‘6 องค์กรสื่อ’ ร้องรัฐบาล ทบทวนข้อกำหนดคุมสื่อ ‘อนุชา’ แจงใช้อุดช่องว่าง กม. สกัดเฟคนิวส์เพื่อ ปชช.

‘6 องค์กรสื่อ’ ร้องรัฐบาล ทบทวนข้อกำหนดคุมสื่อ ด้าน ‘อนุชา’ แจง ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อุดช่องว่าง กม. สกัดข่าวปลอมเพื่อ ปชช. ยึด นโยบายนายกฯ บังคับใช้อย่างเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับหนังสือ จาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากองค์กรวิชาชีพมีข้อห่วงใยและความวิตกกังวล ในการที่ภาครัฐได้มีการออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27 และข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรสื่อฯได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะข้อกำหนดฉบับที่ 29 ได้มีการปรับเนื้อหา

นายชวรงค์กล่าวว่า องค์การสื่อฯมองว่าหน่วยบังคับใช้กฎหมายอาจใช้เป็นโอกาสตีความเจตนารมณ์นำไปสู่การปิดกั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือการแสดงความเห็นของประชาชน จึงตัดสินใจยื่นหนังสือกราบเรียนนายกฯถึงข้อห่วงใยนี้ ที่ผ่านมาองค์การสื่อได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอดทั้งกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รวมทั้ง ศปก. ศบค. อย่างใกล้ชิด ผ่านช่องทางไลน์อยู่แล้ว ขอยืนยันผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นด้วยกับรัฐบาล ที่สกัดกั้นข่าวปลอมไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง

นายอนุชากล่าวว่า ตนขอบคุณและยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารที่ดีที่สุด ในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันในวันนี้ และจะสื่อสารไปยังนายกรัฐมนตรีด้วย

Advertisement

นายอนุชากล่าวว่า ยืนยันว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ที่ออกมาเป็นเพียงการปิดช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันที่มีข้อจำกัดในการบังคับใช้ เช่น จำเป็นต้องมีผู้ฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลมีเจตนารมณ์เพียงยกระดับการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดกั้นการเผยแพร่ข่าวปลอม รวมทั้งการกระทำที่เป็นการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารด้วยความตั้งใจ ซึ่งไม่ได้เจาะจง หรือตั้งใจบังคับใช้กับสื่อมวลชนวิชาชีพ แต่เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่ามีการสื่อสารสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้นำมาจากข้อเท็จจริง ซึ่งไม่สามารถควบคุมและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังคม ประชาชนเกิดความหวาดระแวงหรือความหวาดกลัว โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ในขณะนี้ ซึ่งหลายประเทศก็พบปัญหาการเผยแพร่ข้อความเท็จ/ข่าวปลอม จำนวนมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีให้นโยบายแก่หน่วยที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องระมัดระวัง เป็นธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์

นายอนุชากล่าวว่า ยืนยันว่านายกฯและรัฐบาลไม่มีเจตนาปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนวิชาชีพ พร้อมเชิญชวนสื่อมวลชนและองค์การสื่อวิชาชีพ ร่วมกับภาครัฐในการแสวงหาพื้นที่กลาง (Common Ground) เพื่อร่วมกันออกแบบกรอบการทำงาน และเป็นช่องทางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐและสื่อมวลชน รวมทั้งยังได้เพิ่มเติมให้มีการใช้ช่องทางโฆษกกระทรวง ซึ่งมีภาระหน้าที่สื่อสารให้ข้อมูล อำนวยความสะดวกเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดต่อประสานข้อมูล

Advertisement

“วันนี้สื่อมวลชนและรัฐบาลเห็นพ้องร่วมกัน มีความจำเป็นต้องสกัดกั้นข่าวปลอม เพราะข้อมูลที่ถูกต้องคือประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง” นายอนุชากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายชวรงค์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 29 เป็นการยืนยันว่าไม่ใช่ความผิดพลาดทางเอกสาร แต่เป็นความตั้งใจของรัฐที่ทำให้สื่อมวลชนเกิดความกังวล และจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์เฟสบุ๊กให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ข้อกำหนดนี้อย่างจริงจัง เป็นประเด็นที่ทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมมือกับรัฐบาลได้อย่างเคยทำมา แม้โฆษกรัฐบาลจะยืนยันว่านายกฯไม่มีเจตนาจะใช้ข้อกำหนดนี้กับสื่อมวลชนอาชีพ แต่ส่วนตัวมองว่ากระทบโดยตรงสร้างผลกระทบกับสื่อมวลชน การการยื่นหนังสือวันนี้จึงขอให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ 29 ทันที

นายชวรงค์กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีเพิกเฉย จะมีการเพิ่มมาตรการกดดันให้รัฐบาลเพื่อเข้าใจว่าไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง มีทั้งมาตรการกฎหมาย และมาตรการทางสังคม เช่น วันนี้ 13.30 น. 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ใช้อำนาจหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลในเรื่องนี้

นายชวรงค์กล่าวอีกว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ 29 นั้นขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 คือ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน และมาตรา 35 คือ บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ ในเรื่องการใช้ช่องทางทางกฎหมายนั้น กำลังพิจารณาอยู่ ต้องยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าข้อกำหนดนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

“การประสานงานกับรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น ส่งข่าวสารติดต่อขอข้อมูล หรือการสัมภาษณ์ ณ ตอนนี้ไม่มีแล้ว หากไม่ยกเลิก ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ 29 ถือเป็นการลิดลอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน” นายชวรงค์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image