สู้เพราะถูกเอาเปรียบ-‘มูลนิธิ 14 ตุลา’ เชื่อการเมือง-พลเมืองเข้มแข็ง คือทางสู่ ปชต.

สู้เพราะถูกเอาเปรียบ-‘มูลนิธิ 14 ตุลา’ เชื่อการเมือง-พลเมืองเข้มแข็ง คือทางสู่ ปชต.

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), มูลนิธิ 14 ตุลา และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมจัดงานรำลึกและปาฐากถา 14 ตุลา ประจำปี 2564 โดย “ช่วงเช้า” มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 14 รูป ก่อนร่วมกล่าวรำลึกและปาฐกถา

อ่านข่าว :

โดยเวลา 13.15 น. ที่ห้องประชุม หลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เข้าสู่กิจกรรมช่วงบ่าย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเปิดวงเสวนาในวาระครอบรอบ 48 ปี 14 ตุลา หัวข้อ “การเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย”

Advertisement

นายประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กับ จอมพลถนอม กิตติขจร กล่าวตอนหนึ่งว่า 14 ตุลา ยิ่งใหญ่เหมือนคนอีสานพูดกัน “อัศจรรย์ใจ กุ้งกุมกินปลาบึกใหญ่ ปลาซิวสวบแข่ หนีไปลี้อยู่หลืบหิน” ซึ่งใจความกล่าวถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่สู้เพื่อเปลี่ยนแปลง

“นักสังคมวิทยาของอเมริกา บอกว่า ไม่น่าประหลาดใจ หากมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่แล้ว ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ 14 ตุลาคม เราเดินแจกใบปลิวในวันที่ 6 ตุลาคม ทั้ง 28 คน วนรอบสนามหลวง พระแม่ธรณีฯ เข้าถนนสามเสน โดยคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี มาร่วมแจกด้วย เริ่มตั้งแต่อนุสาวรีย์ทหารอาสา ในที่สุดจับไป 11 คน จาก 28 คน

หม่อมหลวงคึกฤทธิ์บอกว่าให้ไปหา บก.สยามรัฐ ผมบึ่งไปหาเพื่อพยายามผ่อนปรน แต่ติดต่อไม่ได้ จึงไปหาพี่ไขแสง (สุกใส) พี่ไขแสงบอกว่า นี่คือสัจธรรม เผด็จการก็ย่อมทำกับเราแบบนี้” นายประสานกล่าว และว่า

คุณไขแสงเสนอมอบตัวให้จับในวันรุ่งขึ้น แต่ในที่สุดรัฐบาลไม่ยอมปล่อย 13 คน จึงเคลื่อนขบวนมาที่ ถนนราชดำเนิน แต่ก็ยังไม่ปล่อย

“ผมกำลังเรียนทุกท่านในวันนี้ว่า การเคลื่อนไหว ต่อสู้ มีลักษณะที่เป็นไปตามธรรมชาติ คนประมาณ 500,000 คน ทั้งชุมนุมในต่างจังหวัด คนรวมเป็นล้าน ถ้าวันนั้นไม่มีการจับ ให้ปิดใบปลิวเฉยๆ จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เขายื้อเพราะมีการออกข่าวว่า นักศึกษาก่อการร้าย แต่เจ้าหน้าที่ปิดทางไม่ให้กลับ ถ้าไม่ปะทะแถวสวนจิตรลดา เรื่องก็จบ

การเคลื่อนขบวนขนาดใหญ่ ไม่มีใครสามารถกำหนดชะตากรรม (Mastermind) ให้เป็นไปตามธรรมชาติ จึงเรียนว่า 14 ตุลา หากเทียบกับการชุมนุมอื่นๆ มลทินน้อยกว่า ความชอบธรรมมากกว่า คนกว่า 500,000 คน ไม่เอาเผด็จการ แต่เมื่อไม่ยอมให้ จึงต้องสู้จนเกิดเหตุแบบนี้

เราเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในปี 16 จนมีรัฐธรรมนูญ 17 ที่มีประชาธิปไตยพอควร แต่แล้วก็เกิด 6 ตุลา 19 เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ยอมให้เข้มแข็ง แต่ก็ทำให้เกิด ‘ประชาธิปไตยที่กินได้’ เพราะปลดปล่อยพันธนาการ เสรีภาพ ทำให้คนแข็งแกร่งและมีพลังวังชาขึ้นได้ ขบวนการ ‘3 ประสาน’ แม้จะจบด้วยการเข้าป่า แต่สิทธิเสรีภาพก็ได้เปิดกว้าง

“อ.คึกฤทธิ์พูดถูกมาก อย่าว่าแต่ประชาธิปไตยล้มลุกคุกคลาน เผด็จการก็ล้มลุกคุกคลานเช่นกัน รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีประชาธิปไตยระบบตัวแทน แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะยกชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ​ ยังมีประชาธิปไตยทางตรงอีกมากมาย เงินและระบบอุปถัมภ์ ทำให้การเลือกตั้งมีปัญหา ชอบธรรมหรือไม่ ไม่รู้ แต่ได้อำนาจรัฐ และกลับสู่วงจรอุบาทย์

