บิ๊กตู่ ตั้งตัวเองเป็นผอ.ศูนย์แก้โควิดกทม. ยกโมเดลสมุทรสาคร รับมือคลัสเตอร์คลองเตย

‘บิ๊กตู่’ ร่ายยาว 20 นาที ออกมาตรการเยียวยาโควิด ใช้โมเดลสมุทรสาครปรับใช้คลัสเตอร์คลองเตย “ย้ำ”ทำทุกอย่างเพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด ตั้งตัวเองเป็น ผอ.ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สั่งบังเร่งออกมาตรการช่วยเหลือทันที

เมื่อเวลา 15.10 น.วันที่ 5 พฤษภาคม ที่ห้องโถงตึกไทยคู่ห้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) โดยเป็นการแถลงตามสคริปต์ที่เตรียมมา เฉพาะเรื่องของมาตรการและการป้องกัน รวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัส โควิด-19 โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที และไม่มีการตอบประเด็นคำถามในเรื่องการนำเข้ามาของวัคซีนไฟเซอร์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตามที่เราได้รับทราบสถานการณ์ระลอกใหม่โควิด-19 ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง เกิดกลุ่มก้อนต่างๆในหลายจังหวัด ตนในฐานะนายกฯ และผู้อำนวยการศบค. ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ดังต่อไปนี้ เรื่องการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วย ตนได้สั่งการให้มีการจัดระบบบูรณาการเรื่องเตียงและโรงพยาบาลสนามทั้งหมด เพื่อแบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลตามระดับอาการ เป็น 3 กลุ่ม คือ ระดับสีเขียว คือผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย จัดให้เข้าโรงพยาบาลสนาม, ระดับสีเหลือง คือ ผู้ป่วยอาการปานกลาง จัดให้เข้าโรงพยาบาลทั่วไป, ระดับสีแดง คือ ผู้ป่วยอาการรุนแรง จัดให้เข้าโรงพยาบาลเฉพาะทาง โดยให้ปรับรูปแบบการคัดกรองผู้ป่วย ให้ไปคัดกรองที่โรงพยาบาลสนามแทนโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อลดการแออัดที่โรงพยาบาล และรักษาเตียงว่างไว้ให้ผู้ป่วยที่จำเป็น และให้เพิ่มเติมผู้รับโทรศัพท์สายด่วน 1668 / 1669 / และ 1330 ให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยด้วย นอกจากนั้น ตนได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิด เพื่อช่วยแยกตัวผู้ป่วยออกจากชุมชน เพื่อรอส่งไปรักษาตัวต่อไป พร้อมกันนั้น ได้สั่งการให้ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กทม. กระทรวง อว. และ กระทรวงกลาโหม เร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนเตียงทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามให้มากที่สุด

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลการดำเนินการคือ เราสามารถติดต่อ และจัดการให้ผู้ป่วยรอเตียงตกค้างทั้งหมด เข้าสู่ระบบการรักษาตามที่แบ่งไว้ 3 กลุ่ม โดยปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงเกิน 48 ชั่วโมง โดยการจัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อ ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้สามารถแยกตัวผู้ป่วยออกมาจากชุมชนได้ทันที และนับจากวันจัดตั้ง สามารถส่งต่อผู้ป่วยที่รับเข้ามาไปแล้วถึง 96% จากความพยายามในการเพิ่มเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีมากขึ้น ทั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ทำให้เรามีเตียงเพิ่มขึ้นจากช่วงสงกรานต์เกือบ 10,000 เตียง และมีเตียงว่างรวมทั่วประเทศมากกว่า 30,000 เตียง และรัฐบาลกำลังพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมในกรุงเทพที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ วันนี้เราพูดได้ว่า สามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของสายด่วนเพื่อรับตัวผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วยทุกคนเข้ารับการรักษาได้อย่างทันการ และการเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วย ซึ่งต้องขอบคุณทุกหน่วยงาน และทุกคน ทุกองค์กรจิตอาสา ที่ได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันจนสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้

