เริ่มถกร่าง รธน.ฉบับ ปชช. ‘พริษฐ์’ เดินหน้าล้มระบบ ส.ว. ขอหยุดใช้ 16 ล้านเสียงผ่านประชามติเป็นข้ออ้าง

เริ่มแล้วถกร่าง รธน.ฉบับ ปชช. ‘ไอติม’ เปรียบ ‘ประยุทธ์’ เหมือนไวรัส ทำไทยป่วยหนัก เผชิญ 3 โรคร้าย เดินหน้าล้มระบบ ส.ว.เหลือ ส.ส. สภาเดียว ชี้หัวใจสำคัญร่าง รธน.ฉบับนี้สร้างระบบการเมืองที่ไว้วางใจ ปชช. วอนหยุดเอา 16 ล้านเสียงผ่านประชามติมาเป็นข้ออ้าง

เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช … ยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด 12 มาตรา 256 หมวด 16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279 โดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,257 คนเป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชี้แจงผลกาประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มีเวลาอภิปราย 18 ชั่วโมง โดยให้ผู้เสนอร่างอภิปราย 3 ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง จะเริ่มอภิปรายเวลา 09.00 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน ถึงเวลา 03.00 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน และลงมติวาระรับหลักการโดยการขานชื่อรายบุคคลในเวลา 10.00 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน จากนั้นเข้าสู่วาระการประชุม

นายพริษฐ์ ชี้แจงว่า ผู้ป่วยคนหนึ่งที่ชื่อประเทศไทย เป็นผู้ป่วยที่ทุกคนรักและเป็นห่วงและอยากรักษาให้หายดี ปัจจุบันผู้ป่วยกำลังฟื้นฟูจากโควิด แต่ยังต้องเจอกับ 3 โรคร้ายแรงที่เจ็บมาก่อนและโดนโควิดมาซ้ำเติมให้อาการทรุดหนักลง ประกอบด้วย 1.โรคเศรษฐกิจอ่อนแอ 2.โรคความเหลื่อมล้ำเรื้อรัง และ 3.โรคประชาธิปไตยหลอกลวง คำถามที่สำคัญที่อยากถามสมาชิกรัฐสภาว่าจะจะรักษาผู้ป่วยคนนี้อย่างไร ที่ผ่านมาหลายฝ่ายพยายามเสนอยานานาชนิดมาบรรเทา ทั้งยาที่ชื่อว่าปฏิรูประบบราชการ การสร้างรัฐสวัสดิการ และการกระจายอำนาจท้องถิ่น เสนอไปเมื่อใด ยาเหล่านี้ก็ถูกปฏิเสธ เพราะร่างกายของประเทศถูกครอบงำจากไวรัสตัวหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

นายพริษฐ์กล่าวว่า อาการของผู้ป่วยทรุดหนักมากขึ้นช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ตรงกับเวลาช่วงที่คณะรัฐประหารยึดครองอำนาจของประเทศ หลายคนจึงสรุปว่าไวรัสตัวนี้ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หากเรากำจัดไวรัสนี้โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก หรือพ้นจากตำแหน่ง ผู้ป่วยก็จะหายและกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่อันตรายกว่า พล.อ.ประยุทธ์คือระบอบประยุทธ์ นั่นคือโครงสร้างและกลไกที่ พล.อ.ประยุทธ์และเครือข่าย สร้างตลอดมา 7 ปี และควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเกราะกายสิทธิ์ชิ้นพิเศษที่ค้ำจุนอยู่ในอำนาจได้ไม่ว่าจะบริหารประเทศได้ป่วยแค่ไหน หากรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยคือรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ซ้ำซ้อนไปกว่าของรัฐธรรมนูญของระบอบประยุทธ์เพื่อระบอบประยุทธ์โดยระบอบประยุทธ์ หากวิเคราะห์ตั้งแต่ที่มา กระบวนการและเนื้อหา รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวคือการสืบทอดอำนาจระบอบประยุทธ์ เพราะถูกเขียนโดยคนเพียงไม่กี่คนของ คสช. และไม่ได้เปิดรับฟังความเห็นของประชาชน

