัฐประหารอีกเลย” นายพิธากล่าว

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า กังวลว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะสร้างความสุ่มเสี่ยงนำไปสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญได้ หากศาลรัฐธรรมนูญตีตกการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะกลายเป็นรัฐสภาเปิดทางให้องค์กรอื่นเข้ามาตัดหน้าขัดขวางการตัดสินใจของประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญ นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงครั้งใหม่ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังยากลำบาก

ขณะที่ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ตนในฐานะสมาชิกพรรคพลังประชารัฐไม่ค่อยสบายใจกับญัตติดังกล่าวเท่าไร ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราเสนอสภานั้นไม่ได้เป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เพราะฉะนั้นจะไปบอกว่าผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ ไปยื่นญัตติเพื่อตีความ ก็มองไม่เห็นว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่ก็เป็นอิสระต่อเพื่อนสมาชิกที่จะยื่น แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่าเพราะตลอดระยะเวลาครึ่งปี’63 ที่ผ่านมา มีการเดินขบวนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ซึ่งทั้งสองสภาก็เห็นชอบเพื่อจะแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง

วีระกร คำประกอบ

นายวีระกรกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ขัดหากเพื่อนสมาชิกจะใช้อิสระในการยื่นตามข้อบังคับของสภาเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ขอให้คำนึงความรู้สึกของประชาชนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญมาโดยประชาชนเพื่อประชาชน

“แม้รัฐธรรมนูญมีสิ่งดีเยอะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความรู้สึกประชาชนคือไม่ได้เกิดขึ้นจากประชาชน แต่ทหารเป็นผู้ร่าง ทำให้ประชาชน นักศึกษาออกมาบอกว่าอยากได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ไม่ใช่ร่างโดย คสช. จึงไม่ควรที่เมื่อแก้ไขแล้วจะมายื่นคัดค้านการแก้ไข

“การยื่นญัตติครั้งนี้ไม่ใช่ ส.ส.พลังประชารัฐ 100 เปอร์เซ็นต์จะเห็นด้วย แต่ตนและเพื่อน ส.ส.อีกไม่น้อยเห็นตรงกันข้าม” นายวีระกรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image