Advertisement
  • ยกความสำเร็จที่สมุทรสาคร ใช้เป็นโมเดล รับมือคลัสเตอร์คลองเตย 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีคลัสเตอร์คลองเตย ตนได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยได้ใช้ประสบการณ์จากการจัดการในจังหวัดสมุทรสาครได้สำเร็จมาปรับใช้ โดยใช้โมเดล “ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา” โดยเน้นไปที่การตรวจเชิงรุก Active Case Finding ที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่มีการติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน โดยหน่วยเคลื่อนที่ และรถเก็บตัวอย่างชีวะนิรภัยพระราชทาน โดยจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน จากนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปทันที นั่นคือการแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ แล้วส่งตัวเข้าสถานพยาบาลแรกรับ เพื่อส่งไปรักษาตัวต่อ ก็จะเป็นการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้วงเล็กที่สุด และในเวลาเดียวกัน ก็จะระดมการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งแนวทางนี้พิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จมาแล้วจากกรณีสมุทรสาคร

“ล่าสุด ผมได้รับรายงานว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้กับพี่น้องชาวชุมชนคลองเตยได้อีกถึง 700 คนต่อวัน” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ได้สั่งการให้รีบแก้ไขปัญหา คือการสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งในขณะนี้ยังมีเพียงพอ แต่เราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ต้องมีการขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อวานนี้ ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจะมีแผนการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในการอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง โดยหลักการที่ผมเน้นย้ำเป็นหัวใจของการจัดการสถานการณ์ทุกอย่างคือต้องทำทุกทางเพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด”

Advertisement
  • ยันมีสต็อก “ยาฟาวิพิราเวียร์” ย้ำแผนฉีดวัคซีน ลั่นเอาชนะสงครามโควิด 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องของยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้ในการรักษา แม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่เราได้มีการสำรองไว้แล้วอย่างเพียงพอ โดยยังมีเหลือในสต็อกหนึ่งล้านห้าแสนเม็ด กระจายไปยังทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ และจะได้รับเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ดในเดือนนี้ จึงไม่ต้องกังวลว่า จะไม่มียาเพียงพอ โดยตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนถึงขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 7 หมื่นคน และรักษาหายกลับบ้านแล้วมากกว่า 4 หมื่นคน ซึ่งเป็นความสามารถของทีมแพทย์ไทย ที่อยู่ในเกณฑ์ระดับโลก เป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนในการรักษาโควิด-19 โดยรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย และในกรณีโรงพยาบาลเอกชน จะได้รับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทุกรายการ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อีกประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือการจัดหาและการฉีดวัคซีน ตนได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นเป็นมาตรการเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายคือ ภายในสิ้นปีนี้ ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 หรือคิดเป็นประชากร 50 ล้านคน โดยต้องใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนตามแผนแล้ว 63 ล้านโดส โดย 61 ล้านโดสนี้ เป็นวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ที่จะผลิตในประเทศไทยและจะเริ่มส่งมอบได้แน่นอนในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเริ่มทำการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง คือผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวได้ทันทีจำนวน 16 ล้านคน นอกจากนั้นในเดือนนี้ เราจะได้รับวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่มจากแผนอีก 3.5 ล้านโดส เพื่อระดมฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้า ผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้มากที่สุด

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังเสนอแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม คือวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 5-20 ล้านโดส วัคซีนสปุตนิก วี วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนซิโนแวค บริษัทละ 5-10 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต โดยเรามีแผนการกระจายและฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ ผ่านระบบหมอพร้อม ที่มีประชาชนมาลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งผ่านทางเครือข่ายโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และเครือข่าย อสม.ทั่วประเทศ

โดยใช้แผนบริการการฉีดวัคซีนตามหลักการสาธารณสุขและการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม จัดลำดับกลุ่มเสี่ยง และพื้นที่เร่งด่วนและพื้นที่เศรษฐกิจ โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มจุดบริการการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อเอาชนะสงครามกับโควิดในครั้งนี้ให้ได้ และเพื่อให้การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและมีโครงสร้างการบริหารงานที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นจะมีศูนย์เพื่อบูรณาการการจัดการทรัพยากรของหน่วยงานต่างๆเพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครอย่างเต็มที่ให้ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างเร่งด่วน

