รัฐสภาเสียงแตกวุ่น หาทางออกโหวตวาระสาม ‘เดินหน้า-ล้ม-ชะลอ-ยื่นศาลอีกรอบ’

เปิดประชุมร่วมรัฐสภาถกปมแก้ รธน. หาทางออกโหวตวาระ 3 “สมชาย” เสนอญัตติห้ามลงมติ ขณะที่ “จุรินทร์” ชงส่งศาล รธน.ตีความอีกครั้ง ป้องกันเกิดปัญหาภายหลัง ด้านฝ่ายค้านขอสู้ให้เดินหน้าต่อ เชื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด วอนหยุดปิดกั้นอำนาจ ปชช.

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 17 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธารัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ….(แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) เป็นการพิจารณาเพื่อลงมติในวาระ 3 โดยที่ประชุมรับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ในการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ต้องทำประชามติก่อน ทั้งนี้ ก่อนการพิจารณา นายชวนแจ้งต่อที่ประชุมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ตามที่รัฐสภายื่นคำร้องให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำใหม่ได้ โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติก่อนว่าประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และเมื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

  • “ไพบูลย์-ส.ว.” เปิดฉากจี้ที่ประชุม ถอนร่าง-ห้ามโหวต   

จากนั้น เปิดให้สมาชิกรัฐสภาแสดงความเห็น โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายในฐานะผู้เสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อคำวินิจฉัยออกมาแล้ว แม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากจะแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใม่ ต้องทำประชามติ ถามประชาชนก่อน ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอนั้น ศาลวินิจฉัยว่านอกจากเป็นการร่างใหม่แล้วยังเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 ด้วย ชัดเจนว่าการโหวตวาระ 3 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 5 กระทำไม่ได้ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของสภาก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน ดังนั้น เมื่อรัฐสภาไม่สามารถลงมติวาระ 3 ได้ จะเก็บไว้ก็ไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนเห็นว่าต้องเริ่มต้นโดยรัฐสภาเสนอญัตติ ขอจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อรัฐสภาเห็นชอบ จึงส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อออกเสียงประชามติ หากมีการดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าประชาชนออกเสียงให้จัดทำ รัฐสภาเท่านั้นมีอำนาจทำได้ โดยตั้งคณะกรรมาธิการ ขึ้นมาพิจารณา แต่ไม่สามารถตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาดำเนินการได้

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะผู้ยื่นญัตติ ขอเสนอแก้ไขปัญหาดังกล่าว อภิปรายว่า ความเห็นของฝ่ายกฎหมายของ ส.ส. ส.ว. และคณะกรรมการประสานงานด้านกฎหมายของประธานรัฐสภา มีความเห็นสอดคล้องกันทั้ง 3 ส่วน ว่าไม่สามารถกระทำการลงมติวาระ 3 ได้ เนื่องจากการดำเนินการในกระบวนการและเนื้อหาสำคัญนั้นขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพื่อขอให้พิจารณาเป็นเรื่องด่วนให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาว่าการลงมติของรัฐสภาวาระ 3 ไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากตามมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภามอบอำนาจเด็ดขาดให้ ส.ส.ร.ไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยังไม่มีการทำประชามติก่อนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียก่อน ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องตกไปโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

  • ฝ่ายค้าน ปลุกรัฐสภา อย่าขัดขวางแก้ รธน. เดินหน้าโหวตวาระสาม   

ส่วน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ไม่มีข้อความใดในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุไม่ให้ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 สิ่งที่อ้างมาว่าลงมติวาระ 3 ไม่ได้ เป็นแค่ความเห็นของฝ่ายกฎหมาย ส.ส.และ ส.ว. ถ้าไม่อยากแก้ก็บอกมาตรงๆ ว่า ไม่อยากแก้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ถึงจะตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาก็ไม่ได้หมายความว่า จะแก้ไขทั้งฉบับ เพราะไม่ได้แตะต้องหมวด 1 และ 2 ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ลงวาระ 3 ถ้าเป็นเช่นนี้ รัฐสภาทำอะไรไม่ได้เลย ยืนยันรัฐสภาลงมติวาระ 3 ได้ ต้องเดินหน้าต่อ รัฐสภาจะขายหน้าไปถึงไหน อย่าใช้หลักกฎหมายข้างๆคูๆ คนที่เสนอให้แก้ ทำไมไม่อายบ้าง ขอให้ฝึกอายบ้าง

Advertisement

ด้าน นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เหตุใดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก แต่การฉีกรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหารไม่มีใครคัดค้าน มีผู้ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารปี 2557 นั่งอยู่ในที่นี้หลายร้อยคน และในวันนี้ยังมาขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญอีก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ปราบโกง แต่ขี้โกง เอาเปรียบ ต้องการสืบทอดอำนาจ ควรโหวตวาระ 3 ให้เสร็จ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอให้โหวต อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป ตีความแบบศรีธนญชัย

  • “จุรินทร์” เสนอญัตติยื่นศาลรธน.ตีความอีกรอบ   

จากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เห็นควรให้รัฐสภามีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งในประเด็นต่างๆ เหตุผลทั้งหมดนี้ไม่ได้ประสงค์เตะถ่วงหรือประวิงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจุดยืนของตนและพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นและเกิดขึ้นได้จริง การที่ต้องขอความเห็นชอบเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น เพื่อให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความรอบคอบ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสอดคล้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปราศจากข้อสงสัย ไม่มีปัญหาตามมาภายหลังและเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมและได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นในอนาคตอย่างแท้จริง

