เสวนาหน้าเรือนจำ ‘ทนายแจม’ ย้ำปมโควิด สิทธิประกัน ปูนเผยเหตุที่ยังสู้ เลิศศักดิ์-ชลิตา ร่วมด้วย

เสวนาหน้าเรือนจำ ‘ทนายแจม’ ย้ำปมโควิด สิทธิประกัน ปูนเผยเหตุผล ที่ยังสู้ เลิศศักดิ์-ชลิตา ร่วมด้วย

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรม “เสวนากระบวนการยุติธรรม กับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง” ระหว่างเวลา 16.00-19.00 น. เพื่อยืนยันใน 4 ข้อเรียกร้อง คือ ประยุทธ์ออกไป เขียนรัฐธรรมนูญใหม่, ปฏิรูปสถาบันฯ, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และคืนสิทธิการประกันตัว

อ่านข่าว : ‘ทะลุแก๊ซ’ เดินต้อนตำรวจ ‘ทะลุฟ้า’ ซัดคุกคาม-ปล่อยเพื่อนเรา จีโน่ประจำเรือนจำพิเศษ

โดยเวลา 17.30 น. นักกฎหมาย นักสิทธิและนักกิจกรรมทางการเมือง ร่วมวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม กับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง” กล่าวถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรม โดยมี น.ส.พริม มณีโชติ หรือ เอ๋ย ดำเนินรายการ

เวลา 17.30 น. นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ “ปูน ทะลุฟ้า” กล่าวเปิดการเสวนาด้วยประเด็นที่ตนเองและเพื่อนนักกิจกรรมถูกดำเนินคดี เพียงเพราะแสดงออก วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ซึ่งสามารถทำได้ตามหลักประชาธิปไตย และได้กล่าวถึง น.ส.เบนจา อะปัญ แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่เพิ่งถูกจับ และไม่ได้รับการประกันตัว

Advertisement

“สำหรับเราที่เคยโดนดำเนินคดีจากทางเจ้าหน้าที่รัฐเรารู้สึกว่า ไม่สมควรมีใครโดน ไม่ใช่เพียงแค่เราคนเดียว ทุกคนออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองตามกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น ปูนเชื่อว่าการแสดงออกได้โดยตามหลักประชาธิปไตยสามารถทำได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องใด จริงๆ แล้วประเทศของเราไม่เหมือนหลายๆ ประเทศคืออยากจะมีประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยแบบสากลไม่ได้ จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนคนอื่น ก็คือประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีกฎหมายบางมาตรามาตีกรอบว่าเราแสดงออกได้ แค่ได้เพียงเท่านี้

จริงๆ แล้วการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสามารถวิจารณ์ได้โดยสุจริต หรือถ้าไม่อยากให้วิจารณ์ ทำไมไม่แจ้งกฎหมายหมิ่นประมาท หรือกฎหมายธรรมดาแบบบุคคลทั่วไป เพราะว่าประชาชนก็ไม่ได้ออกมาด่าทอ อย่างพี่เบนจา ที่ต้องเข้าเรือนจำล่าสุด เพียงเพราะเขาวิจารณ์วัคซีนและสิ่งที่เขาวิจารณ์เป็นข้อเท็จจริง ดังนั้น ทำไมกฎหมายถึงบิดเบี้ยว หลังจากนั้นไม่ใช่การบิดเบี้ยว แต่คือการพังทลายของตัวกฎหมายเอง ของกระบวนการยุติธรรม

“การไม่ให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน เป็นอะไรที่น่าหดหู่ใจมาก กับการที่ต้องมีนักกิจกรรมทางการเมืองเข้าเรือนจำเป็นว่าเล่น แต่เราเชื่อว่า เขาสามารถทำร้ายเราได้เพียงแค่นี้ สุดท้ายกาลเวลาจะเป็นตัวที่มาหลอกหลอนในสิ่งที่ทำ” นายธนพัฒน์กล่าว