“ผมจึงได้ตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลขึ้นเพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แก้ปัญหาได้อย่างเร่งด่วน โดยผมจะเป็นผู้อำนวยการศูนย์นี้ และมีหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในพื้นที่เป็นกรรมการ และนอกจากนั้น การดำเนินการของศูนย์นี้ ยังจะสามารถเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆต่อไปอีกด้วย นอกจากนั้น เพื่อการจัดการสถานการณ์โควิดในภาพรวมเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น ผมจึงได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขโดยมีรัฐมนตรีว่าการ และช่วยว่าการสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา และมีเลขาสภาความมั่นคงเป็นประธาน และมีหัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุข มหาดไทย และกลาโหม เป็นกรรมการ เพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานฝ่ายปกครอง ในการบูรณาการทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การตรวจคัดกรอง การควบคุมพื้นที่ และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วโดยทั้งสองคณะ และศบค.ทุกชุด จะมีคณะปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 คอยให้คำปรึกษา มีนายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน รวมทั้งมีอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆเป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะตามหลักวิชาการสาธารณสุข และสามารถเชื่อมประสานกับโรงพยาบาลต่างๆได้อย่างดีอีกด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

  • แจงยิบมาตรการเยียวยา เปิดสิ้นเชื้อสู้โควิด 2หมื่นล้าน -ยื้อพักชำระหนี้เงินต้น  

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในอีกมิติหนึ่งของการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด ที่ต้องทำควบคู่กันไป คือมิติด้านเศรษฐกิจ ที่ตนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงกับประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงการเดินหน้าของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทำให้ผมมีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ตั้งคณะกรรมการศบศ. เพื่อพิจารณาความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยได้มีมาตรการออกมาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน และมาตรการทางการเงิน เช่นมาตรการสินเชื่อ พักทรัพย์ พักหนี้ และมาตการทางภาษี การลดภาษี และมาตรการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในการแพร่ระบาดของโควิดในระลอกนี้ ทำให้จำเป็นต้องออกมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ผมจึงได้มีคำสั่งให้กับทางกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ได้ไปพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน โดยสรุปได้เป็นมาตรการดังต่อไปนี้ มาตรการระยะที่ 1 มี 3 มาตรการหลัก ที่สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่ 1.มาตรการด้านการเงิน มีสองมาตรการคือ 1.1 มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก 1.2 มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs โดยให้ ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระ และสามารถนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม

  •  “ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ” อีกรอบ พร้อมเพิ่งวงเงิน 8หมื่นล้าน ใส่ “เราชนะ-ม.33”

2.มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยภาครัฐจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกิจการที่ถูกปิด 3.มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ได้แก่

1.การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท

2.การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน “โครงการ ม.33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการระยะที่ 1 นั้น วันเดียวกันนี้ ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา และไฟฟ้า ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนแล้ว สำหรับการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจะเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งผมได้กำหนดให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าต่อไป

  • วางเฟส 2 อีก 1.4 แสนล้าน เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ -ผุดโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”

นอกจากนี้ ยังจะมีมาตรการต่อเนื่องอื่นๆอีก เช่นการช่วยเหลือลูกหนี้กยศ. โดยการขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนสิ้นปีนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ต้องกักตัวหรือต้องหยุดทำงาน
นอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว ทางรัฐบาลยังได้วางแผนช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ด้วย มาตรการระยะที่ 2 : ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ซึ่งคาดว่า ถ้าเราร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดอย่างเต็มที่ สถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท ได้แก่ 1. มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่

1.1 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13 ล้าน 6 แสนคน 1.2 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2 ล้าน 5 แสนคน

2.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่

2.1. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 : ซึ่งโครงการนี้ทุกท่านคงมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว และเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากได้โดยตรง 2.2. โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” : โครงการนี้จะเป็นโครงการใหม่ ซึ่งโดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • โวอัดเงินสู่ระบบ 4 แสนล้านบาท ลั่น ไม่ท้อแท้ จะไม่หยุดคิดเพื่อประชาชน 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยมาตรการในระยะที่ 2 ทั้งสี่โครงการจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถมีโอกาสในการขายสินค้า และบริการได้มากขึ้น ซึ่งมาตรการในระยะที่ 2 นี้ ครม.ได้รับทราบในหลักการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเพื่อขออนุมัติจาก ครม. ต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ คือการดำเนินการอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและศบค. ในการบริหารจัดการ แก้ปัญหาวิกฤตโควิด ทั้งด้านการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด และการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

“ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศบค. จะไม่มีวันท้อถอยหรือท้อแท้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ และจะไม่หยุดในการคิดและทำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกคนให้ปลอดภัย และให้ประเทศไทยที่รักของเราทุกคน ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรง”นายกรัฐมนตรี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image