‘ปิยบุตร’ ชี้ปี 2565 ม็อบต้องปรับยุทธวิธี เชื่อรัฐยังใช้การปราบปรามรุนแรง

‘ปิยบุตร’ ชี้ปี 2565 ม็อบต้องปรับยุทธวิธี เชื่อรัฐยังใช้การปราบปรามรุนแรง เผย ต้องมี ส.ส.แบบปฏิวัติเป็นผู้นำปชช.แทนส.ส.แบบราชการ

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นายปิยบุตร แสงกนกกุล กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคดีความของเยาวชน นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีซึ่งในปี 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดี 161 คดี ว่า ตนมองว่ายุทธวิธีของฝ่ายรัฐก็จะใช้แบบเดิม มีมาตรการความรุนแรงทั้งในเชิงป้องกันและปราบปรามเหมือนเดิม ถ้ากลัวก็อย่าออกมา ถ้าออกมาก็จะเป็นเหมือนที่เกิดขึ้น เขาเดินหน้าแบบเดิมแน่นอน ซึ่งไม่ใช่เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่ทิศทางของรัฐบาลอำนาจนิยมทั่วโลกทำอย่างนี้หมด เวลามีการชุมนุมที่มีการขับเคลื่อนเรียกร้องจนไปทุบเอากล่องดวงใจของรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐมีกล่องดวงใจไม่เหมือนกัน ตำรวจ ทหารกลไกรัฐก็จะออกมารุมขย้ำและใช้วิธีการเดียวกันหมด ซึ่งการปราบปรามจะนำมาซึ่งการลดทอน ความชอบธรรมของรัฐลงเรื่อยๆ เพราะภาพมันออกมาทุกวันว่าคุณใช้ความรุนแรงทางกายภาพเข้าทุบ ตี สลายการชุมนุม

นายปิยบุตร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามคนคิดว่าวิธีการคิดของรัฐ เขาไม่สนใจเรื่องนี้โดยอ้างว่าหากตำรวจทำผิดก็ไปฟ้องดำเนินคดี แต่กว่าจะฟ้องและดำเนินคดีก็ต้องใช้เวลาอย่างมาก ในขณะเดียวกันการที่รัฐจะตีกบาลคนมันไม่ต้องคิดหนักมันตีเลยเพราะวิธีคิดคือต้องหยุดไม่ให้เข้าแสดงออก หยุดไม่ให้เขาขยับเขยื้อนพื้นที่ และเชื่อว่าตัวเขาไม่ผิด วิธีคิดของรัฐเป็นแบบนี้มาตลอดพร้อมใช้กำลังตลอดเวลา ดังนั้นในปี 2565 ก็จะเป็นอีกเช่นเคย คือมีการปะทะ แต่ถ้าปะทะแล้วไม่ได้อะไรเลยมันก็ต้องหาวิธีใหม่ ซึ่งตนจะพยายามหาวิถีทางนำเสนอในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ด้วยวิธีใหม่ ที่ไม่ใช่วิธีการในลักษณะเดิม

เมื่อถามว่าการชุมนุมจะรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นมีการนองเลือดหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนมองว่าจะไม่ถึงขั้นนองเลือด เพราะ หนึ่งปีหน้าเป็นปีที่เตรียมเข้าสู่การเลือกตั้ง สองถ้าเราพูดถึง 14 ตุลาคม 2516, 16 พฤษภาคม 2535 และพฤษภาคม 2553 คนมาเยอะมากตำรวจจึงใช้อาวุธจริงยิง แต่รอบนี้ก็ยันอยู่แบบนี้คือมาชุมนุมประมาณ 2,000-3,000 คน จากนั้นก็มี คฝ.มาควบคุม นวดกันไปนวดกันมา คล้ายๆ กับที่ฝรั่งเศสเจอทุกวันเสาร์ มีกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองมาชุมนุม มีการปะทะกัน แล้วแยกย้าย ตนจึงเสนอว่ามันจะเป็นภาพแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะหนึ่งข้อเรียกร้องมันหาย มันไม่มีภาพข้อเรียกร้องบนที่สาธารณะแล้ว เหลือแต่ภาพ คฝ.ไล่ตีประชาชน และการรณรงค์แทนที่จะไปพูดในประเด็นต่างๆ ก็ต้องมารณรงค์ให้ปล่อยเพื่อนเรา ในปี 2564 ข้อเรียกร้องที่พูดกันหายไปหมดเลย ปีหน้ายิ่งจะหายหมด สองจำนวนคนมาชุมนุมก็จะลดลง เพราะไปร่วมชุมนุมแล้วมีการปะทะ สามภาพลักษณ์ของการชุมนุมจากปี 2563 ที่ขึ้นมาอย่างสดใส เมื่อถูกรัฐยั่วและเล่นงาน พอคนโดนตีก็โมโห เป็นเรื่องปกติ ทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้หมด และทำให้การชุมนุมค่อยๆ ฟีบลงๆ ข้อเรียกร้องหายไป ๆ

