ภท.-คมนาคม แถลงโต้ ปม ‘ที่ดินเขากระโดง-รฟฟ.สายสีส้ม’ ชี้ ศักดิ์สยาม แจงครบถ้วน

ภท.-คมนาคม แถลงโต้ ปม ‘ที่ดินเขากระโดง-รฟฟ.สายสีส้ม’ ชี้ ศักดิ์สยาม แจงครบถ้วน

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ห้อง 203 นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจ ไทย (ภท.), นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงข่าวชี้เเจงกรณีที่ดินเขากระโดง ที่พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายร่วมกันถือครองบุกรุก และพักอาศัยในพื้นที่สมบัติของแผ่นดิน หรือพื้นที่สงวนหวงห้าม ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยรวม ที่รถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์

อ่าน – “ทวี” พาดพิงปู่ชัย ถาม “ศักดิ์สยาม” บ้านเขากระโดง ทำไมถึงออกโฉนดได้-เจ้าตัวลุกโต้

‘ศักดิ์สยาม’ โต้ รฟฟ.สายสีส้ม ทำตาม มติ ครม. ย้อน ‘จิรายุ’ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ อย่าจินตนาการ

แจงปมจัดการที่ดินรถไฟเขากระโดง

นายนิรุฒกล่าวว่า นายศักดิ์สยามได้ชี้แจงในห้องประชุมสภาไปครบถ้วนแล้ว แต่ขอย้ำสองถึงสามประเด็นในเรื่องการบริหารจัดการที่ดินของ รฟท.ที่มีจำนวนมหาศาล แต่สามารถนำมาใช้ทำกินและเป็นเงินเป็นทองได้อยู่ประมาณ 5,000 กว่าไร่ และยังเหลือที่ดินที่มีศักยภาพ และสามารถนำมาทำมาหากินได้อีกเกือบ 50,000 ไร่ หมายความว่า เราต้องการมืออาชีพอย่างแท้จริงที่จะมานำทรัพย์สินนี้มาเป็นประโยชน์ต่อรัฐ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดบริษัทลูกขึ้นมาบริหารสินทรัพย์ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวีระบุว่า เป็นห่วงเรื่องการมีบริษัทลูก ตนขอย้ำว่าบริษัทลูกจัดตั้งขึ้นมาบริหารงานอย่างมืออาชีพ เพื่อบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่มีจำนวนมหาศาลตามที่ รมต. ได้ชี้แจงตัวเลขไว้

Advertisement

ส่วนการบริหารจัดการที่ดินในส่วนที่มีข้อพิพาท ขอเรียนว่าการรถไฟเองเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เราไม่ใช่เอกชนที่อยากจะพิพาทกับใครก็ได้ หรือฟ้องร้องใครก็ได้ และการที่เราเป็นองค์กรของรัฐ การจะนำคดีไปสู่ข้อพิพาท หรือขึ้นสู่ศาลนั้นจะต้องมีเหตุผล มีข้อมูล ที่จำเป็นและหนักแน่น ไม่ใช่จะไปบอกว่าประชาชนถือโฉนดอยู่แล้วไปบอกว่า โฉนดนั้นเป็นของเราแต่ต้องมีขั้นตอน ขอย้ำว่า รฟท.มีขั้นตอนในการดำเนินการและปฏิบัติตามมาตลอดนับ 10 ปี ไม่ใช่เพิ่งจะมาปฏิบัติ และปฏิบัติด้วยความรอบคอบเป็นธรรม และขอย้ำทุกอย่างดำเนินตามกฎหมายครบถ้วน สมบูรณ์ทุกประการ

คมนาคมแจง รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม เผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชวงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และแผนงานคัดเลือกครั้งใหม่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชน ร่วมลงทุนโครงการตามขั้นตอนพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 จนถึงการยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ เพื่อเริ่มการคัดเลือกใหม่ ดังนี้

1) คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ได้เห็นชอบประกาศเชิญชวน และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) ซึ่งรวมถึงเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะโดยพิจารณาซองเทคนิค และซองการลงทุน และผลตอบแทนแยกจากกัน (เกณฑ์การประเมินเดิม) ซึ่ง รฟม.ได้ออกประกาศเชิญชวนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และได้ขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ระหว่างวันที่ 10-24 กรกฎาคม 2563 โดยมีผู้สนใจซื้อซองเอกสาร RFP รวม 10 ราย

Advertisement

2) คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน ได้มีประกาศเรื่องรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP  และสาระสำคัญของร่างสัญญาฯ พ.ศ.2563 โดยใน ข้อ 4(8) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ให้ระบุหลักเกณฑ์ และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้าน ทั้งด้านคุณภาพ และด้านราคา (Price-Performance) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 แจ้งว่าการพิจารณาวิธีประเมินข้อเสนอเป็นหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ

