ปิยุบตร’ วิพากษ์การเมืองไทย ปี 64-65 ชี้ ปชช.หมดศรัทธา สถาบันการเมือง ส.ส.โดดประชุม -ส.ว.หวงอำนาจ

ปิยุบตร’ วิพากษ์การเมืองไทย ปี 64-65 ชี้ ปชช.หมดศรัทธา สถาบันการเมือง ส.ส.โดดประชุม -ส.ว.หวงอำนาจ-องค์กร(ไม่)อิสระ ย้ำชัด รอยปริ พรรคฝ่ายค้าน-พรรครัฐบาล ทุกฝ่ายเห็นตรง ‘ก้าวไกล’ แกะดำการเมืองไทย ตัวประหลาดต้องกำจัด เผยไต๋ เปลี่ยนกติกาเลือกตั้ง ทำได้ส.ส.ลด แนะ โหมเรียกคะแนนป๊อปปูล่าโหวต ให้ได้ 10 ล้าน ก่อสึนามิ กระเพื่อมการเมือง เสนอ ม็อบเปลี่ยนวิธีเคลื่อน มารณรงค์ความคิด เหตุ รัฐตั้งรับใช้อำนาจปรามจนอยู่หมัด

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการเมืองปี 2564 และปี 2565 ว่า ตนขอแบ่งเป็น 1.การเมืองในสถาบันการเมือง และ 2.การเมืองนอกสถาบันการเมือง

โดย 1.การเมืองในสถาบันการเมือง ในปี 2564 เป็นปีที่สถาบันการเมือง มีพฤติกรรมและมีการใช้อำนาจจนทำให้ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธา และสิ้นหวังมากยิ่งขึ้น สภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นบรรยากาศที่ห้องประชุมโหลงเหลง สมาชิกวุฒิสภา ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขัดขวางสิ่งที่จะมาแตะอำนาจของตัวเอง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยขัดหูขัดตาประชาชนหลายกรณี และองค์กรอิสระมีคำวินิจฉัยที่ประชาชนตั้งคำถามถึงความเป็นกลาง และความเป็นอิสระ พฤติกรรมเหล่านี้ของสถาบันการเมืองทำให้ประชาชนรู้สึกสิ้นหวังและเชื่อว่าจะถึงทางตันและก็คิดว่าจะแก้อย่างไร

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในปี 2564 หากมองที่ฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาล เราจะเห็นรอยปริร้าวมากยิ่งขึ้น สาเหตุมาจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดจากการรวมตัวกันเฉพาะกิจ เพื่อสืบทอดอำนาจและดันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเวลาผ่านไปได้เกิดความแตกร้าวกันภายในพรรค ซึ่งมาจากเรื่องผลประโยชน์และตำแหน่งรัฐมนตรี จนทำให้เกิดกลุ่มก้อนภายใน ความจริงโมเดลนี้ก็เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ พล.อ.เปรม จัดการได้ ส่วนในฝั่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็มีความคิดความเห็นที่แตกต่างกันของ 2 พรรคฝ่ายค้านใหญ่คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล สาเหตุมาจากการคิดไม่เหมือนกันตั้งแต่เริ่มต้น โดยที่ผ่านมาสังคมได้มองร่มที่ชื่อว่าฝ่ายประชาธิปไตย ที่เกิดจากการต่อต้านการรัฐประหารปี 2549 การรัฐประหารปี 2557 การสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 และการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จึงไปกองรวมกันในชื่อฝ่ายประชาธิปไตย แต่วิธีคิดอุดมการณ์และการทำงานแตกต่างกันตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นเมื่อทำงานไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นความแตกต่าง จนผู้สนับสนุนทั้งสองพรรคตั้งคำถามว่าตกลงแล้วอยู่ฝ่ายค้านร่วมกันจริงหรือไม่ เป็นรอยปริร้าวทั้งในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดย กลุ่มต่างๆ ทั้งระบบของอำนาจรัฐจะเริ่มแสดงรอยปริร้าวออกมามากยิ่งขึ้น เพราะอำนาจนำแบบเดิมจบไปแล้วและอำนาจนำแบบใหม่ยังเกิดขึ้นไม่ได้

Advertisement

ต่อมาในปี 2565 การเมืองในสถาบันการเมืองน่าจะเป็นปีที่ถนนหนทางวิ่งไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งซ่อมในหลายเขต การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และในช่วงปลายปีจะมีกระแสและสถานการณ์กดดันให้ยุบสภา โดยเฉพาะภายหลังผ่านกฎหมายการเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองผ่าน รัฐบาลเองก็คงจะต้องเร่งสปีดทำผลงานและอัดเงินเข้าระบบผ่านนโยบายลดแลกแจกแถม เพื่อเตรียมการสู่การเลือกตั้ง เช่นเดียวกันที่บรรยากาศทางการเมืองจะกลับมาคึกคัก มีการชักชวนให้ย้ายพรรค และเปิดตัวพรรคใหม่

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังคงอยู่ แม้คนจะรู้แล้วว่าแก้ไม่ได้ในทางความเป็นจริง แต่ก็จะมีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องอย่างแน่นอน และการรณรงค์เหล่านี้ในท้ายที่สุดจะถูกแปรสภาพให้เป็นนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อนำไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่

