‘ปกรณ์วุฒิ’ ซัด ‘ชัยวุฒิ’ ออกกฎหมายปิดปาก ปชช. ท้าเอาผิด ‘อนุทิน’ ปมวัคซีนเต็มแขน

‘ปกรณ์วุฒิ’ ซัด ‘ชัยวุฒิ’ ออกกฎหมายปิดปาก ปชช. แทนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดรับยุคนิวนอร์มอล ชี้ต้องเอามาให้สภาพิจารณา ท้าเอาผิด ‘อนุทิน’ หลังวัคซีนยังไม่เต็มแขน หวั่นทำต่างชาติไม่มาลงทุน ลั่นเอาอดีตของพวกท่านกลับคืนไป คืนอนาคตให้พวกเขา

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในสภา เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4

เวลา 14.30 น. นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่า ในช่วงที่เราประสบวิกฤตโควิด-19 หรือในยุคที่เรียกว่านิวนอร์มอล ทุกคนต่างใช้เทคโนโลยีช่วงเวลาที่ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ ในวิกฤตนี้คือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกยุคใหม่ และเทคโนโลยีดิจิทัลก็เป็นโอกาสที่จะพลิกฟื้นประเทศให้กลับคืนมา หรืออย่างน้อยที่สุดเราก็น่าจะได้เห็นผลงานของกระทรวงดิจิทัลฯที่นำเทคโนโลยีมาช่วยในการควบคุมโรค หรืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนบ้าง

นายปกรณ์วุฒิอภิปรายว่า เรามีแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ที่พังเละเทะไม่เป็นท่า แต่เรามีแพลตฟอร์ม “หมอชนะ” ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่รัฐกลับไปดึงมาจากภาคประชาสังคมนำมาปรับเปลี่ยนง่อยเปลี้ยเสียขาใช้การไม่ได้ ตั้งแต่นายชัยวุฒิเข้ามาเราเคยเห็นการปรับปรุงเรื่องนี้บ้างหรือไม่ กรณีแพลตฟอร์มจองวัคซีนหมอพร้อมที่โปรโมตใหญ่โต แต่หลังจากที่นายชัยวุฒิเข้ามารับตำแหน่งไม่นาน ในเดือนพฤษภาคม หมอพร้อมประกาศยกเลิกลงทะเบียน หลังจากนั้นก็ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด ทั้งโครงการ “ไทยร่วมใจ” ลงทะเบียนผ่านค่ายมือถือ อาการหนักที่สุดคือแยกให้แต่ละจังหวัดมีแพลตฟอร์มของตนเอง แม้กระทั่งจังหวัดระนองที่มีประชากรน้อยที่สุดแค่ 2 แสนคน ยังต้องแยกแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง

นายปกรณ์วุฒิอภิปรายต่อว่า ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่กระทรวงดิจิทัลฯควรทำ แต่ไม่ใช่ภารกิจที่นายชัยวุฒิได้รับมอบหมายมา เพราะภารกิจเดียวที่ได้รับมอบหมายมาคือภารกิจควบคุมความคิดประชาชน เพื่อรักษาอำนาจของระบอบปรสิตด้วยการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ผูกขาดความจริง และพยายามสอดแนมประชาชน โดยใช้คำว่า “มั่นคง” เป็นข้ออ้าง และใช้ปัญหาข่าวปลอมมาบังหน้า

Advertisement

“เมื่อปี 2562 กระทรวงจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แต่ความจริงแล้วกลับนำงบประมาณมาใช้เพื่อความมั่นคงของตนเอง เพราะฉากหลังมีแต่การกำจัดคนเห็นต่าง ปิดปากประชาชนด้วยคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งคนแจ้งความคือกระทรวงดีอีเอสเอง ซึ่งวิธีแก้ปัญหาข่าวปลอมคือการปราบปราม ดำเนินคดี ข่มขู่ จนประชาชนตั้งคำถามว่ากระทรวงกำลังปราบปรามข่าวปลอม หรือปราบปรามสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นอาชญากรรมทางความคิดกันแน่” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

