‘ชัยวุฒิ’ ชี้ กม.ปราบเฟคนิวส์ช่วยให้ทำงานเร็วขึ้น ฟันผู้เจตนาไม่หวังดีต่อบ้านเมือง ไม่คิดดิสเครดิตก็ไร้ปัญหา

‘ชัยวุฒิ’ เผย พ.ร.ก. ฉ.29 ออกมาให้ทำงานเร็วขึ้น ฟันคนเจตนาไม่หวังดีต่อบ้านเมือง ไม่คิดลิดรอนสิทธิ ปชช.หรือจำกัดการทำงานสื่อ ชี้ ไม่ดิสเครดิตใครก็ไม่มีปัญหา

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยถึงราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 29 ที่ออกเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า เป้าหมายจริงคือสื่อออนไลน์หรือการใช้อินเตอร์เน็ตในการให้ข้อมูลข่าวสาร หรือทุกเรื่องที่ใช้อินเตอร์เน็ตในการส่งข้อมูลให้ประชาชน

ผู้สื่อข่าวถาม ถึงข้อที่ 1 ในข้อกำหนดฉบับที่ 29 นิยามคำว่า อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว หมายความว่าอย่างไร นายชัยวุฒิกล่าวว่า ดูที่เจตนาเป็นหลัก และผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ตนไม่สามารถยกตัวอย่างชัดเจนได้ แต่จะเป็นการเสนอข่าวที่บางทีเป็นเรื่องจริง แต่เสนอไม่ครบถ้วน จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น เรื่องนี้มีความเห็นหลายอย่างหลายมุม แต่เสนอมุมที่เป็นลบอย่างเดียว มุมบวกไม่ได้เสนอออกมา จึงทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและหวาดกลัว และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ดีอีเอสมีอำนาจในการปิดกั้นเว็บไซต์อยู่แล้ว

นายชัยวุฒิกล่าวว่า สำหรับการโพสต์ที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย แต่กระบวนการใช้ระยะเวลานานต้องรวบรวมพยานหลักฐานส่งไปที่ศาลและใช้คำสั่งศาล ซึ่งบางทีมีการอุทธรณ์ใช้เวลา 7-10 วัน กว่าจะปิดได้ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วกว่าจะส่งเรื่องไปยังผู้ให้บริการ ซึ่งข่าวที่ออกมาทางอินเตอร์เน็ตมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายจึงต้องรีบปิดโดยเร็ว จึงมีมาตรการนี้ออกมาในสถานการณ์ฉุกเฉิน บางครั้งก็ต้องปิดให้เร็ว เพื่อไม่ให้ข้อมูลได้รับการแชร์ออกไปมาก

“เพื่อให้เร็วขึ้น เพราะกระบวนการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใช้เวลานาน ไม่ทันกับการแก้ปัญหา เพราะอินเตอร์เน็ตพอออกข้อมูลไปชั่วโมง 2 ชั่วโมงก็แชร์กันหมดแล้ว ฉะนั้น จึงต้องไวในการปิดกั้น” นายชัยวุฒิ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า การปิดกั้นใช้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 29 ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านศาลใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ใช่ รวบรวมพยานหลักฐานและใช้อำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการสื่อสารอยู่แล้ว ซึ่งมีอำนาจตาม กสทช.อยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำนิยามคำว่า อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว กรอบอยู่ที่ใด หรือเป็นเพียงดุลพินิจ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ดูที่เจตนา ตนก็ไม่อยากพูด เพราะกฎหมายฉบับนี้บางเรื่องเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อาจจะไม่เหมาะสมที่จะพูดออกสื่อ คิดว่าถ้าสื่อมวลชนหรือประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าวันนี้บ้านเมืองมีการใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ผิดเยอะ และก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้ประชาชนเสียหาย จึงอยากบังคับใช้กฎหมายกับคนไม่ดี คนที่มีเจตนาไม่หวังดีต่อบ้านเมือง ไม่ได้คิดจะลิดรอนสิทธิประชาชน หรือจำกัดการทำงานของสื่อ ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก ถ้าสื่อมวลชนจะส่งตัวแทนมาคุยกับตนก็ได้ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจหารือกับสื่อว่าโอเคหรือไม่

เมื่อถามถึงกรณีดารา call out ระบุ รัฐบาลขาดประสิทธิภาพ ให้นายกรัฐมนตรีออก อย่างนี้ เข้าข่ายตามข้อกำหนดฉบับนี้หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ต้องดูที่เนื้อหาสาระทั้งหมด ถ้าพูดประโยคแค่นี้มันก็อยู่ที่ว่าเดือดร้อนอะไร และความไม่สบายใจอะไร ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่เขาเดือดร้อนจริงๆ ก็ไม่น่าจะมีความผิด แต่ถ้ามีการบิดเบือน เอาเรื่องที่ไม่จริงเป็นความเห็นที่ไม่ครบถ้วนมีแต่มุมลบ มุมที่บวกไม่เอามาพูดก็จะเกิดความเสียหาย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากยกตัวอย่างโพสต์ของกระแต อาร์สยาม หรือคลิปของ เอกชัย ศรีวิชัย, นุ้ย เชิญยิ้ม เข้าข่ายตามข้อกำหนดฉบับนี้หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่น่าเข้า แต่ตนไม่ทราบ เพราะยังไม่เห็นมีใครดำเนินคดี