Advertisement

“พรรคที่จะเสียเปรียบจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ ผมปฏิเสธไม่ได้ว่าคือพรรคก้าวไกล ที่จะเสียเปรียบที่สุด จากการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง นอกจากนี้จะถูกกลไกรัฐเข้าบดขยี้อย่างต่อเนื่องแน่นอน” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า การทำงานของพรรคก้าวไกลทำให้พรรคกลายเป็นแกะดำและตัวประหลาดของการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน ตนคิดว่าไม่มีฝ่ายไหนดีใจ หากพรรคก้าวไกลเติบโตมากขึ้น และหากพรรคก้าวไกลหายไปในทำนองเดียวกับที่พรรคสังคมนิยมและพรรคพลังใหม่ ถูกปราบลงในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 โดยหากพรรคก้าวไกลมีชะตากรรมเหมือนกับสองพรรคดังกล่าว ตนเชื่อว่าตัวละครในระบบการเมืองทุกพรรคจะดีใจแน่นอน เพราะสามารถจัดการตัวประหลาดออกจากระบบการเมืองไทยได้ ตัวที่ชี้ชัดในประเด็นนี้คือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งทำให้พรรคก้าวไกลต้องรับสภาพว่าจะได้จำนวนส.ส. ลดลง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังพิสูจน์ว่าพรรคก้าวไกลจะไปต่อได้หรือไม่คือ คะแนนป๊อปปูลาโหวต ถ้าย้อนไปในสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนป๊อปปูลาโหวต 6.3 ล้านคะแนน หากพรรคก้าวไกลสามารถทำคะแนนป๊อปปูลาโหวต มาที่ 8-10 ล้านคะแนน แม้จะได้ ส.ส. ลดลงเหลือ 50 ถึง 60 คน ตนถือว่านี่คือความสำเร็จ ที่สะท้อนว่ามีคนไทยประมาณ 20-25 % ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลอยู่ ถือเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ของการเมืองไทยได้เหมือนกัน

นายปิยบุตร กล่าวว่า 2.การเมืองนอกสถาบันการเมือง ในปี 2564 เป็นช่วงขาลงของสถาบันการเมืองสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และรัฐสามารถตั้งหลักได้แล้วว่าจะจัดการกับการชุมนุมรอบนี้อย่างไร คือการใช้นิติสงคราม การใช้กลไกทางกฎหมายตั้งข้อหากับแกนนำหลายคน และใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุม

แต่ในปี 2565 จะเป็นช่วงเวลาแห่งการท้าทายของกระบวนการนอกสถาบันการเมือง เพราะจะไม่ได้มีแค่เสียงเรียกร้องของราษฎร เยาวชน และคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่จะมีการชุมนุมเกี่ยวกับเรื่องปัญหาเฉพาะของแต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาปากท้องที่ได้รับการเยียวยาไม่พอจากวิกฤต โควิด-19 ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ทำให้ต้องปรับกระบวนทัศน์และกระบวนยุทธรับมือกับความรุนแรงที่รัฐก่อขึ้น ที่แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ 1.แบบป้องกัน คือการไม่ให้ไปชุมนุมและลงถนน โดยหลักหมายสำคัญ ของรอบนี้เกิดขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองเป็นการวางสนุ๊กเพื่อให้จับผู้ชุมนุมให้หมด จนทำให้ผู้ชุมนุมต้องคิดหาทางรอดจากคำวินิจฉัย ในการแสดงออกทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีพระราชกำหนดฉุกเฉินที่ประกาศใช้แช่แข็งไว้ยาว ซึ่งนำมาใช้เกี่ยวกับการชุมนุมมากกว่าแก้ไข โควิด-19 และ 2.แบบปราบปราม คือการใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมจากนั้นก็จับดำเนินคดี หากเป็นแกนนำม็อบก็จับตัวไปคุมขัง ซึ่งทิศทางการเมืองในปี 2565 จะเป็นแบบนี้ต่อไป

นายปิยบุตร กล่าวว่า ปัญหาที่จะเกิดตามมาคือฝ่ายประชาชนที่ต้องการชุมนุมเรียกร้องจะปรับกระบวนยุทธเพื่อสู้กับมาตรการและความรุนแรงที่รัฐใช้รอบนี้อย่างไร หากยังชุมนุมแบบเดิมคือ เมื่อรัฐใช้ความรุนแรงมาก็ใช้ความรุนแรงกลับ ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร อีกแบบคือการเปลี่ยนวิธีการสู้ใหม่ซึ่งตนสนับสนุนแนวคิดนี้ หากยังใช้วิธีแบบแรกก็รู้ว่า 1.กำลังของผู้ชุมนุมไม่สามารถสู้กับกลไกรัฐที่มีมากมายมหาศาลได้ 2.ผู้เข้าร่วมชุมนุมค่อยๆ หายไป เพราะกลัวจะพบกับความรุนแรง และ 3.ภาพลักษณ์ความชอบธรรม ของการชุมนุมจะถูกลดทอนลงไป ข้อเสนอและข้อเรียกร้องของการชุมนุมจะหายไป เหลือแต่เพียงภาพของการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่

“ผมเห็นว่าการชุมนุมแบบเดิมได้ไปสุดทางแล้ว เพราะฝ่ายรัฐตั้งรับได้แล้ว จึงอยากให้เปลี่ยนมาใช้วิธีการรณรงค์ทางความคิด โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งต้องนำกลับมาคุยและทำงานทางความคิดกันใหม่โดยสามารถสื่อสารการปฏิรูปสถาบันฯ ในลักษณะที่มีไมตรีต่อกัน และดูน่ารักได้ สามารถทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอดทนฟังได้” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า นอกจากนี้จะต้องนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศที่มีหลากหลายเรื่อง เพื่อทำให้เห็นว่านี่คือความต้องการของประชาชนทุกคนทุกฝ่าย ที่รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองได้จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image