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ตนจึงเสนอว่าต้องปรับใหม่ เวลาสร้างขบวนการชุมนุมเรียกร้องไม่ควรไปยึดติดกับภาพความสำเร็จภาพเดียวที่ได้มา ตนเข้าใจว่าหลายคนเห็นภาพปี 2563 แล้วอยากเห็นแบบนั้นอีก แต่ต้องรู้ว่ารัฐมีวิธีสู้และวิธีปรับกระบวนทัศน์เช่นกัน ฝ่ายผู้ชุมนุมจึงต้องปรับวิธีการเดินใหม่ เว้นเสียแต่ว่าคุณมาเป็นแสน ซึ่งตนเชื่อว่า 2565 ไม่มีที่จะมาเป็นแสน ส่วนจะปรับอย่างไรนั้น โดยเฉพาะในเรื่องปฏิรูปสถาบัน มันไม่สามารถใช้รูปแบบการชุมนุมในการสื่อสารเรียกร้องได้อีกแล้ว คุณูปการของราษฎรคือเอาเรื่องสถาบันขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ เอามาพูดกันแบบไม่มีใครพบเห็นมาก่อน แต่ประเด็นปฏิรูปสถาบันมันไม่สามารถไปต่อได้ด้วยวิธีการชุมนุมได้อย่างเดียวแล้ว มันต้องมีส่วนอื่นๆ เข้ามาเติม

Advertisement

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ตนเรียกร้องว่า หนึ่งคนที่มีทักษะความคิดความรู้ ปัญญาชนสาธารณะ ควรจะต้องเข้ามาพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันให้เยอะขึ้น เพราะมีทักษะในการอภิปรายและอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยมากกว่าการชุมนุม และสารสามารถสื่อไปถึงกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยได้ง่ายกว่าใช้วิธีการแสดงออกแบบการชุมนุม สองพรรคการเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาขึ้นเสนอการเรียกร้องไปผลักดันต่อในสภาหรือในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ เพราะเป็นข้อเรียกร้องของคนจำนวนมาก และหากนำไปผลักดันต่อก็ไม่จำเป็นต้องมีการชุมนุมเหมือนที่ผ่านมา

เมื่อถามว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้การผลักดันต่อในสภาเป็นเรื่องลำบาก นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ปัญหาคือมวลชนนำหน้าพรรคการเมืองไปแล้ว พรรคการเมืองต้องเป็นพรรคที่นำหน้ามวลชนหนึ่งก้าวพอ ไม่ต้องมาก เพื่อทำให้การเมืองที่ร้อนระอุอยู่ข้างนอกจนไม่รู้จะจบอย่างไร และประชาชนติดคุกติดตารางกันเต็มไปหมดจะได้เบาลง ยกตัวอย่าง หากจะมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งขับเคลื่อนเรื่องนี้ แน่นอนที่สุดไม่ใช่เอาหัวชนฝา ซึ่งหากอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ดีก็มีช่องทางอยู่ ไม่ใช่เขียนแบบปิดล้อมหมด ขบวนข้างนอกก็จะหนุนเสริมพรรคการเมืองนั้นอีก แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย แล้วปล่อยให้ขบวนข้างนอกเดินอยู่แบบนี้ และโดนจับอยู่เรื่อยๆ ตนก็ไม่รู้ว่าจะมาตั้งพรรคการเมืองและเป็น ส.ส. กันเพื่ออะไร ยุบก็ยุบกันไปก็เคลื่อนไหวต่อในรูปแบบอื่น ส่วนใครจะเป็น ส.ส. ก็ตั้งกันใหม่และทำต่อ ซึ่งเราขาดนักการเมืองและพรรคการเมืองแบบนี้ ในช่วงยามแบบนี้มันจำเป็นต้องมีตนเรียกว่า ส.ส. แบบปฏิวัติ ( Revolutionary Member of Parliament ) ทุกวันนี้เรามีแต่ ส.ส.แบบราชการ ที่ไม่ต่างกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ลงเลือกตั้ง

เมื่อถามว่าการเมืองไทยเหมือนมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นายปิยบุตร กล่าวว่า หากรัฐใช้อำนาจนิยมมาก ๆ ไม่ได้หมายถึงว่ารัฐแข็งแกร่ง แต่แสดงว่ารัฐอ่อนแอ และเป็นโค้งสุดท้ายแล้ว เพราะถ้าหากแข็งแกร่งจริงก็ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจเลย ไม่ต้องใช้การกดขี่ ปราบปราม หรือใช้ศาล ทหาร คุกตำรวจกับประชาชน แต่ที่ต้องใช้เพราะมันเอาไม่อยู่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image