Advertisement

นายธนพัฒน์ กล่าวถึงเหตุผลที่ยังคงสู้อยู่ว่า สิ่งต่างๆ แม้พังทลายลง ก็สร้างขึ้นมาโดยคนรุ่นใหม่ได้ ด้วยสองมือของเราและด้วยผู้รักประชาธิปไตย คนเก่าๆ จะตายไปตามกาลเวลา แต่ถ้าเราลุกขึ้นมาเก็บกวาด ซ่อมบ้านที่พัง เปลี่ยนผ้าม่านเก่า เราจะมีประชาธิปไตยอย่างที่นานาอารยประเทศมี เป็นเพราะเขาปลูกฝังดีกว่าให้คนเคารพความเป็นคน ไม่ใช่แบ่งเหมือนประเทศไทย ที่ถ้าเราเกิดมายากจน ต้องเป็นชนชั้นล่าง

“ปูนได้มีโอกาสอ่านนวนิยาย ‘ปีศาจ’ สาย สีมา เป็นลูกคนยากจน แต่พัฒนาตัวเองจนได้เป็นทนายความ ไปหลงรักรัชนี ลูกท่านเจ้าคุณ ซึ่งรับไม่ได้กับการเอาลูกชนชั้นสูง กับชนชั้นล่างมาเรียนร่วมกัน มองว่าจะทำให้ประเทศตกต่ำ ผ่านมา 70 กว่าปี ยังมีคนแนวคิดแบบนี้อยู่ คิดว่าคนไม่เท่ากัน ถ้าไม่เริ่มวันนี้ เมื่อไหร่จะเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ทำให้ปูนไม่หยุดเคลื่อนไหว เพราะเรายังมีครอบครัว มีน้องเล็กๆ ที่ไม่ต้องการให้มาเจออะไรแบบนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องละทิ้งชีวิตวัยรุ่น มาทำเพื่อใครหลายๆ คนและตัวเองในอนาคต พี่ๆ เพื่อนๆ ในเรือนจำ เขายังมีหวังที่จะได้ออกมาเจอหน้าพ่อแม่ และได้ออกมาสู้ เราที่อยู่ข้างนอกทำไมไม่หวัง ความหวังคือแรงแรงใจสำคัญ ที่จะทำให้ทุกคน มีพลังในการลุกขึ้นสู้

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง พัดพามาที่ประเทศเราแล้ว พี่อานนท์บอกว่า ถ้าประชาชนยังหลังเหยียดตรง จะไม่สามารถมีใครทำนาบนหลังเราได้” นายธนพัฒน์กล่าว และว่าคนข้างในยังมีหวังในการต่อสู้ อย่าลืมคนข้างใน และอย่าลืมว่าเราสู้อยู่กับอะไร

จากนั้น นายธนพัฒน์ ฝากบทกวี ความว่า จงอาจหาญ กล้าที่จะฝัน จงศรัทธาจตั้งมั่นในฝั่นใฝ่ เราจะเติบใหญ่เป็นไม้งาม เพื่อประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งในประเทศ

เวลา 17.50 น. น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ “ทนายแจม” ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองเมื่อ 10 ปีที่แล้วในตอนที่ยังเป็นนักศึกษา และกล่าวถึงทนายอานนท์ที่เสียสละออกมาต่อสู้กับเยาวชนในปัจจุบัน

“ตอนนี้แจมเชื่อว่ามันเป็นยุคที่คนทั่วไปน่าจะรู้ถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการได้ชัดที่สุด เมื่อ 10 ปีก่อนแจมเองก็เป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่ได้ร่วมเคลื่อนไหว ซึ่ง 10 ปีก่อนแทบจะไม่มีนักศึกษาเลย เราเป็นแค่นักศึกษากลุ่มเล็กมากๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว พอ 10 ปีผ่านมาสิ่งที่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นคือ ในปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่มาเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น คนก็จะเริ่มมากหน้าหลายตามากขึ้น

ส่วนเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามหลักการหรือเปล่า จริงๆ ถ้าพูดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวันนี้มากที่สุดคือเรื่องของสิทธิการประกันตัว คนที่อยู่ข้างในแทบทุกคนก็เป็นคนที่แจมรู้จัก รัก และเคารพ”

