‘ดร.หญิง’ ห่วงอนาคตสังคมแตกแยกหนัก หลังคนหนุ่มสาวประกาศท่าทีไม่รับคำวินิจฉัย ชี้เมื่ออนาคตเปลี่ยน กม. ต้องดูความเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย
กรณีที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ภายหลังนัดประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ กรณีรับคำร้อง นายณัฐพร โตประยูร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ชุมนุมปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า การกระทำและพฤติกรรมต่อเนื่องของผู้ถูกร้อง 1-3 มีเจตนาซ่อนเร้น เซาะ กร่อนบ่อนทำลาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพมุ่งล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 และเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าว
- ศาล รธน.ชี้ ม็อบ 10 สิงหา เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง-สั่ง ‘แกนนำ’ หยุดการกระทำ
- อ่านละเอียด คำวินิจฉัยศาลรธน. ชี้ 3 แกนนำล้มล้างการปกครอง สั่งเครือข่ายห้ามกระทำอีก
- 23 องค์กรนักศึกษา มหา’ลัยทั่วประเทศ ยก 5 เหตุผลวิชาการ ไม่เห็นด้วยคำวินิจฉัยศาลรธน.
- ที่ปรึกษานายกฯ ซัด ม็อบปฏิรูปสถาบันผิดอาญาร้ายแรงยิ่ง จี้ลากตัวคนหนุนม็อบทุกระดับมาลงโทษ
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ความขัดแย้งแตกแยกของสังคมจะมากยิ่งขึ้นหรือไม่เพียงไร แกนนำและเครือข่าย ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นเยาวชน คนหนุ่มสาว เป็นนักศึกษา พวกเขาประกาศท่าทีไม่ยอมรับคำวินิจฉัย เราห่วงใย อนาคตข้างหน้าจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันใช้สติปัญญาช่วยกันคิดหาทางออกให้กับประเทศร่วมกัน
“เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนแปลง ศาลและกฎหมายก็เช่นเดียวกัน จะยุติธรรมหรือไม่ก็ต้องดูความเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยหรือไม่ เพราะทุกๆ คำวินิจฉัยย่อมมีผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยว่าเป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่ ฟังความรอบด้านหรือไม่ เพราะเมื่อวินิจฉัยแล้วผูกพันองค์กรทุกองค์กร”