‘โรม’ทำนายบทจบ’ปีศาจ’ ประจักษ์ ชี้ จับขัง ฆ่าจิตวิญญาณไม่ได้ ‘ไอติม’ ยัน อำนาจไม่อาจยั้งเวลา

“โรม” ทำนายบทจบของ ‘ปีศาจ’ ประจักษ์ ชี้ จับขัง-สังหาร ฆ่าจิตวิญญาณไม่ได้ ‘ไอติม’ ยัน อำนาจไม่อาจยั้งเวลา

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม ในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แฟนเพจ “ศิลปะนานาพันธุ์” จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “จากพยานเหตุการณ์สู่ผู้ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ เมื่อเขม่าปืนไม่อาจกลืนความจริง”  โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ตามลำดับเหตุการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ 1 “จากพยานเหตุการณ์สู่ผู้ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ศาสตร์” นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินอาวุโส เจ้าของรางวัลศรีบูรพา 2562 และผู้ก่อตั้งรางวัลมนัสเศียรสิงห์ “แดง” ร่วมเปิดกล่องฟ้าสาง และพูดคุยกับทีมงานกล่องบันทึกเหตุการณ์ “5ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง”

อ่านข่าว : ‘สินธุ์สวัสดิ์’ เปิดกล่องฟ้าสาง ย้อนพลังขบวนการ น.ศ.-ประชาชน ยุคตุลา 2516-2519

Advertisement

จากนั้น เวลาประมาณ 14.35 น. เข้าสู่ช่วงที่ 2 เมื่อ… เขม่าปืนไม่อาจกลืนความจริง “ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลา” ร่วมเสวนาโดย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เผยความรู้สึกต่อพัฒนาการของประชาชนในการร่วมรำลึก 6 ตุลา ว่า เป็นสิ่งที่สะท้อนความอึดอัดขอสังคม ทุกครั้งที่บ้านเมืองเราไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีความอึดอัดทางการเมืองมากเท่าไหร่ ความสนใจเรื่องงาน 6 ตุลาก็มีมากเท่านั้น หากคิดว่าจัดการได้ ‘ไม่จริง’

“ทุกวันนี้ 6 ตุลา คือเครื่องมือของประชาชนในการใช้ตอบโต้ฝ่ายรัฐด้วยซ้ำ คือการประจานว่า พวกคุณไม่มีวันทำลายจิตวิญญาณการต่อสู้ของพี่น้อง ประชาชนได้

งาน 6 ตุลา ปีศาจที่ชนชั้นนำ จะต้องหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่า วันที่เราสามารถชำระประวัติศาสตร์ได้ จะมาถึง และจะมาเป็นโดมิโน่ มีอีกหลายส่วนที่รอชำระ นี่คือปีศาจที่จะหลอกหลอนชนชั้นนำตลอดไป” นายรังสิมันต์กล่าว

Advertisement

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ตนภาคภูมิใจในการเป็นปีศาจ เคยอ่านหนังสือเรื่องปีศาจ ตอนปี 2558 ในเรือนจำ พี่น้องประชาชนคงคิดว่าจะท้อแท้ใจ จึงส่งหนังสือปีศาจเข้ามาให้อ่าน มองว่า ตนนั้นคือปีศาจ การกักขังไว้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว แต่สุดท้ายอย่างที่ทราบว่า หยุดยั้งไม่ได้ ปีศาจถูกฉายภาพว่า เป็นสิ่งชั่วร้าย

“เวลามองผู้มีอำนาจ ดูใหญ่ยิ่ง แต่พวกเขากลับกลัวเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การเป็นปีศาจ ด้านหนึ่งผมภาคภูมิใจที่คนมีอำนาจรู้สึกหวาดกลัว และขอให้กำลังใจคนที่ออกมาตั้งคำถาม แม้จะเป็นปีศาจก็ตาม
ผมชอบ 2 คำในหนังสือ มีฉากหนึ่งที่ รัชนีเจอกับคนขับรถ โดนรายงานว่า ไปกินข้าวกับผู้ชาย รัชนีจึงตำหนิคนขับรถที่ไปรายงานคุณตา เขาบอกว่า ถึงไม่ทำก็จะมีคนอื่นไปบอกอยู่ดี คนขับรถพูดว่า เขามีลูก ตัวเองยอมแล้ว เป็นขี้ข้า เป็นคนรับใช้ แต่เขาจะไม่ยอมให้ลูกเป็นขี้ครอกแบบตนอีกเด็ดขาด