  • “ชลน่าน” หวั่น “จุรินทร์” เสนอญัตติซ้อนญัตติ  

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขณะนี้รัฐสภากำลังรับญัตติ 2 ญัตติ โดยญัตติแรกเสนอโดย ส.ว. ที่เสนอขอให้รัฐสภามีมติไม่ให้มีการลงมติวาระ 3 และญัตติจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีการเสนอญัตติซ้อนญัตติ ถ้ามีผู้รับรองจะเป็นญัตติทันทีและจะทำให้ญัตติแรกตกไป ดังนั้น ขอให้ประธานวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน

Advertisement

นายชวนชี้แจงว่า ได้เชิญเจ้าหน้าที่มาหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในที่สุดมีความเห็นว่า เป็นญัตติที่เกี่ยวเนื่องทำนองเดียวกัน และถ้าถามญัตติที่นายสมชาย เสนอมีผล หมายความว่าไม่มีการลงมติ ญัตติของนายจุรินทร์ ก็อาจจะมีปัญหาตกไป หรือถ้าถามญัตติของนายจุรินทร์ก่อน ถ้ารัฐสภาเห็นชอบด้วยก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญต่อไป เรื่องก็จบไปในตอนนี้ แล้วค้างเรื่องนี้ไว้ และไม่แน่ใจว่าจะมีผู้อื่นเสนอญัตติอีกหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ต้องลงมติ

ทำให้ นพ.ชลน่าน อภิปรายอีกครั้งว่า ถ้าประธานจะวินิจฉัยว่าเป็นญัตติที่เกี่ยวเนื่องกัน ก็ต้องลงมติในทำนองเดียวกัน แต่ญัตติที่เสนอเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งญัตติของนายจุรินทร์ที่ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญถ้ามีมติเราก็ส่ง หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ก็ถูกพักค้างไว้ในระเบียบวาระ ขณะเดียวกัน ญัตติของนายสมชาย ถ้ารัฐสภามีมติไม่ลงมติวาระ 3 ทุกอย่างจบ ญัตติที่สองก็ไม่เกิดผล ดังนั้นประธานต้องวินิจฉัยญัตติแรกก่อนว่าตกหรือไม่ตก ถ้าไม่ตก จึงจะเข้าสู่ญัตติที่สองได้ ไม่ใช่ซ้อนกันอย่างนี้ ตนถือว่าญัตติแรกตกแล้ว เพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้น สิ่งที่มีมติวันนี้จะเป็นโมฆะทั้งหมด จึงอยากให้นายจุรินทร์ถอนญัตติออกไป ไม่เช่นนั้นเราทำงานไม่ได้

  • “นิกร” ชงเลื่อนวาระ เคลียร์กม.ให้ชัด แล้วมาโหวต

ขณะที่ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า ขอใหเลื่อนการลงมติวาระ 3 หรือแขวนไว้ออกไปก่อน เพื่อความชัดเจน จากนั้นหาข้อสรุปเชิงข้อกฎหมายให้ชัดเจนว่าสถานะปัจจุบันของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และต้องดำเนินการอย่างไร จึงเห็นด้วยที่จะให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออกไม่ใช่สร้างปัญหา

ส่วน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ขอเสนอญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติไม่ลงมาติวาระ 3 เนื่องจากขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับปรุงถ้อยคำญัตตินายสมชายให้ชัดเจนขึ้น โดยถือเป็นญัตติที่ 3 ที่ถูกเสนอขึ้นมาให้พิจารณา

  • ฝ่ายค้าน ยก 4 นักกฎหมาย เสนอญัตติให้โหวตวาระสามทันที 

ด้าน นพ.ชลน่าน อภิปรายอีกครั้งว่า ขอเสนอญัตติให้รัฐสภาทำหน้าที่ลงมติวาระ 3 ต่อไป ตามมาตรา 256 เพราะเห็นว่า ทำต่อได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุการแก้ไขเพิ่มเติมให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ทำได้ แต่ต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน ซึ่งขั้นตอนทำประชามติ ฝ่ายค้านและนักวิชาการต่างๆ อาทิ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ล้วนมีความเห็นว่า ให้ทำประชามติก่อนการจัดทำรัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม เพราะไม่มีกฎหมายใดรองรับการทำประชามติก่อนยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญระบุการทำประชามติไว้ 2 กรณีคือ กรณีมาตรา 166 ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และมาตรา 256 (8) ให้ทำประชามติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลังวาระ3

“ดังนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องทำประชามติหลังลงมติวาระ 3 เท่านั้น อยากให้เดินหน้าโหวตวาระ 3 เพื่อให้ประชาชนใช้อำนาจตัดสินจะมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ อย่าปิดกั้นอำนาจประชาชน ถ้าไปปิดกั้นอาจเกิดวิกฤตนองเลือด เหมือนปี 2535 อย่าให้บ้านเมืองมีอันเป็นไปเพราะการตัดสินใจของรัฐสภา ไม่มีคำพูดใดบอกว่า สิ่งที่รัฐสภาดำเนินการมาผิด ทางออกดีที่สุดแนวทางเดียวคือ โหวตวาระ 3 และต้องลงมติให้ผ่าน อย่าให้รัฐธรรมนูญแท้งก่อนคลอด วันนี้ใส่สูทดำขอไว้ทุกข์ให้กับการทำแท้งรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 18 มีนาคม เรียกร้องให้แต่งชุดดำเต็มสภา เพราะไม่เห็นด้วยกับการล้มรัฐธรรมนูญ” นพ.ชลน่านกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image