“อนุสรณ์ อุณโณ” เขียนถึงรมว.อุดมศึกษา “อเนจอนาถเอนก”

“อนุสรณ์ อุณโณ” เขียนถึงรมว.อุดมศึกษา “อเนจอนาถเอนก”

กรณี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาให้สัมภาษณ์ ปกป้องคณบดีวิจิตรศิลป์ มช.ทำตามหน้าที่เป็นการกระทำโดยชอบแล้ว และขอให้กำลังใจผู้บริหารทุกระดับของทุกมหาวิทยาลัย ที่ยืนหยัดรักษากฎหมาย กรณีการเก็บงานศิลปะนักศึกษา

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

วันนี้ (27 มี.ค.) รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยา และมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อเขียนเรื่อง “อเนจอนาถเอนก” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว มีรายละเอียดดังนี้

“เอนกจะเป็นคนที่ไม่น่าถูกพูดถึงเลยหากเขาไม่ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงที่มีความสำคัญต่อประเทศในขณะนี้ เพราะกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่เพียงแต่กำกับควบคุมสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นแหล่งฟูมฟักเยาวชนคนหนุ่มสาวที่กำลังเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของประเทศในตอนนี้ หากแต่ยังกำกับควบคุมหน่วยงานที่ผลิตความรู้และให้ทุนการวิจัยที่จำเป็นสำหรับการเผชิญปัญหาและความท้าทายของประเทศ ทัศนะและท่าทีของเขาต่อประเด็นสาธารณะจึงสำคัญ แม้กระทรวงที่เขาดูแลจะไม่มีรถถัง ปืน กฎหมาย หรือศาลในมือก็ตาม

Advertisement

ทว่าตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง เอนกไม่เคยแสดงความเห็นที่เป็นคุณต่อการเผชิญปัญหาหรือความท้าทายของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าพบหลังเข้ารับตำแหน่งเพียงหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้เข้มงวดกับการชุมนุมของนิสิตนักศึกษารวมทั้งกำหนดว่าอาจารย์ควรอบรมสั่งสอนนิสิตนักศึกษาอย่างไร หรือการเตรียมเชิญอธิการบดีและคณบดีของอาจารย์ที่ใช้ตำแหน่งประกันตัวนักศึกษามาทำความเข้าใจว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการกล่าวว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ ยกเว้นประเด็น “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” หากใครไม่พอใจเสรีภาพแบบนี้ก็ไม่ควรอยู่ในมหาวิทยาลัย ส่วนใครที่ละเมิดเสรีภาพแบบนี้ไปแล้วก็ให้เตรียมตัวรับผลที่จะตามมา

เอนกอาจอยู่นอกวงมหาวิทยาลัยนานเกินไปจนลืมไปว่าเสรีภาพในการตั้งคำถามเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และการทำวิจัย และการวิพากษ์วิจารณ์ก็ช่วยให้การเรียนรู้และการวิจัยเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม ลึกซึ้งและรอบด้าน การจำกัดว่าเรื่องใดตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เป็นการปิดโอกาสของการเรียนรู้และการวิจัยตั้งแต่ต้น ยิ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทายที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ก็ยิ่งแล้วใหญ่ เอนกไม่รู้หรือว่าประเทศจะมืดมนขนาดไหนหากคนในสังคมไม่มีโอกาสรู้ว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” สัมพันธ์กับวิกฤตการเมืองตอนนี้อย่างไร ไม่รู้หรือว่าวงการวิจัยจะกีดกันและก่ออันตรายเพียงใดหากแหล่งทุนให้การสนับสนุนเฉพาะหัวข้อที่สรรเสริญเยินยอสถาบันทางสังคมและการเมืองเหล่านี้ ไม่รู้หรือว่ามหาวิทยาลัยจะไม่สามารถผลิต “บัณฑิต” ที่มีคุณภาพหรือฝากความหวังและอนาคตไว้ได้หากพวกเขาปราศจากทักษะในการเรียนรู้และความรู้ที่จำเป็นเหล่านี้

เอนกอาจอยู่ในแวดวงการเมืองแบบเก่านานเกินไปจนไม่เห็นว่าสามารถทำการเมืองในเชิงสร้างสรรค์ได้ และอาจเป็นเพราะเอนกได้ดิบได้ดีจากการร่วมหัวจมท้ายกับกลุ่มการเมือง เช่น กปปส. หลังจากประสบความล้มเหลวมาหลายปี จึงใช้การข่มขู่เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเหมือนเช่นที่ กปปส. เคยกระทำมา แต่เอนกอาจลืมไปว่าการปิดปากผู้เห็นต่างไม่สามารถแก้ปัญหาในสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเสมอกันได้ และเอนกอาจลืมไปว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดที่หนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” ของเขาไม่สามารถใช้ในการทำความเข้าใจและอธิบายได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ความแตกต่างระหว่างวัยมีนัยสำคัญในทางการเมืองมากกว่าความแตกต่างเชิงภูมิศาสตร์ เช่น “เมือง” กับ “ชนบท” ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่สามารถแยกกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

Advertisement

ใจจริงอยากเสนอให้เอนกคิดถึงการเมืองแบบใหม่และกลับไปทำวิจัยหรืออ่านงานวิจัยที่วางอยู่หลักการและวิธีวิทยาที่เป็นมาตรฐาน เพื่อตัวเขาจะได้มีคุณูปการต่อการแก้ปัญหาของประเทศมากกว่านี้ แต่ก็คงเป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ว่าแล้วก็รู้สึกอเนจอนาถใจกับเขาจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image