วัยเด็กของเรา ความหวังหนึ่งที่ครอบครัวส่งผมเรียน เรารู้สึกว่า เพราะเขาจะไม่ยอมให้ลูกลำบาก เหมือนตัวเองลำบากอีกต่อไป ประโยคนี้จับใจ (Touch) ซึ่งกลับกลายเป็นว่า มีคนที่ได้ประโยชน์จากระบอบที่ว่าอยู่ แต่ถ้าผมเป็นปีศาจและทุกคนกลายเป็นปีศาจ อำนาจก็อยู่ไม่ได้ และเชื่อว่า ถ้าบทสรุปเขียนจนจบ เชื่อว่า ทุกคนจะกลายเป็นปีศาจ” นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ด้าน รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนังสือปีศาจที่นำมาพิมพ์ใหม่โดยมติชน ขายดีมาก คนรุ่นใหม่ติดตามหาซื้อมาอ่าน เข้าร้านหนังสือวันก่อนคนยังหยิบมาอ่าน นี่คือปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ก่อนเกิด 14 ตุลาคม 2516 เพียง 2-3 ปี ปีศาจก็ถูกนำมาพิพม์ หลังเกิด 6 ตุลาคม 2519 ปีศาจกลายเป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของคนหนุ่มสาว

ประโยคปีศาจของกาลเวลา เอามาจากฉากหนึ่งที่ลือลั่น ‘สายสีมา’ ตัวละครเอกของเรื่องที่ดันไปรักสาวสูงศักดิ์ สายสีมาได้พูด ประโยคหนึ่งไว้ว่า ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้น พยายามทำลายไม่ได้ เพราะเวลาคือเกราะคุ้มกัน อาจเหนี่ยวรั้งบางสิ่งไว้ได้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถรั้งได้ตลอดไป

“ผู้เขียน เสนีย์ เสาวพงศ์ พยายามสะท้อนว่า แม้พยายามจะควบคุมการเปลี่ยนแปลงไม่ให้เกิด แต่ก็ควบคุมไม่ได้ เพราะจะมีสิ่งใหม่ๆ สำนึกใหม่ๆ เกิดขึ้น ‘ปีศาจ’ จึงไม่ใช่แค่ตัวบุคคล แต่คือจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย วิญญาณขบถ อิสระ ที่ตั้งคำถามกับสังคมและทำเนียมเก่า และแม้ทำลายด้วยการจับไปขัง หรือสังหาร แต่ไม่สามารถฆ่าจิตวิญญาณได้ คือคีย์แมสเสจ (Key message) คือจิตวิณญาณขบถแห่งยุคสมัย ในการเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่า” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า ปีศาจ  คือคำศัพท์ที่น่าสนใจ ถ้าพูดถึงเวลา โดยธรรมชาติไม่ควรเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่เวลาคือสิ่งที่ทำให้เรียนรู้อดีต พาก้าวไปสู่อนาคต แต่ปีศาจอาจจะน่ากลัวเมื่อคนกลัวการเปลี่ยนแปลง และกลัวการเดินไปข้างหน้าของเวลา แม้จะมีอำนาจ กฎหมาย ปืน หรือเงินมากแค่ไหน ก็ไม่อาจหยุดยั้งกาลเวลาได้

เมื่อประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมตัวได้มากขึ้น โดยธรรมชาติสังคมจะต้องการประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะอำนาจตกอยู่ในประชาชนมากขึ้น แม้ว่ากฎหมายจะเขียนไว้อย่างไร

“ในปัจจุบัน มิติ ไม่แตกต่างจาก 6 ตุลามาก ประชาธิปไตยไทย มีสภาวะเหมือนชักกะเย่อ แต่อีกมุมหนึ่ง มีสังคมที่ก้าวหน้าขึ้น เรียกร้องค่านิมยมประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่กล้าพูดในประเด็นที่ไม่กล้าพูด จึงเกิดความตึงเครียด ระบบพยายามจะดึงไปข้างหลัง แต่เวลารั้งไปข้างหน้า จนเกิดการพยายามสร้างระบบบต่างๆ ให้สามารถคงอยู่ หรือสืบทอดอำนาจของสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ไม่ว่าการผูกกับกลุ่มทุน และกองทัพ คืออย่างแรก อย่างที่ 2 คือ การพยายามทำให้ฝ่ายที่ดึงชักเย่อไปข้างหน้า หมดแรงลง รู้สึกท้อจากการเรียกร้อง เพราะเรียกร้องไปเท่าไหร่ ระบบโครงสร้างทางการเมืองก็ไม่ตอบสนอง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า

แต่สิ่งที่อันตรายที่สุด คือกลยุทธ์ (Tactics) อย่างที่ 3 คือการสร้างให้คนฝ่ายตรงข้ามที่พยายามขับเคลื่อน ถูกตีตราเป็นปีศาจ เพื่อหวังว่าคนที่ดูเกมชักเย่อจะหวาดกลัว และไม่ร่วมขบวนการ ซึ่งคล้าย 6 ตุลาฯ 2519 ที่พยายามตีตรานักศึกษาเกินจริง ถึงขั้นสร้างวาทกรรม ลดทอนความเป็นมนุษย์ ต้องยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลาฯ อีก” นายพริษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง โฆษกกลุ่มราษฎร ไม่สามารถเข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้ได้ตามกำหนดการ เนื่องจากมีอาการป่วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image