Advertisement

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ส่วนกระบวนการ แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติเมื่อปี 2559 แต่การทำประชามติไม่ได้เสรีและเป็นธรรมให้ทั้งสองฝ่ายสามารถรณรงค์ได้อย่างเป็นธรรมเลย ส่วนคำถามพ่วงก็ถูกเขียนให้ซับซ้อนและชี้นำ หากใครจะหยิบยกตัวเลข 16 ล้านเสียงที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเป็นข้ออ้างสกัดกั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

“อยากเตือนว่า 16 ล้านคนก็ไม่ได้เห็นชอบกับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปตลอดกาล ส่วนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขยายอำนาจของหลายสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้ง ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การเขียนรัฐธรรมนูญลักษณะนี้ไม่เพียงย้อนเข็มนาฬิกาประชาธิปไตย แต่เป็นความพยายามสกัดการแข่งขันและผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้ฝ่ายเดียว ด้วยเหตุนี้ อาการของผู้ป่วยที่ชื่อประเทศไทยจึงหนักหนาสาหัสที่ยาธรรมดาตัวหนึ่งจะรักษาได้ แม้จะจ่ายยาที่กำจัดไวรัสประยุทธ์ออกไปได้ แต่อีกไม่นานผู้ป่วยจะล้มอีกครั้งเพราะไม่แข็งแรง หรือมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์เดียวกันในอนาคตได้

Advertisement

“สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือทำให้ประเทศแข็งแรงเพื่อเดินสู่อนาคตผ่านการแก้รัฐธรรมนูญที่เปรียบเหมือนการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อแหล่งกำเนิดไวรัสที่มีชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2560 โดยวัคซีนแก้รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องฉีดสองเข็ม ซึ่งเข็มสองที่จะนำมาสู่ภูมิคุ้มกันคือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจแก้ไขทุกหมวดทุกมาตรา แต่กว่าวัคซีนเข็มสองจะมาอาจต้องใช้เวลา” นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution เปรียบเหมือนการฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งให้กับประเทศ แม้ร่างฉบับนี้อาจไม่สามารถแก้ทุกปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ แต่ปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดคือเป็นเครื่องมือของการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ดังนั้น เราจึงเสนอเนื้อหาที่ปลดอาวุธ 4 ข้อ คือ 1.การยกเลิก ส.ว.ปรับระบบรัฐสภามาเป็นสภาเดียวคือ ส.ส. โดยขั้นบันไดที่หนึ่ง ส.ว.ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันขาดความชอบธรรมเชิงประชาธิปไตย โดยอำนาจของ ส.ว.ต้องสอดคล้องกับที่มา ถ้า ส.ว.มีอำนาจสูง ที่มาต้องยึดโยงกับประชาชนสูงหรือมาจากการเลือกตั้ง แต่หาก ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งและไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน อำนาจก็จะสูงไม่ได้เช่นกัน ส่วน ส.ว.ของประเทศไทย โครงสร้างอำนาจและที่มาปัจจุบันไม่ได้สอดคล้องกับหลักการ เพราะมีอำนาจล้นฟ้าแต่ที่มาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่กลับได้อำนาจมากกว่าที่เคยเป็นมาหลาย 10 ปี ทั้งการให้มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส. ซึ่งขัดกับหลักหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งการร่วมโหวตกฎหมายปฏิรูปประเทศ มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระทุกคน แม้กระทั่งการยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายพริษฐ์กล่าวว่า สำหรับที่มาของ ส.ว.ชุดปัจจุบันจะพบว่าไม่ยึดโยงกับประชาชนและเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน จาก 250 คน มี 244 ที่มาจากการจิ้มเลือกโดยตรงและโดยอ้อมจาก คสช. เพื่อเข้าสภามาโหวตให้หัวหน้า คสช.กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง ส่วนอีก 6 คน คือผู้บัญชาการเหล่าทัพ และอีกความวิปริตหนึ่งคือการตั้งคณะกรรมการสรรหา 10 คน เพื่อมาสรรหา ส.ว. 250 คน ใช้งบประมาณประเทศ 1.3 พันล้านบาท และรายชื่อของคณะกรรมการสรรหา 3 ใน 10 แต่งตั้งพี่และน้องตัวเองมาเป็น ส.ว. ซึ่ง ส.ว.ที่มีโครงสร้างอำนาจและที่มาแบบนี้ไม่ควรมีที่ยืนอยู่ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

