10 เครือข่ายภาคปชช. ยื่น 12,116 รายชื่อ เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เข้าสภา

10 เครือข่ายภาคปชช. ยื่น 12,116 รายชื่อ เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (ภาคประชาชน) เข้าสภา

เมื่อเวลา 10:00 น. วันที่ 24 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา เครือข่ายประชาชน 10 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติด เครือข่ายพนักงานบริการ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายแรงงาน และเครือข่ายผู้สูงอายุ พร้อมด้วยนักวิชาการ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกันยื่น 12,116 รายชื่อ สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. … ฉบับภาคประชาชน ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำขึ้น เสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านทาง นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และ นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นตัวแทนรับรายชื่อ

โดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า การผลักดันให้มีพ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เป็นสิ่งที่เครือข่ายประชาชน 10 เครือข่ายเห็นพ้องต้องกัน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 27 และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยให้การรับรอง สอดคล้องกับงานศึกษาวิจัยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศนั้นมีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น กรณีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ถูกปฏิเสธถูกกีดกันโอกาสในการทำงาน บุคคลในกลุ่มชาติพันธุ์ถูกจำกัดการเรียน การเดินทาง หรือกลุ่มคนพิการที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตได้

Advertisement

“กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในสังคมไทย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงอยากขอให้นายกรัฐมนตรีรับรองร่างกฎหมายภาคประชาชนฉบับนี้ และขอให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เร่งเสนอร่างพ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการพิจารณาคู่ขนานไปกับร่างของภาคประชาชน รวมทั้งขอให้พรรคการเมืองต่างๆ สนับสนุนร่างกฎหมายภาคประชาชนฉบับนี้ หรือจะเสนอร่างของพรรคโดย ส.ส. ไม่น้อยกว่า 20 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลได้ยิ่งดี

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นื่นรายชื่อแล้ว กลุ่มเครือข่ายได้มีการแสดงละครสั้น ที่มีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นการเลือกปฏิบัติในสังคม

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image