เปิดรายงานวิจัยนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เปรียบเทียบการจัดการโควิด “เมืองแทกู”กับ”สมุทรสาคร”

  • รัฐบาลท้องถิ่นเกาหลีใต้เป็นแนวหน้าในการควบคุมการระบาดในท้องถิ่น อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เกิดจากโครงสร้างทางกฎหมายที่เอื้อให้ท้องถิ่นเกาหลีใต้สามารถดำเนินการควบคุมและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว
  • เปรียบเทียบกับการแก้ปัญหาโควิดที่เกิดขึ้นในไทย เน้นแก้ตามคำสั่งรายวัน ขาดมาตรการระยะยาว

จนถึงวันนี้ ( 26 มิถุนายน 2564)  การระบาดของเชื้อโควิด19 ในประเทศไทย ยังคงมีการลุกลามแพร่เชื้ออย่างหนัก และยังไม่มีท่าทีลดลง  เป็นเวลาเกือบสองปีแล้วที่ประเทศไทยและสังคมโลก ต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสที่คร่าชีวิตคนไปแล้วเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างประเมินค่ามิได้

แต่ตลอดเวลาของการระบาดที่ผ่านมา เราได้เห็นศักยภาพการบริหารจัดการในประเทศต่างๆเปรียบเทียบกัน ในแง่หนึ่งก็เพื่อสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาหรือต่อยอดแนวทางการแก้ปัญหาของประเทศเราได้ในอนาคต โดยเฉพาะศักยภาพการแก้ปัญหา การบริหารจัดการระดับหน่วยการปกครอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุม จัดการการระบาด

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการเปิดเผย รายงานการวิจัยของ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มหนึ่ง (ทีมผู้เขียนประกอบด้วย ณัฏฐภรณ์ พิพัฒนาศักดิ์,เบญจรัตน์ เจนประกอบกิจ,ปริญดา เย็นวัฒนา,ปัถยา สมอคร,ป่านนภา พจน์บรรดิษฐ์,อรสินี กาญจนเสถียร) ที่ทำการศึกษา ประเด็น การปกครองส่วนท้องถิ่นประเทศเกาหลีใต้ โดยทำการเปรียบเทียบ เรื่อง การจัดการโควิด-19 ระหว่างเมืองแทกู กับจังหวัดสมุทรสาคร  โดยรายงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการเมืองการปกครองท้องถิ่นและภูมิภาค สอนโดยรศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ภาคการศึกษา 2/2563  มติชนออนไลน์เห็นว่าน่าสนใจ จึงขอนำเนื้อหามานำเสนอ ณ ที่นี้

(คลิกดาวน์โหลดอ่านต้นฉบับ pdf…)

Advertisement

การปกครองส่วนท้องถิ่นประเทศเกาหลีใต้ และการเปรียบเทียบการจัดการโควิด-19       ระหว่างเมืองแทกู กับจังหวัดสมุทรสาคร

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงการเมือง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เรามองเห็นถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลในการ บริหารจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นที่รู้กันดีว่ารัฐบาลกลางนั้นต้องแบกรับหน้าที่ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในการ บริหารจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ในมิติที่แคบลงมานั้น รัฐบาลท้องถิ่นก็มีความสำคัญเช่นกันในฐานะผู้ดูแล ท้องถิ่น ซึ่งมีความเข้าใจท้องถิ่นและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นมากกว่ารัฐบาลกลาง ผู้เขียนจึงต้องการ เปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด คล้ายกัน กล่าวคือ เป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ครั้งใหญ่เหมือนกัน โดยจะเปรียบเทียบ เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ และจังหวัดสมุทรสาคร ประเทศไทย

เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ เป็นพื้นที่ที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งแรกนอกประเทศจีน และเป็นเมืองที่มีการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ในขณะที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว รัฐบาลกลางเกาหลีใต้ได้มีการวางแผนการปฏิบัติงานสำหรับควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไว้อย่าง กว้าง

ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นเกาหลีใต้นั้นได้รับหน้าที่เป็นแนวหน้าในการควบคุมการระบาดในท้องถิ่น อย่างมี ประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานสาธารณสุขเมืองแทกูได้ระดมกำลังในการปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุขใน พื้นที่ พร้อมกับจัดระดับการแทรกแซงจากโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อมใช้งาน เพื่อช่วยใน การบรรเทาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดูแลรักษาผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 และป้องกันบุคลากร ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลท้องถิ่นเมืองแทกูได้ตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยการ จัดการภายใน 4 ขอบเขตหลัก ดังจะกล่าวต่อไปนี้

Advertisement
เมืองแทกู แหล่งระบาด”โควิด-19″ แห่งเกาหลีใต้ ภาพประกอบข่าวจากมติชนออนไลน์ (Photo by – / YONHAP / AFP)

ขอบเขตแรก คือ การปรับปรุงระบบการบริหารงานสาธารณสุข (Innovative public health administration) การจัดการโดยหน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่น เริ่มจากการแก้ไข กฎหมายในปี 2015 ในเรื่อง Infectious Disease Control and Prevention Act (IDCPA) ซึ่งมีการบัญญัติเรื่อง ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งใน IDCPA นั้นได้มอบอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นรับผิดชอบการควบคุมโรคระบาดได้โดยตรงและสั่งการได้ทันที โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลกลาง IDCPA ฉบับดังกล่าว มอบหน้าที่ให้เทศบาลท้องถนจัดผู้สอบสวนการระบาดของโรคไว้อย่างน้อย 2 คน ซึ่งเป็นผลทำให้ในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เทศบาลท้องถิ่นจึงสามารถจัดตั้ง Local Disaster and Safety Management Headquarters ได้ทันที เพื่อสอบสวนการระบาดของโรค

นอกจากนี้ Local Disaster and Safety Management Headquarters ยังสามารถใช้ในการบริหารและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ ที่จำเป็น และรายงานข้อมูลการระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อต่อสาธารณชนอย่างฉับไว นอกจากนี้ยังมีการจัดศูนย์ รักษาผู้ป่วย (Living Treatment Centers) โดยมีการแยกระบบการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการของผู้ป่วย เช่น คนไข้ที่มีอาการไม่รุนแรง จะได้รับการรักษาตัวที่ Living Treatment Centers ที่ถูกจัดขึ้นจากความ ร่วมมือของรัฐบาล องค์การเอกชน และหอพักมหาวิทยาลัย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะรักษาตัวในห้องความ ดันลบที่ได้จัดไว้

ด้วยเหตุนี้ เพื่อแก้ปัญหาเตียงผู้ป่วยขาดแคลน รัฐบาลท้องถิ่นจึงได้สั่งการให้หน่วยงาน สาธารณสุขจัดเตรียมเตียงความดันลบสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 303 เตียง รวมทั้งจัดเตรียมห้องความดันลบ อีก 100 ห้อง เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย และยังนำอุปกรณ์พกพาความดันลบมาใช้เพื่อเปลี่ยนห้อง ในโรงพยาบาลที่มีอยู่ให้เป็นห้องที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจแพร่กระจายจาก ในโรงพยาบาลไปสู่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยท่านอื่นได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการจัดตั้งหน่วยคัดกรองโรคแบบ Drive thru ที่เรียกว่า “One Stop Screening” เป็นการจัดตั้งหน่วยให้บริการในการตรวจหาเชื้อโควิดที่แยก ออกมาจากสถานพยาบาล ซึ่งใช้เวลาในการเก็บตัวอย่างเพียง 30 นาที เพื่อลดการกระจายตัวจากเชื้อโรคทั้งต่อผู้ที่มาใช้บริการและบุคลากรทางการแพทย์

ภาพถ่ายจากมุมสูงเผยให้เห็นอพาร์ทเม้นต์ 2 หลังในเมืองแทกูของเกาหลีใต้ ที่ทางการสั่งปิดเพื่อกักโรค หลังผลตรวจยืนยันว่ามีผู้พักอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นต์ทั้ง 2 หลังนี้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 46 ราย (เอเอฟพี)

