23 คณาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่อนแถลงการณ์ ร้องมหา’ลัย ปกป้องเสรีภาพนักวิชาการ

23 คณาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่อนแถลงการณ์ ร้องมหา’ลัย ปกป้องเสรีภาพนักวิชาการ

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันออกแถลงการณ์และข้อเรียกร้อง ฟ้องร้องคดีแพ่งต่อ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง นักวิชาการผู้ผลิตการวิจัยทางวิชาการและอดีตนิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และอาจารย์เกษียณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่สังคมได้รับทราบถึงกรณี ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ดำเนินคดีฟ้องร้องคดีแพ่งต่อ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง นักวิชาการผู้ผลิตการวิจัยทางวิชาการและอดีตนิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และอาจารย์เกษียณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ในข้อหาความผิดละเมิด ไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง และเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท ต่อวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500)” และหนังสืออีก 2 เล่ม คือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500)” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500”

ต่อกรณีดังกล่าวทางกลุ่มคณาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ผู้ปฏิบัติงานให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ได้ทำหน้าที่อย่างตั้งใจ โดยสุจริตและเป็นไปตามมาตรฐานที่พึงมีของอาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อมีผู้ร้องให้เห็นถึงข้อผิดพลาด แต่การแก้ไขทำไม่ได้เพราะระเบียบของมหาวิทยาลัย จึงทำให้ทั้งผู้เขียนและอาจารย์ที่ปรึกษา ตกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว การร้องเรียนจนนำไปสู่การฟ้องร้องพิจารณาคดีในศาล เป็นตัวอย่างของการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ ในการทำวิจัย การผลิตงานทางวิชาการ และการตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความรู้ใด นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงการขาดความเข้าใจต่อบทบาทและหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาในกระบวนการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งจะส่งผลต่อมาตรฐานทางวิชาการในอนาคต

ADVERTISMENT

คณาจารย์ดังมีรายนามต่อไปนี้ ขอแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ ในการทำวิจัย ผลิตงานทางวิชาการ และตีพิมพ์เผยแพร่ และขอเรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทำหน้าในการดูแลและปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักวิชาการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของประเทศและของโลกพึงมี โดย

ประการที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อสาธารณะต่อการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางวิชาการของ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และมาตรฐานเสรีภาพทางวิชาการทั่วไปของนิสิตและคณาจารย์

ADVERTISMENT

ประการที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรชี้แจงต่อสาธารณะว่า บทบาทหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์นั้นมีแค่ไหน เพียงไร เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันของสังคมต่อกระบวนการทำวิทยานิพนธ์และงานวิชาการอื่นเพื่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิของนิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษาต่อไปในอนาคต

ประการที่ 3 ความปรากฏว่า ข้อผิดพลาดอันเป็นข้ออ้างในการฟ้องร้องคดีดังกล่าวนั้น ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง เคยได้พยายามขอแก้ไขแล้วแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตเพราะไม่มีระเบียบในเรื่องดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรประกาศเผยแพร่ถึงเกณฑ์เรื่องการแก้ไขเนื้อหาที่ผิดของวิทยานิพนธ์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีครั้งนี้ และป้องกันปัญหาแบบเดียวกันในอนาคต

ทางกลุ่มคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเป็นกำลังใจให้ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด และ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง และยืนเคียงข้างอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน เพื่อแสดงจุดยืนปกป้องเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการ

12 พฤศจิกายน 2564

1. Asst. Prof. Carl Middleton Graduate Program in International Development Studies (MAIDS-GRID)
2. ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล   ภาควิชาการปกครอง
3. ดร.กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์  ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
4. ผศ.ดร.กัลยา เจริญยิ่ง    ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
5. ดร.กุลพธู ศักดิ์วิทย์    ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
6. ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง    ภาควิชาการปกครอง
7. รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี      ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
8. ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์      ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
9. ศ.ดร.ฉันทนา หวันแก้ว อาจารย์เกษียนอายุ      ภาควิชาการปกครอง
10. ผศ.ดร.ธีวินท์ สุพุทธิกุล     ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
11. รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล      ภาควิชาการปกครอง
12. ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ อาจารย์เกษียนอายุ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
13. ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ      ภาควิชาการปกครอง
14. รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง      ภาควิชาการปกครอง
15. ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์      ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
16. รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์    ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
17. ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์      ภาควิชาการปกครอง
18. ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์      ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์
19. รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์      ภาควิชาการปกครอง
20. ศาสตราจารย์ สรวิศ ชัยนาม      ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
21. รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี      ภาควิชาการปกครอง
22. ดร.สุรัชนี ศรีใย    ภาควิชาการปกครอง
23. ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์เกษียนอายุ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image