นายปกรณ์วุฒิอภิปรายอีกว่า เมื่อนายชัยวุฒิเข้ามารับตำแหน่ง ผลงานแรกคือการสั่งจับตากลุ่มย้ายประเทศ นอกจากนั้นยังแต่งตั้งอนุกรรมการ 3 ชุด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ที่มีอำนาจหน้าที่ปรับปรุงพิจารณากฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.คอมพ์ ศึกษาดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายต่อโซเชียลมีเดียเพื่อความมั่นคง ความสงบและศีลธรรมอันดี โดยเฉพาะอนุกรรมการชุดที่ 3 มีหน้าที่ในเรื่องการปราบปราม บังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการเกี่ยวกับคดีความที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพ์

“เห็นด้วยว่าข่าวปลอมต้องดำเนินการแก้ไข แต่การปราบปราม ดำเนินคดีไล่ฟ้องไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา ในยุโรปใช้หลักวิธีกำกับดูแลตนเองและเฝ้าระวังการซื้อโฆษณาในโซเชียลมีเดีย ความโปร่งใสในการโฆษณาทางการเมือง สร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค ส่งเสริมให้มีหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระ ไม่มีแม้แต่ข้อเดียวที่บอกให้รัฐบาลออกกฎหมายมาปิดปากประชาชน และเมื่อเดือนกรกฏาคมนายชัยวุฒิก็เปิดหน้ามาว่าต้องการปิดปากประชาชนจริงๆ ด้วยการสั่งเอาผิดคนโพสต์ข้อมูลเท็จ 147 ราย เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุม” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

นายปกรณ์วุฒิกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังขู่คนมีชื่อเสียง ดาราที่ออกมาคอลเอาต์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซึ่งหลังจากนั้นรัฐบาลก็ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ที่ไม่ได้เอาผิดแค่ข้อความเท็จ แต่ระบุว่าทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไม่แน่ใจว่าประชาชนหรือรัฐบาลกันแน่ที่เกิดความหวาดกลัว ทั้งนี้ ตอนที่นายชัยวุฒิไปออกรายการกับสื่อหนึ่ง ท่านบอกว่าเราจะต้องพูดโดยไม่สร้างความตกใจและสับสนให้ประชาชน ไม่พูดให้เกิดความเสียหาย หากสิ่งที่ท่านพูดคือความจริง ตนขอหาคดีมาให้ท่านฟ้อง

นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า คดีแรก วันที่ 31 พฤษภาคม กทม.ออกมาประกาศเปิดร้านนวด สถานเสริมความงามในวันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป แต่ตอนเย็นวันเดียวกัน ศบค.ออกมาชะลอคำสั่งไม่อนุญาตให้เปิด สิ่งนี้สร้างความสับสนหรือไม่ ให้ท่านเลือกว่าระหว่างหัวหน้า ศบค.กับผู้ว่าฯกทม. ท่านจะแจ้งความใคร อีกคดีหนึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยพูดว่าในเดือนกรกฏาคม วัคซีนจะเต็มแขน และ ศบค.ยืนยันว่าเดือนกุมภาพันธ์เราจะได้วัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส แต่สุดท้ายเมื่อวัคซีนไม่มา นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าไม่ได้ระบุวันชัดเจน สร้างความสับสนหรือไม่ และผลงานล่าสุดของนายชัยวุฒิคือการบล็อกเว็บไซต์ที่ชื่อ Prayut.click ความมั่นคงของประเทศบอบบางได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ

นายปกรณ์วุฒิอภิปรายต่อว่า ความพยายามล่าสุดของนายชัยวุฒิที่ถือว่าเลวร้ายที่สุดคือการบิดเบือนกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนเพื่อทำให้ประเทศนี้อยู่ภายใต้ระบอบปรสิตอย่างเบ็ดเสร็จ คือการเขียนกฎหมายให้อำนาจตัวเอง ในการสอดแนมการใช้อินเตอร์เน็ตของประชาชน โดยในวันที่ 13 สิงหาคม ราชกิจจามีการเผยแพร่ประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นประกาศที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นการระบุรายการของข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ผู้ประกอบการต่างๆ จำเป็นจะต้องเก็บ เพื่อให้รัฐเรียกข้อมูลได้เมื่อจำเป็น ซึ่งถ้าร้านเหล่านี้หาเครื่องมือที่เก็บข้อมูลไม่ได้ ขั้นต่ำก็ระบุว่าต้องติดกล้องวงจรปิด

นายปกรณ์วุฒิอภิปรายว่า สรุปคือกำลังนิยามภาพในกล้องวงจรปิดว่าเป็นข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์กันแล้วใช่หรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพิ่งถูกเลื่อนบังคับใช้ออกไปอีกครั้ง โดยนายชัยวุฒิอ้างว่าการบังคับใช้จะเป็นภาระต่อผู้ประกอบการ ตอนที่จะคุ้มครองผู้บริโภคหรือประชาชน บอกว่าไม่อยากเพิ่มภาระผู้ประกอบการ แต่พอเป็น พ.ร.บ.คอมพ์ ที่จะเพิ่มอำนาจตัวเอง กลับประกาศโดยที่ไม่ได้สนใจภาระผู้ประกอบการแต่อย่างใด

นายปกรณ์วุฒิอภิปรายต่อว่า ที่สำคัญคือประกาศฉบับนี้นิยามขอบเขตของคำว่าข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เพิ่มเติมจากประกาศเดิมเมื่อปี 2550 ซึ่งเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ไม่ว่าจะมีการเพิ่มประเภทผู้ให้บริการที่เป็นแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งชัดเจนว่ากำลังพุ่งเป้าไปที่โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะเทเลแกรมและคลับเฮาส์ และทุกวันนี้ก็ส่งสันติบาลไปแอบฟังตามห้องอยู่ตลอด ยิ่งกว่านั้นยังออกประกาศบังคับใช้ให้เก็บข้อมูลเพื่อให้ส่งให้รัฐบาลอีกด้วย รวมถึงยังบังคับให้เก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลของผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นเพียงข้อมูลคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าถูกนำไปใช้ผิดวิธีจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ซึ่งตามประกาศนี้จะทำให้รัฐล้วงข้อมูลได้ทั้งหมด วิเคราะห์พฤติกรรมของทุกคนได้หมด โดยมีการระบุตัวตน

“การเก็บข้อมูลก็เรื่องหนึ่ง แต่อำนาจในการเรียกข้อมูลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่คือความงามไส้ที่สุดของประกาศนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งร่างและแก้ไขโดย สนช.ที่มาจากการยึดอำนาจทั้ง 2 ยุค ซึ่งมีปัญหาเรื่องการนิยามการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ และให้อำนาจรัฐจนเกินขอบเขตอยู่แล้ว เพราะในมาตรา 18 ประกอบ มาตรา 19 ได้แบ่งประเภทข้อมูลคอมพิวเตอร์ไว้ 8 วงเล็บ และได้ยกเว้นว่า ข้อมูลใน (1) (2) (3) ไม่ต้องขอหมายศาล เจ้าหน้าที่มีอำนาจขอได้ทันที และให้ผู้ประกอบการส่งมอบภายใน 7 วัน

“ตอนที่ร่างไว้มีการให้เหตุผลว่าข้อมูล 3 วงเล็บนี้ไม่ใช่ข้อมูลที่อ่อนไหว หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จึงยกเว้นไว้เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ประกาศเมื่อ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ออกโดยอ้างอิงตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้อมูลตาม มาตรา 26 (3) ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้งานจะถูกเจ้าหน้าที่ล้วงได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล

“นายชัยวุฒิกำลังลุแก่อำนาจ ออกประกาศที่เป็นการบิดเบือนหลักการกฎหมาย คุกคามสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่คุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ และการแก้กฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการขนาดนี้ ต้องแก้ที่ตัว พ.ร.บ. และนำเข้ามาให้ผู้แทนราษฎรพิจารณาไม่ใช่ออกเองตามอำเภอใจ แต่กลับหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของสภา บิดเบือนกฎหมายออกประกาศมาลักหลับ ถ้าทำแบบนี้ได้ ต่อไปรัฐมนตรีไม่ออกประกาศกระทรวงยกเลิก พ.ร.บ.ไปเลยหรือ

“ประกาศนี้คือความอุกอาจอย่างถึงที่สุด เพราะเป็นการเขียนกฎหมายอนุญาตให้ติดกล้องวงจรปิดบนอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ เพื่อให้รัฐสามารถล้วงข้อมูลได้ทั้งหมด ซึ่งประจวบเหมาะกับที่ กอ.รมน.ก็เพิ่งของบไปทำ Big Data ในงบปี 65 หมายความว่าความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในประเทศนี้ไม่มีแล้ว ถ้าต่อต้านอำนาจรัฐบาล ก็อาจจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐล้วงข้อมูลพฤติกรรมได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องใช้หมายศาล เราจะต้องอยู่ในประเทศแบบนี้กันจริงๆ หรือ” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

นายปกรณ์วุฒิอภิปรายต่อว่า จุดมุ่งหมายหลักอีกข้อของประกาศฉบับนี้คือการพยายามบังคับใช้กับแพลตฟอร์มต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมามีการกดดันแพลตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขอให้ปิดโพสต์ ปิดบัญชีผู้ใช้ ปิดเพจ ซึ่งการปิดกั้นเหล่านี้จะต้องส่งไปที่สาขาต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ แต่พอโดนปฏิเสธมากๆ ก็คงพยายามจะใช้ประกาศนี้ เพื่อเอากฎหมายไปกดดันแพลตฟอร์มเพิ่มเติม หากมีการกดดันอย่างต่อเนื่องมากเข้า ก็มีแนวโน้มที่แพลตฟอร์มเหล่านี้จะลดการลงทุนหรืออาจถอนตัวจากประเทศไทย

นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า สิ่งที่จะเสียไปคือความร่วมมือที่แพลตฟอร์มมีต่อรัฐ รวมถึงการเสียโอกาสในการลงทุนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับกระทรวงดิจิทัลฯสูงมาก แต่เราไม่เคยเห็นกระทรวงนี้และรัฐมนตรีคนนี้ทำอะไรเพื่อพัฒนาโอกาสทางเทคโนโลยีดิจิทัลเลย ก็เพราะมุมมองของรัฐต่อเทคโนโลยี ไม่ใช่โอกาสทางเศรษฐกิจ แต่รัฐกำลังเห็นว่าเทคโนโลยีนี้คือภัยคุกคามร้ายแรงต่ออำนาจที่ตัวเองพยายามปกปักษ์รักษาอยู่ และจำเป็นต้องถูกควบคุมอย่างเร่งด่วนที่สุด

“ผมขอพูดแทนประชาชนที่มีความฝันว่าในยุค digital disruption จะสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยศักยภาพอันเต็มเปี่ยมที่พวกเขามี ประชาชนทุกคนรู้ดีว่านี่คือยุคที่เป็นโอกาสสามารถสร้างประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองและลูกหลานให้ดีขึ้นได้ และสร้างความฝันของพวกเขาให้เป็นจริงได้ด้วยมือของเขาเอง

“ท่านไม่สามารถหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยได้อีกต่อไปแล้ว เอาอดีตของพวกท่านกลับคืนไป และคืนอนาคตให้พวกเขาเสียที” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image