“ต้องบอกว่าตลอด 10 ปีที่เรียนกฎหมายมาและเป็นทนายความ คนที่อยู่ข้างในไม่ใช่แค่นักกิจกรรมทางการเมือง ไม่ใช่แค่คนที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่เขาคือคนที่มีคุณค่าทางจิตใจเราด้วย พี่อานนท์เป็นพี่เลี้ยงทนายความของแจม เป็นคนที่สอนแจมหลายๆอย่าง ปีที่แล้วที่แจมตัดสินใจลงมาต่อสู้เต็มที่ แกเสียสละมากๆ ไม่อยากให้น้องๆ นักศึกษาต่อสู้อย่างเดียวดาย

แกก็ออกมาต่อสู้ในปีที่แล้ว การจำคุกในครั้งนี้พี่อานนท์เองก็พอจะรู้อยู่แล้วว่ามันต้องมีระยะเวลาที่ยาวนาน แต่แกก็ยังยืนยันที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราพอจะรู้ว่าขั้นตอนต่างๆ สิทธิในการประกันตัว ขนาดคดีความฆ่าคนตาย หรือคดีที่มันน่ากลัวกว่าที่พี่อานนท์ทำยังได้ประกันตัว หรืออย่างคดีผู้กำกับโจ้ เป็นคดีที่สะเทือนกระบวนการยุติธรรมมาก เพราะตำรวจถือว่าเป็นต้นสายของกระบวนการยุติธรรม เห็นได้ชัดว่าเราไม่อาจเชื่อถือหรือเชื่อมั่นอะไรในต้นสายธารแม่น้ำธารนี้ได้อีก” น.ส.ศศินันท์กล่าว ก่อนเย้ยย้ำถึงนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ไปชุมนุมนับร้อยครั้ง แต่ไม่เคยติดโควิด-19 กลับติดโควิด-19 ในเรือนจำออกมา แทบทุกคน

น.ส.ศศินันท์ยังกล่าวถึงสิทธิการประกันตัวว่า คือสิทธิที่เราพึงมี แต่ไทยใช้ระบบกล่าวหา ทุกคนจึงมีสิทธิถูกกล่าวหาได้ทั้งนั้น ตำรวจมีอำนาจควบคุมตัว ประมาณ 48 ชั่วโมง หากอยากสืบสวนนานกว่านี้ ก็ต้องขอศาลฝากขัง ด้วยเหตุผลที่ตำรวจมักอ้างคือ รอพิมพ์ลายนิ้วมือ เมื่ออนุญาตฝากขัง ก็จะเข้าสู่กระบวนการปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) พิจารณาจากที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีแนวโน้มหลบหนี หรือมีอิทธิพลยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จนกลายเป็นธรรมเนียมให้รับฝากขังไปก่อน

ก่อนยกกรณี นายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ ฟ้า ราษฎรมุเตลู ว่า ฟ้าที่เดินทางมารายงานตัว แต่กลับรับฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว

“เราเจอมาตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ให้ประกันแทบคาดเดาไม่ได้ ยื่นประกันได้ตลอด แต่เหตุผลที่เรามักได้ยินซ้ำไปซ้ำมาคือ ไม่มีเหตุผล เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทำไม่ฟังเหตุผลสักนิด หรือลองนึกถึงว่า คนข้างในเป็นลูกหลาน”

น.ส.ศศินันท์กล่าวว่า หลังปี 2557 เกิดรัฐประหาร จับพลัดจับผลู มาทำศูนย์ทนายจนทุกวันนี้ คิดว่าการเป็นทนายมีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นมากกว่า เมื่อเทียบกับการต้องอยู่ใต้เบ้าหลอม ถ้าวันหนึ่งใครตกเป็นผู้ต้องหา เรามีสิทธิได้รับประกันตัว ถ้ามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เจ้าหน้าที่ก็ระวังไว้ วันหนึ่งอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาเหมือนกัน ไม่นานเร็วๆ นี้