นอกจากจะมีการบริหารจัดการระหว่างการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แล้วรัฐบาลท้องถิ่นยังจัดให้มีการปรึกษาหลังจากผู้ป่วยโควิด-19 ฟื้นตัวจากการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วอีกด้วย โดย ศูนย์การแพทย์ Korean Academy of Family Medicine สาขา Daegu-Gyeongbuk ได้พัฒนาโปรแกรมสำหรับ การปรึกษาสุขภาพเพื่อผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายเป็นปกติ โดยมีจุดมุ่งหมายในการจัดการกับปัญหาทางด้านจิตใจ หลังผู้ป่วยต้องประสบผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในโปรแกรมดังกล่าว ประกอบไปด้วยการปรึกษาทางการแพทย์ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพผ่านใบปลิว หรือกระทั่งการจ่ายยาที่จำเป็น ต่อการรักษาในขั้นถัดไป รวมไปถึงการประเมินความพอใจของผู้รับบริการเมื่อสิ้นสุดโปรแกรม

โปรแกรมดังกล่าว เป็นโปรแกรมใหม่ที่พัฒนาโดยแพทย์ สาขา Daegu-Gyeongbuk ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากรัฐบาลท้องถิ่นแทกู และศูนย์การแพทย์แทกู เพื่อเป้าหมายในการจัดการกับปัญหาที่ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องประสบอย่างมี ประสิทธิภาพ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพจิตไม่แพ้กับการดูแล รักษาสุขภาพกายของประชาชน และไม่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลังให้เผชิญกับปัญหาด้วยตนเอง

ในส่วนของ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเผชิญสถานการณ์เดียวกันกับเมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวคือ เป็น พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งใหญ่ในบริเวณตลาดกลางกุ้ง เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครเป็น พื้นที่ที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม การทำประมงและแรงงานต่างชาติ รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสาครจึงได้ จัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการจัดการโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจประมงและ แรงงานต่างชาติ เมื่อมองในขอบเขตเดียวกับการจัดการโควิดของรัฐบาลท้องถิ่นแทกู คือขอบเขตของการ ปรับปรุงระบบการบริหารงานสาธารณสุข (Innovative public health administration) รัฐบาลท้องถิ่น สมุทรสาคร มีการจัดการดังนี้

ในกรณีมีผู้ป่วยในโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการ หน่วยงานสาธารณสุข ในท้องถิ่นจะทำการคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้สถานพยาบาลของเอกชน โดยให้มีการจัดพื้นที่แยกกักผู้ ติดเชื้อภายในหรือภายนอกพื้นที่ของสถานพยาบาลนั้น ๆ โดยต้องผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครกำหนด นอกจากนี้ สำหรับแรงงานต่างชาติที่ประกอบอาชีพประมง รัฐบาลท้องถิ่น ได้กำหนดให้แรงงานต่างชาติจัดทำเอกสารแจ้งเพื่อขออนุญาตทำประมงกับผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนเสียก่อน จึงจะสามารถเข้ามาประกอบอาชีพได้

ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร อีกหนึ่งแหล่งแพร่ระบาดสำคัญ ช่วงปลายปี 2563 – ภาพ มติชนออนไลน์

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดปัญหาอย่างหนึ่งว่า ธุรกิจประมงที่พึ่งพาแรงงานต่างชาติ ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานต่างชาติในจังหวัดต้องใช้ใบผ่านแดน (boarding pass) ในการผ่านเข้ามา ทำงานในประเทศไทย เมื่อเอกสารหมดอายุ ก็ไม่สามารถขออนุญาตต่อใบขออนุญาตในการทำประมงได้ เนื่องจากการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐไทย ทำให้แรงงานหลุดระบบเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งนี้ยังเป็นปัญหาของธุรกิจประมงในท้องถิ่นที่ต้องการการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง

ขอบเขตต่อมา คือ การสนับสนุนและบริหารจัดการเกี่ยวกับการกักตัว (Support and management of Self-Quarantine) ในเมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ รัฐบาลท้องถิ่นมีการจัดหาสถานที่กักตัวที่มีความปลอดภัย เพื่อไม่ให้มีการส่งต่อโรคจากคนที่เดินทางเข้ามาในเกาหลีใต้สู่สมาชิกในครอบครัว หรือมีการแจกจ่ายส่วนลด สำหรับที่พักบางแห่ง รวมถึงจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายบางส่วน ซึ่ง สามารถช่วยในการลดการกระจายความเสี่ยงทางการติดต่อโรค

นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการเช่าสมาร์ทโฟนซึ่ง เป็นสมาร์ทโฟนสำหรับติดตามและติดตั้งแอพพลิเคชัน Self-Quarantine Safety Pretection App และบริการ จัดส่งสิ่งของจำเป็นสำหรับผู้ที่อยู่ในระยะกักตัว เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการเช่าหนังสือ สุดท้ายคือการจัด และแจกจ่ายคำแนะนำเกี่ยวกับ Self-Quarantine และแคมเปญ Social Distancing ฉบับหลายภาษา รวมทั้ง จัดให้มีบริการแปลภาษาสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร มีการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ค่อนข้างไร้ขอบเขต กล่าวคือ ใช้การจัดการแบบวันต่อวัน และไม่มีมาตรการในระยะยาว โดยในกรอบของการสนับสนุนและบริหารจัดการเกี่ยวกับการกักตัว (Support and management of Self-Quarantine) ผู้ว่าราชการจังหวัด สมุทรสาคร ได้ออกคำสั่งให้จัดตั้งสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 3 แห่ง ได้แก่ สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร ตำบลมหาชัย ลานปฏิบัติธรรม วัดโกรกกราก ตำบลโกรกกราก และ วัฒนาแฟคตอรี่ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยให้ใช้สถานที่เหล่านี้เป็น “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร”84 เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการกักตัวของผู้ที่ติดเชื้อ กระนั้น ทางรัฐบาลท้องถิ่นสมุทรสาครก็ ไม่ได้มีการแจกจ่ายส่วนลดค่าที่พัก หรือการเยียวยาโดยการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตต่อ แรงงานในจังหวัด ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางควรหันมาให้ความสำคัญมากกว่านี้

ขอบเขตถัดไป คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local economic recovery) ระหว่างการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โดยในเมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ เสถียรภาพทางการเงินเริ่มสั่นคลอนตั้งแต่แรกเริ่มการระบาดของไวรัสโคโรนา ด้วยการสูญเสีย อาชีพและรายได้ของผู้คนจำนวนมาก จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศเกาหลี ได้ชี้ให้เห็นว่า จากเดือนมีนาคม 2019 ถึงเดือนมีนาคม 2020 การค้าปลีกลดลงถึง 33% คิดเป็นจาก 441.6 พันล้านวอน สู่ 296 พันล้านวอน การ ส่งออกลดลง 11.3% คิดเป็น 6.8 ล้านล้านดอลลาร์ สู่ 6.1 ล้านล้านดอลลาร์ และอัตราการจ้างงานลดลง 7.4%

โรงพยาบาลสนามตลาดกลางกุ้ง และการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนสมุทรสาคร – ภาพมติชนออนไลน์

โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้ออกมาตรการต่าง ๆ มารองรับเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและช่วยเหลือประชาชน ดังนี้ “Nice landlord movement” มีการลดค่าเช่าสำหรับร้านค้ารายย่อยโดยเจ้าของโดยสมัครใจเพื่อเป็นการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเสนอยกเว้นภาษีโรงเรือนและเงินลดหย่อนภาษีให้กับ “Nice Landlords” รวมถึงมีการชดเชยเงินให้กับธุรกิจรายย่อยที่ต้องปิดตัวลงเพราะนโยบาย Social distancing เช่น สถาบันเอกชนต่าง ๆ สถานกีฬาในร่ม ห้องคาราโอเกะ และ PC cafe และมีการสนับสนุน “Non-Contact Tourism” มีการพัฒนาและโปรโมทการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่โดยอิงตามหลัก Social distancing เช่น เลือก เส้นทางขับรถที่ได้รับการแนะนำในการขับรถชมวิวทิวทัศน์เพื่อลดความแออัดทางสังคม ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ข้างต้นได้ช่วยเหลือเศรษฐกิจของเมืองให้กลับมาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ที่เรียกได้ว่าเศรษฐกิจซบเซาเข้าขั้นรุนแรง เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งในการแพร่ระบาดครั้งนี้การติดเชื้อจำนวนมากอยู่ในแรงงาน ต่างด้าว ซึ่งมีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายปะปนกันทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ยาก ส่งผลกระทบต่อภาค ธุรกิจและร้านค้าเล็ก ๆ โดยตรง เช่น ตลาดต้องปิดเป็นระยะเวลานานเพื่อควบคุมการระบาด การปิดพื้นที่ สมุทรสาครส่งผลต่อธุรกิจท่องเที่ยว และโดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกอาหารประมงแปรรูปและแช่แข็งที่ตัวเลข ส่งออกลดลงเหลือเพียง 3.65% ต่ำสุดในรอบ 8 เดือนในปี 2020-2021 แต่ยังไม่มีมาตรการที่ทางรัฐบาลท้องถิ่น สมุทรสาครออกมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน มีก็แต่นโยบายจากรัฐบาลกลางที่พอ เยียวยาประชาชนได้บ้าง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างโครงการคนละครึ่งและไทยชนะ ที่ช่วยเหลือ ประชาชนด้วยการให้เงินเยียวยาและร้านค้ารายย่อย แต่ในส่วนของแรงงานต่างด้าวยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ออกมาทั้งจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมีการออกมาชูมาตรการให้มีการขึ้นทะเบียน แรงงานให้ถูกกฎหมาย งดการยึดเอกสาร โควต้า หรือพาสปอร์ต หรือให้มีการขึ้นทะเบียนโดยไม่ต้องมีนายจ้าง มีการจัดตั้งสถานที่ให้แรงงานต่างด้าวอยู่ มีอาหารของที่จำเป็น และได้ตรวจเชื้อแบบ 100% แต่ยังไม่มีการออก มาตรการนี้อย่างเป็นทางการ จึงทำให้เศรษฐกิจสมุทรสาครจึงยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มร้อย

ขอบเขตสุดท้าย คือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส (Transparent disclosure of information) ระหว่างการแพร่ระบาด การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากทั้งการป้องกัน ตนเอง การรับรู้มาตรการต่าง ๆ จากรัฐบาล เขตพื้นที่เสี่ยงและข้อมูลของเคสล่าสุด ซึ่งทางรัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดให้ มีการการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสอย่างทันท่วงที โดยมีการจัดส่ง SMS ทันทีให้กับผู้ที่อาศัยในบริเวณพื้นที่ที่มี เคสผู้ติดโควิดปรากฎเพื่อให้ทันท่วงทีต่อการลดการกระจายตัวของโรค และนอกจากนั้นยังมีการแสดงข้อมูลต่างๆ ในเว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นแทกู (www.daegu.go.kr) ทั้งนี้เพื่อการลดความกังวลใจของประชาชนและสร้าง ความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมาดังเดิม

เช่นเดียวกับสมุทรสาครที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งข้อมูลเคสติดเชื้อล่าสุด ประกาศและ คำสั่ง ข่าวสารโควิด-19 ล่าสุด มาตรการการเข้าออกของจังหวัด หมายเลขติดต่อร้องเรียนต่าง ๆ ที่จำเป็น รวมไป ถึงการรวมข่าวปลอม (Fake news) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงโดยง่าย ผ่านเว็บไซต์ที่ได้จัดทำโดยเฉพาะ “สมุทรสาครCovid-19 ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก” (http://www.covid.samutsakhon.go.th) แต่การเข้าถึง ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้ เช่น คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและผู้สูงอายุ ดังนั้นข่าวสารต่าง ๆจึง อาจจะไม่สามารถกระจายไปสู่ประชาชนทุกคนในสมุทรสาครได้ ดังนั้นการที่ทางรัฐส่ง SMS เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งหนทางในการลดการแพร่ระบาดของโรคได้ดีขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image