ในการนี้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทบทวนปรับปรุงจากเกณฑ์การประเมินเดิม โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยสูงสุด มาเป็นวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคควบคู่ด้านผลตอบแทน และการลงทุน (เกณฑ์การประเมินใหม่) ดังนี้

กรณีปัญหาและผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ที่ผ่านมาเช่น กรณีน้ำใต้ดินรั่วซึมเข้าสถานีสามยอด ขณะก่อสร้างสถานีใต้ดินสายสีน้ำเงิน ความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนประชาชนโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง โครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศซึ่งล้วนมีปัญหามาจากการออกแบบและเทคนิคก่อสร้างทั้งสิ้น

สายสีส้มส่วนตะวันตก ต้องก่อสร้างลอดผ่านย่านชุมชนหนาแน่น (ห้วยขวาง ประชาสงเคราะห์) ย่านเศรษฐกิจการค้าสำคัญ (ประตูน้ำ เพชรบุรีตัดใหม่) ย่านเมืองเก่า (ถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง โรงละครแห่งชาติลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา รพ.ศิริราช สถานีรถไฟธนบุรี) นอกจากนี้ ยังผ่านพื้นที่ซึ่งมีโบราณสถานและอาคารอนุรักษ์จำนวนมาก ซึ่งหากประสบปัญหาจากเทคนิคก่อสร้างที่ไม่ดีพอจะทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

3) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 รฟม.ได้นำส่งเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ให้เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP ทุกรายแจ้งปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอจากเกณฑ์การประเมินเดิม เป็นเกณฑ์การประเมินใหม่พร้อมทั้งขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอออกไป 45 วัน เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

4) เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP รายหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 และได้ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การประเมินใหม่ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2563 โดยสรุปให้ทุเลาการบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ รฟม. และคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันยื่นคำอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563โดยสรุปขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

5) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นกำหนดวันรับซองเอกสารข้อเสนอ มีเอกชนยื่นซองเอกสารข้อเสนอฯ รวม 2 ราย ทั้งนี้ก่อนถึงกำหนดเปิดซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 รฟม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือถึงเอกชนผู้ยื่นซองเอกสารข้อเสนอทั้ง 2 ราย แจ้งเลื่อนกำหนดเปิดซองเอกสารข้อเสนอจากกำหนดเดิมออกไปก่อน จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นประการใด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่มีคำสั่งใดๆ ในระยะเวลา 1 เดือน คณะกรรมการฯ ได้มอบให้ รฟม. จัดเตรียมแนวทางแก้ไขปัญหาการดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ เสนอให้คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการต่อไป

6) ในการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการฯ และ รฟม.ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ โดยประเมินกรอบระยะเวลาดำเนินการ ผลกระทบ รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย อย่างรอบด้านแล้ว มีความเห็นโดยสรุปว่า จนถึงปัจจุบันระยะเวลาได้ล่วงเลยมามากแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าและขอสรุปทางคดีซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานออกไป ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ จนแล้วเสร็จที่ชัดเจนได้ประกอบกับซองเอกสารข้อเสนอของเอกชน 2 ราย มีอายุ 270 นับจากวันยื่นซองข้อเสนอ หากยังคงรอข้อสรุปทางด้านคดีก่อน แล้วจึงดำเนินการคัดเลือกต่อไป อาจส่งผลให้ซองเอกสารข้อเสนอของเอกชน 2 ราย ดังกล่าว สิ้นอายุลงก่อนที่กระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ จะแล้วเสร็จ ซึ่งอาจนำไปสู่การยกเลิกการคัดเลือก และเริ่มการคัดเลือกเอกชนฯ ใหม่ในภายหลัง จึงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ล้วนส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ

ขณะที่กรณียกเลิกการคัดเลือก และเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนใหม่จะสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนให้แล้วเสร็จได้ภายใน 6-8 เดือน กรอบระยะเวลาดำเนินการมีความชัดเจน จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐสูงสุด ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิก ประกาศเชิญชวนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว โดยมอบให้ รฟม.พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

7) การคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ รฟม.จะเร่งรัดให้เอกชนกระชับขั้นตอนการก่อสร้างและติดตั้งงานระบบไฟฟ้า เพื่อให้เปิดบริการเดินรถโครงการฯ ส่วนตะวันในเดือนตุลาคม 2567 และส่วนตะวันตก ในเดือนเมษายน 2570 ตามแผนงานเดิมได้

8) รฟม.ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามประกาศดังกล่าว โดยติดประกาศ ณ ที่ทำการ รฟม. และเผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ www.mrta.co.th เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานีและสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image