‘ไอลอว์’ จัดเสวนาหน้ารัฐสภา นักการเมือง-เอ็นจีโอ จี้ส.ส.โหวตรับ กม.รื้อทิ้งคำสั่งคสช.

“ไอลอว์” จี้ สภารับร่างกม.รื้อมรดกคสช. หลักการวาระแรก ขู่ ส.ส.คนไหนไม่รับ-เตะถ่วง อนาคตการเมืองดับแน่ นักการเมือง-เอ็นจีโอ ชำแหละความเลวร้ายอำนาจคสช. ด้าน “เพื่อไทย” วอน ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล ช่วยปชช.

เมื่อเวลา 16.15 น. วันที่ 30 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานประชาชน บริเวณด้านข้างอาคารรัฐสภา แยกเกียกกาย โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) และเครือข่าย People Go จัดกิจกรรม “รวมพลังประชาชน รื้อมรดกคสช.” เพื่อแสดงพลังเรียกร้องให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ รับหลักการร่างกฎหมายของประชาชน เข้าชื่อรื้อมรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือยกเลิกประกาศ และคำสั่งคสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 5 ปี ที่เราอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร มีการออกคำสั่ง และออกกฎหมายต่างๆ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ไม่สามารถตรวจสอบหรือคัดค้านได้ โดยประกาศ และคำสั่งเหล่านี้ เป็นอำนาจสูงสุดใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เราอยู่ภายใต้บรรยากาศแบบนี้เป็นเวลา 5 ปีกว่า ทั้งนี้ เราประกาศจะปลดอาวุธ คสช. คือ การปลดอาวุธทางกฎหมาย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2562 เรารวบรวมรายชื่อจนครบและยื่นต่อสภา วันนี้หมือนจะมีข่าวดี หลังจากได้รับแจ้งว่าร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่งคสช. กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สภาจากการเลือกตั้ง จะได้ทบทวนมรดกของคณะรัฐประหาร

“หวังว่าพรุ่งนี้ (1 ธันวาคม) ส.ส.ซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนจะไม่ปฏิเสธร่างกฎหมายฉบับนี้ รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขก็ได้ หากนักการเมืองคนไหนไม่มา เสนอให้เลื่อน หรือลงมติไม่รับ เราจะไม่เลือกคนเหล่านี้ มาเป็นผู้แทนประชาชน พวกเขาจะไม่มีอนาคตทางการเมืองอีกต่อไป” นายยิ่งชีพ กล่าว

Advertisement

จากนั้น มีการจัดวงเสวนาเกี่ยวกับผลกระทบจากมรดกคสช. โดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การใช้คำสั่งคสช. มีผลใน 2 ลักษณะ คือ คำสั่งที่จำกัดสิทธิ เสรีภาพ และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน กับ คำสั่งที่มีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างการพัฒนาประเทศ คำสั่งคสช. มีลักษณะพิเศษคือไม่ต้องฟังเสียงประชาชน ทุกด้านคำนึงถึงธุรกิจทุนขนาดใหญ่ โดยไม่ได้คำนึงถึงประชาชนทั่วไป ส่วนเรื่องการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ เป็นเรื่องที่ต้องยกเลิกโดยเร็ว

ด้าน น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญปี 59 ต้องมีการทำประชามติ ตนอ่านแล้วพบว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนจะเสียสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงได้แสดงความเห็น โดยปฏิบัติตามคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ส่งจดหมายไปตามบ้านเรือนประชาชน โดยบอกถึงข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย จึงส่งไปตามบ้านเรือนประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนเอง แต่หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ มีข่าวใหญ่ว่ามีการจับจดหมายบิดเบือนรัฐธรรมนูญ และตามจับคนทำจดหมาย ทำให้ถูกแจ้งข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และต้องขึ้นศาลทหาร

Advertisement

“ทุกคนได้รับผลกระทบจากคำสั่งคสช.ถ้วนหน้า จึงอยากเรียกร้องส.ส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ช่วยกันรื้อมรดกคสช.ก่อน ด้วยการรับหลักการเพื่อแก้คำสั่งช่วยประชาชน อยากให้ประชาชนช่วยกันจับตาดูในวันพรุ่งนี้” น.ส.ทัศนีย์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในพื้นที่ป่าคุณทวงคืนให้โดยให้ประชาชนออกจากพื้นที่ แต่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำทำเหมืองแร่ได้ รวมถึงการควบคุมบุคคลไม่ให้สื่อสารความคิดต่าง คือสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนในยุคคสช. ดังนั้น คำสั่งคสช.ได้รวบอำนาจทรัพยากรเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยมีหัวหน้า คสช.เป็นประธาน ซึ่งอำนาจเหล่านี้ไม่ควรมีอยู่ เราแค่ขอกลับไปสู่สภาวะปกติ และไม่ควรเห็นว่าการใช้อำนาจลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image