“สำหรับบันไดขั้นที่สอง รัฐสภาที่ดีที่สุด คือรัฐสภาที่ไม่มี ส.ว. แม้หลายฝ่ายจะพยายามเสนอแนวทางเพื่อปรับ ส.ว.ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเสนอทางไหนตนก็ไม่เห็น ส.ว.รับข้อเสนอเลย วันนี้ตนจึงขอเสนออีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานอคติ แต่เสนอด้วยหลักการที่ต้องการออกแบบโครงสร้างการเมืองไทยให้กระชับ ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ คือการใช้สภาเดียวเหลือเพียง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีข้อดีคือช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ เงินเดือน ส.ว.บวกที่ปรึกษา ผู้ติดตาม อยู่ที่ 800 ล้านต่อปี รวมค่าน้ำ ค่าฟ้า ค่าประชุม มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ไม่รู้คุ้มค่าหรือไม่ และช่วยให้มีกระบวนการนิติบัญญัติรวดเร็ว กระชับ” นายพริษฐ์ระบุ

นายพริษฐ์กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลการยกเลิก ส.ว.นั้น รับประกันว่าจะมีกลไกอื่นมาทดแทนได้และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า หากกังวลควรมี ส.ว.อยู่เพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลนั้น เราขอให้เพิ่มอำนาจ ส.ส.ฝ่ายค้านในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลแทน รวมทั้งให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการทำงานของรัฐได้ละเอียดขึ้น การออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่เปิดโปงการทุจริต ข้อทักท้วงการทุจริตต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีเรือดำน้ำ เกิดจากการทักท้วงของประชาชน ไม่ใช่การทักท้วงจาก ส.ว.

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า 2.การเสนอยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ เพราะตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีตัวแทนภาคประชาชน การกำหนดแนวทางบริหารประเทศล่วงหน้า 20 ปี ในสภาวะที่โลกมีความผันผวนเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่น่ากังวลคือการไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมีความผิด กำหนดให้ลงโทษรัฐบาลที่ไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติได้ ถึงขั้นขับรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งได้ เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจรัฐบาลประยุทธ์ และเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าข้อเสนอเหล่านี้ไม่สุดโต่ง เป็นเรื่องปกติในประเทศประชาธิปไตย ส่วนที่ระบุร่างแก้ไขฉบับประชาชนมีความขัดแย้งกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำขึ้นก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบจะแก้ไขเสร็จ เรายินดีแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนในชั้น กมธ. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบไป

“4 ข้อเสนอไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เป็นเหมือนวัคซีนเข็มหนึ่งที่พยายามแก้ประเด็นเร่งด่วน ผมอยากให้ทุกคนเปิดใจ ร่างฉบับนี้ไม่ต้องการโจมตีใคร เราแค่ต้องการรื้อระบบที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่ได้พยายามทำให้คนได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ ไม่ต้องการให้ประชาชนเสียเปรียบ เราต้องการสร้างระบบการเมืองที่เป็นกลาง ที่ทุกพรรคการเมืองมีโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่ได้ทำลายล้างสถาบันการเมือง

“หัวใจสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือสร้างระบบการเมืองที่ไว้วางใจประชาชน เลือกตัวแทนเข้ามาผ่านกลไกรัฐสภา ไม่ให้ทหารเข้ามายึดอำนาจแก้ปัญหา ขอให้หยุดหยิบยกเสียง 16 ล้านเสียง อ้างเป็นส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ขอให้รับร่างแก้ไขฉบับนี้ แล้วไปวัดที่การทำประชามติ” นายพริษฐ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image