โดยผู้ชุมนุมปรบมือ ส่งเสียงเฮ

น.ส.ศศินันท์กล่าวกล่าวปิดท้ายว่า คำถามที่ทุกคนถามเหมือนกันคือ ข้างนอกเป็นไงบ้าง ยังพูดถึงพวกเขากันอยู่ไหม ล่าสุดที่ไปเยี่ยมน้องทะลุฟ้าเมื่อวาน น้องทะลุฟ้า ทั้ง 3 ดีใจที่จะมีกิจกรรมเกิดขึ้น เห็นแววตาของไดโน ของเปา ของปีก ตนจึงมาร่วมในวันนี้

“แจมเชื่อว่าเขาได้ยิน และอยากให้ส่งเสียงว่า เรามาแล้ว ข้างนอกไม่มีใครลืม คิดถึงอยู่เสมอ ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด จะปฏิบัติเหมือนกระทำความผิดไม่ได้”

จากนั้น นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่าย People Go Network กล่าวถึงการทำกิจกรรมทางการเมือง ตั้งแต่การเดินทะลุฟ้า 247.5 กม. ว่า เราคิดกันไว้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่การเดินมิตรภาพที่เดินจากกรุงเทพฯ ไป จ.ขอนแก่น คิดดอยู่เสมอว่า ต้องหาทางเดินเข้ากรุงเทพฯ ให้ได้ เผอิญเป็นช่วงที่ี “ไผ่ ดาวดิน” ออกจากคุก ขบวนการราษฎรเกิดขึ้น และมีนัดรายงานตัว ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้รับประกันตัว จึงมีความจำเป็นที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อรณรงค์ โดยเริ่มเดินทะลุฟ้า

หลังจากวันที่ไผ่รายงานตัวกับเพื่อนๆ หากแกนนำไม่ได้รับการประกันตัว ขบวนการเคลื่อนไหวจะไปอย่างไรต่อ จึงเกิดหมู่บ้านทะลุฟ้า และยืนหยุดขัง “ปล่อยเพื่อนเรา” ทำให้การเคลื่อนไหวสืบเนื่องต่อไปได้

“ตอนนั้นคิดอยู่ว่า การตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า และขบวนการต่างๆ จะใหญ่ และสะเทือนได้มากแค่ไหน แต่เราไม่ได้วัดผลอะไรมาก แค่อยากเห็นกระบวนการที่เข้ามาเสริมมากขึ้น เห็นกลุ่มนู้นกลุ่มนี้เข้ามาร่วมมากขึ้น”  นายเลิศศักดิ์กล่าว

นายเลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า กฎหมายทำให้เราไม่สามารถชุมนุมได้ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปลดทอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คือเรื่องใหญ่ที่ภาคประชาสังคมกำลังเผชิญ

“หลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง อย่างการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไปจนถึง การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรืออนุมัติโครงการท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายยังไปจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอื่นๆ ด้วย หน่วยงานต่างๆ กลับใช้โอกาสนี้ไปจัดเวทีปิด เชิญประชาชนส่วนหนึ่งไปนั่งให้เต็มเก้าอี้ พี่น้องที่โดนเกณฑ์มาไม่มีโอกาสแสดงความเห็น บรรยากาศแบบนี้ คือจังหวัผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เพราะประชาชนไม่สามารถแสดงควาเห็นได้มากนัก” นายเลิศศักดิ์กล่าว

นายเลิศศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่พี่น้องพม่าฝากมาหา บอกว่า มันฝังกระสุนเข้าไปในหัว เพื่อเด็ดชีพ แต่หารู้ไม่ว่า อุดมการณ์มันอยู่ในหัวใจเรา

ด้าน ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึง “กองทุนราษฎรประสงค์ ความว่า คือกองทุนที่เกืดจากการระดมทุน เงินทุกบาท ทุกสตางค์มาจากการบริจาคของประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น ทุกบาทจะใช้ไปกับ 2 ส่วน คือ 1.วางเงินประกันตัว และ 2.เสียค่าปรับของผู้แสดงออกทางการเมือง

หากย้อนกลับไป รัฐไทยในอดีตจะใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน ที่จะปิดกั้น จำกัดความเห็นทางการเมือง ผู้ที่เห็นแตกต่างไปจากรัฐ ที่ผ่านมาประชาชนเดือดร้อนจากส่วนนี้ กองทุนประกันตัว จะช่วยให้เพื่อนได้รับประกัน และรับรองสิทธิที่ควรจะได้