เมื่อถามว่า อย่างกรณีประชาชนเห็นเหตุการณ์มีคนนอนป่วยอยู่ริมถนน และถ่ายภาพโพสต์ลงอินเตอร์เน็ต อย่างนี้ผิดหรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้คิดจะดิสเครดิตใครก็ไม่มีปัญหา แต่บางเคสก็เป็นการแกล้งถ่ายและเอามาโพสต์ก็มี ต้องดูที่เจตนา หลักกฎหมายต้องดูที่เจตนาก่อนอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า หากนายชัยวุฒิระบุว่าให้ดูที่เจตนา แต่ถ้าเป็นเรื่องจริง และทำให้คนเข้าใจผิดก็ผิดเหมือนกัน ถ้าถ่ายคลิปคนเสียชีวิตข้างถนนและโพสต์เป็นเรื่องจริง ไม่ได้จัดฉาก อย่างนี้ผิดหรือไม่ และเข้าข่ายทำให้ประชาชนกลัวหรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ตอบยาก เท่าที่ติดตามภาพที่มีคนเสียชีวิตข้างถนนที่มีออกมาเรื่อยๆ พยายามดิสเครดิตรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินคดีในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจได้ดีกว่า

นายชัยวุฒิกล่าวว่า กรณีมีความเห็นนักวิชาการบางคนที่พูดเกี่ยวกับยาหรือวัคซีนที่ทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้คนไม่กล้ามาฉีด หรือตื่นตระหนก แต่เป็นความเห็นของนักวิจารณ์เพียงหนึ่งคน แล้วเอามาออกข่าว ซึ่งเป็นความจริง เป็นความเห็นของเขา แต่มีนักวิชาการคนอื่นมีข้อมูลอื่นอีกเยอะที่สามารถหักล้างได้แล้วไม่เอามาพูด อย่างนี้ดูเจตนาแล้วคือต้องการจะดิสเครดิตเรื่องนี้ เพื่อหวังผลทางการเมือง หรือคำว่ามีการใช้แพร่หลายที่ประเทศอื่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังรับรองยังใช้กันอยู่ เป็นผลสำเร็จในประเทศจีน คือต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจไม่เกิดความเข้าใจผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ใครจะเป็นคนตัดสินตามข้อกำหนดของกฎหมายฉบับนี้ว่าใครผิดไม่ผิด นายชัยวุฒิกล่าวว่า โดยหลักการจะเป็นเจ้าหน้าที่ของดีอีเอสที่ดูเรื่องข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตอยู่ และทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กสทช.มีอำนาจตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องในการตัดสินตามกฎหมายฉบับนี้แล้วใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า คณะทำงานลักษณะนี้มีการพูดคุยกันอยู่ตลอด อย่างตนใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในการปิดกั้นเว็บไซต์โพสต์ที่ไม่เหมาะสม ทำอยู่ตลอดตามอำนาจ เพียงแต่วันนี้มีประกาศนี้ก็ทำให้กระบวนการเร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ บทลงโทษเป็นอย่างไร นายชัยวุฒิกล่าวว่า ไม่แน่ใจของทาง กสทช. แต่ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีจำคุก 5 ปี และปรับ 1 แสนบาท

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกำหนดที่ 2 ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ ในกรณีให้ระงับการใช้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี ทำได้ไม่มีข้อจำกัดไม่ต้องผ่านศาลใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ตามกฎหมายมีอำนาจ แต่ตามเหตุการณ์ต่างๆ ยังไม่ถึงจุดนั้น คงต้องมานั่งชั่งน้ำหนักเป็นเคสไป เพียงแต่ต้องเตรียมอำนาจไว้ก่อนให้พร้อม ตอนนี้สถานการณ์ฉุกเฉินเข้าสู่ภาวะสงครามและจะรบกับโควิด ก็ต้องเตรียมอำนาจไว้ให้พร้อมใช้ ไม่ใช้ว่ากันอีกที ซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้ก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะรบกับโควิด-19 หรือประชาชน หรือสื่อ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ทุกรัฐบาลไม่มีใครอยากทะเลาะกับสื่อ เพราะเป้าหมายจริงๆ เราไม่ใช่สื่อมวลชน อย่างรายการทีวี วิทยุ สื่อปกติไม่ใช่ปัญหา ถ้าดูจะเห็นว่าเน้นคำว่าอินเตอร์เน็ต คือสื่อออนไลน์ สื่อเทียม หรือคนที่ไม่ใช่สื่อทำตัวเสมือนสื่อ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีจรรยาบรรณ ไม่มีมาตรฐาน มีเจตนาแอบแฝงทางการเมืองทางธุรกิจด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราต้องเข้าไปกำกับดูแล สื่อปกติที่มีจริยธรรมทำงานมาตรฐาน ไม่มีใครไปยุ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามแก้ไขปัญหาเฟคนิวส์ ซึ่งหลังการประชุมนายชัยวุฒิระบุจะมีมาตรการทางภาษีกับพวกปั่นข่าวเฟคนิวส์ หมายความว่าจะเก็บภาษีย้อนหลังพวกที่เราเชื่อว่าปล่อยข่าวเฟคนิวส์ใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการใช้สื่อออนไลน์ ใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งมาตรการที่กำกับดูแลก็จะมีมาตรการการปกครอง มาตรการภาษี เป็นต้น และวันนี้มีปัญหาเรื่องภาษีอยู่แล้ว เพราะพวกแพลตฟอร์มที่จดทะเบียนอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้เสียภาษีในเมืองไทยจึงใช้เรื่องนี้เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image