“ผมคิดว่า เรายังวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทย์ ดังนั้น คำตอบอยู่ที่พลเมืองเข้มแข็ง และประชาชน จะกำหนดชีวิตของเขาด้วยตัวเอง นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สภาพการเมือง และพลเมือง ต้องเข้มแข็ง เพื่อก้าวสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” นายประสานกล่าว

เวลา 13.36 น. นางสุนี ไชยรส รองประธานมูลนิธิ 14 ตุลา และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พ.ศ.2540 หนึ่งในผู้ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา กล่าวต้อนรับและเปิดประเด็นว่า เวลาเราจัดงาน 14 ตุลา แท้ที่จริงแล้วเราควรจะนึกภาพตัวแทน ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ออกมาชัดมาก 14 ตุลากับ 6 ตุลา แท้ที่จริงคือเรื่องเดียวกัน การต่อสู้ของ 14 ตุลาที่ได้รับชัยชนะและนำมาสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดการสูญเสียผลประโยชน์ ไม่ว่าการต่อสู้ของกรรมกร ชาวนา นักเรียน นักศึกษา และกลายมาเป็นโศกนาฏกรรมความทารุณในเหตุการณ์ 6 ตุลา ฉะนั้น 6 ตุลาและ 14 ตุลา ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่เราต้องเชื่อมโยงและเคารพวีรชนในการต่อสู้

“อยากเปิดประเด็นตรงนี้ว่า 14 ตุลาไม่ได้หมายถึงการเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว คุณประสารได้พูดชัดเจนว่า เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรียกร้องการเลือกตั้ง ไล่เผด็จการ แต่เนื้อแท้ก็คือ ทำไมลำพังนักเรียน นักศึกษามาชุมนุมไม่เยอะนัก แต่มีเป็นหลายแสนคนลุกขึ้นมาต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา มันสะท้อนว่า การถูกเอาเปรียบอย่างหนัก ทำให้คนออกมาต่อสู้มากกมาย

หลัง 14 ตุลา เกิดรัฐธรรมนูญ 2517 เป็นฉบับที่ได้รับการยอมรับ เพราะมีกระแสของการต่อสู้ประชาธิปไตย สังเกตดูรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จะค่อนข้างเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี 2517 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลายเรื่องที่ดีมาก แต่การปราบปรามครั้งใหญ่ 6 ตุลา ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ 2517 ไปด้วย”

“พวกเราเข้าป่าไป แน่นอนว่าก็ได้กลับออกมาจำนวนมาก แต่ก็มีคนสูญเสียมากมาย ไม่ใช่ว่าเข้าไปแล้วไม่ได้สูญเสียอะไร ซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา กรรมกร ชาวนา ก็เสียสละชีวิตตรงนั้น แต่ที่เราต้องเคารพคือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษาก็ยังต่อสู้ตลอด ติดคุกกันไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น เสียชีวิตไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น แต่เราก็เห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน หรือความเสมอภาคระหว่างเพศ มันเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่า ถ้าใครที่จะใช้ความรุนแรงจะปราบจะจับอย่างไรก็ตาม คนก็ยังลุกขึ้นมาต่อสู้” นางสุนีกล่าว

นางสุนีกล่าวต่อว่า สิ่งที่เราต้องเชื่อมโยง รัฐธรรมนูญ 40 มีจุดเด่นอยู่ 2 ข้อคือ ถูกล็อกไว้ว่า ต้องมี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” คือมีคนมาร่าง ไม่ให้นักการเมืองในสภาร่างอย่างเดียว และไม่ใช่ให้นักกฎหมายร่าง แต่ถูกออกแบบว่า ต้องมี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” มากจากใครก็ได้ทั่วประเทศที่มีกระบวนการคัดเลือก

“คีย์เวิร์ด 2 ข้อที่น่าสนใจคือ ให้ ‘มีส่วนร่วมของประชาชน’ ทุกขั้นตอน เราจะเห็นตั้งแต่ก่อนร่าง มีการรับฟังใหญ่ทั่วประเทศ ร่างเสร็จไป ‘ประชาพิจารณ์ใหญ่ทั่วประเทศ’ และกลับมา นักการเมืองรุ่นนั้นทำท่าจะไม่เอา กระแสออกมาแรงมากว่า ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีเรื่องของสิทธิเสรีภาพ แม้แต่กระบวนการยุติธรรมก็ถูกออกแบบเปลี่ยนแปลง แม้แต่ตำรวจหรือศาลก็ไม่ค่อยแฮปปี้กับการร่างครั้งนั้น แต่กระแสของภาคประชาชนคือ ธงเขียว ทำให้คีย์ที่ 3 บรรลุผลสำเร็จ กล่าวคือ ห้ามแก้ สภาไม่มีสิทธิแก้ ให้เฉพาะผ่าน หรือไม่ผ่านเท่านั้น” นางสุนีกล่าว

จากนั้น นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. ร่วมถกแถลงข้อเสนอของ ครป. ก่อนเข้าสู่วงเสวนา ดำเนินรายการโดย นายศักดิ์ณรงค์ มงคล รองประธาน ครป.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image