ก่อนกล่าวถึงที่มาว่า เริ่มจากปี 2553 ตั้งแต่การล้อมปราบ สังหารเสื้อแดง มีคนที่ตาย ยังถูกคนดี ทนายอานนท์คือจุดเริ่มต้นว่าความให้พี่น้องเสื้อแดงและชาวบ้าน เวลานั้นยังไม่มีศูนย์ทนายฯ กองทุนเป็นรูปเป็นร่าง หลังรัฐประหาร ปี 2557 มีคนถูกดำเนินคดีเยอะมาก และต้องไปขึ้นศาลทหาร หลายคนในที่นี้ตกเป็นผู้ต้องหา ในคดีคนอยากเลือกตั้ง จึงมีการระดมทุนครั้งใหญ่อีกครั้ง ในอีกชื่อหนึ่ง หลายระลอกมาก

ดร.ชลิตากล่าวต่อว่า ปี 2563 มีการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ถูกดำเนินคดีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงใช้ชื่อ กองทุนราษฎรประสงค์ ขยายให้ขอบเขตครอบคลุมการชุมนุมทางการเมือง

กองทุนนี้ไม่ใช่แค่เงินประกัน แต่มีความหมาย ชื่อกองทุนราษประสงค์ โยงไปถึงการล้อมปราบคนเสื้อแดง ที่ ราชประสงค์ และประสงค์ของประชาชน ที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของเพื่อน สืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎร

นัยยะของกองทุน ไม่ใช่แค่การระดมเงินธรรมดา แต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชน ที่จะบอกถึงความไม่พอใจระบบในประเทศ ท่ามกลางการลิดรอนสิทธิ คนอาจไม่สามาถออดมาร่วมได้ จึงใช้วิธีโอนเงินร่วมช่วยเหลือ

อีกประการ กองทุนนี้ ยืนอยู่บนหลักการที่ว่า กฎหมายไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมี ในการจัดการคนเห็นต่างจากรัฐ กระบวนการยุติธรรม ต้องยุติธรรมอย่างแท้จริง สิทธิการประกันตัว คือเรื่องทำพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้ เรายืนยันในสิ่งนี้ คือการแสดงเจตจำนง เจตนารมณ์ของประชาชนทั้งหมดด้วย” ดร.ชลิตากล่าว

ดร.ชลิตากล่าวอีกว่า อยากบอกว่า การที่พวกเรา ไม่ได้รับการประกันตัวและถูกจองจำมากๆ ทำให้รู้สึกหดหู่ และรู้สึกผิดที่ปล่อยให้เด็กๆ ต้องไปเผชิญชะตากรรมแบบนี้ เห็นด้วยว่าถ้าจะแก้ปัญหาในระยะยาว ต้องมองเรื่องโครงสร้าง แต่ช่องทางปิดทั้งหมด ฉะนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญยังเป็นแบบนี้ สิ่งที่ละเมิดสิทธิก็จะยังคงอยู่

จากนั้น เวลา 18.59 น. ผู้ชุมนุมร่วมร้องเพลง ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ พร้อมชูภาพแกนนำที่อยู่ในเรือนจำ ก่อนตะโกน ปล่อยเพื่อนเรา ก่อนต่อด้วยเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”

เวลา 19.13 น. มีการจุดพลุ เพื่อส่งเสียง สุขสันต์วันเกิดเพื่อที่อยู่ในเรือนจำ คือ นายนวพล ต้นงาม หรือ ไดโน่ทะลุฟ้า

อย่างไรก็ดี เวลา 19.17 น. มีการปะทะกันเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทราบภายหลังว่ามีนักข่าวอิสระลงข่าวว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ที่มีการปาระเบิดเป็นการกระทำของกลุ่มทะลุแก๊ส ซึ่งกลุ่มทะลุแก๊สได้บอกว่าพวกเขาแค่ไปทำการพามวลชนออกจากพื้นที่เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image