ทนายดัง ค้านคำสั่งมหาเถรสมาคม ชี้ปิดกั้นการศึกษาพระสงฆ์ ไม่เป็นไปตามธรรมวินัย-ขัด รธน.

ทนายความดัง ค้านคำสั่งมหาเถรสมาคม ชี้ปิดกั้นการศึกษาพระสงฆ์ ไม่เป็นไปตามธรรมวินัย-ขัด รธน.

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความชื่อดัง เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) แสดงความเห็นกรณี คำสั่งมหาเถรสมาคมที่ 1/2564 เรื่อง กรณีพระภิกษุสามเณรเรียนวิชา หรือสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ.2564 โดยเนื้อหาประกาศ ระบุว่า ห้ามพระภิกษุสามเณรสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือก เพื่อเข้ารับราชการ หรือทำงานในหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีพระภิกษุสามเณรเข้ารับการคัดเลือกเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง สำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา หรือศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ และตำแหน่งอื่นที่กำหนดไว้สำหรับพระภิกษุสามเณรเป็นการเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 ทั้งห้ามแข่งขัน สอบคัดเลือก เพื่อรับทุนการศึกษาจากหน่วยงานรัฐ เว้นแต่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ได้กำหนดไว้เป็นทุนสำหรับพระภิกษุ สามเณรเป็นการเฉพาะ หรือจัดสรรเพื่อเกื้อหนุนพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ยังห้ามเรียนวิชาอย่างคฤหัสถ์ เว้นแต่วิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือเข้าศึกษาในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หากฝ่าฝืน ให้ตักเตือน และหากกระทำซ้ำ ให้ขับออกจากวัด และรายงานเจ้าคณะจังหวัดทราบ

นายวิญญัติระบุว่า ขออนุญาตพูดเรื่องพระสงฆ์ในระบบปกครองภายใต้มหาเถรสมาคม ต่อกรณีออกคำสั่งห้ามเรียนอย่างคฤหัสถ์ กฎหมายปัจจุบันให้อำนาจมหาเถรสมาคมทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และให้มีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบหรือออกคำสั่งโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้ตามมาตรา 15 ตรี วรรคท้าย

แต่ฆราวาสที่เป็นนักกฎหมายอย่างผม เห็นว่ามหาเถรสมาคม แม้จะเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลพระสงฆ์ในพุทธศาสนาในขณะนี้ แต่กลับไม่กระทำตามพระธรรมวินัยตามที่มีอำนาจ

Advertisement

สังเกตได้จากหน้าที่และภารกิจของสงฆ์ในกฎหมาย ไม่ได้สอดคล้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยเสียทีเดียว เช่น เรื่องของการดูแลกิจการวัด การปกครอง การจัดการงานที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายปกครองต่างๆ สะท้อนชัดเจนว่า มีแนวคิดการวางนโยบายทางการศึกษาของพระสงฆ์เป็นลักษณะเพียงที่จะสร้างพระนักปกครองในระบบของมหาเถรสมาคม และการนี้ก็ใช้ระบบการเลื่อนสมณศักดิ์ โดยต้องมีวุฒินักธรรม-บาลี ที่มหาเถรสมาคมสามารถให้คุณ-ให้โทษพระสงฆ์ที่ถือสมณศักดิ์ได้ตามอำเภอใจได้เลย ดังนั้น การวางแนวคิดการศึกษาเช่นนี้ จึงมิได้ส่งเสริมเพื่อให้พระสงฆ์มีอิสระในการจัดการศึกษาของตนเอง

คำสั่งที่ 1/2564 นี้ จึงย้อนแย้งโดยสภาพตามข้อยกเว้นของข้อ 4 ที่ระบุให้เรียนได้แต่เฉพาะในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง การที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้รับการรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐในกำกับของรัฐบาล และเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีสิทธิเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นของรัฐ สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้ง บรรพชิตและฆราวาส แล้วสิทธิและเสรีภาพของพระสงฆ์หายไปไหน?
พระสงฆ์ที่ต้องการจะศึกษาอย่างคฤหัสถ์ กลับถูกห้ามมิให้เรียน เพราะผลของคำสั่งมหาเถรสมาคมที่ 1/2564 นี้ เท่ากับมีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้

คำสั่งดังกล่าว ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ ก่อนที่จะนำคำสั่งประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ใช้บังคับต่อไป พระสงฆ์ไทยต้องทำอะไรแล้วล่ะครับ การปิดกั้นการศึกษาพระสงฆ์ ทั้งที่พระสงฆ์เป็นผู้เรียนดี มีวิริยะอุตสาหะ ความเจริญงอกงามในการพัฒนาประเทศก็มาจากพระสงฆ์ที่มีภูมิความรู้ หาใช่จะเป็นเพราะพระสงฆ์ที่ต้องมีสมณศักดิ์ไม่
8 ตุลาคม 2564

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image