ญาติวีรชนพฤษภา 35 ประกาศจัดใหญ่เทียบ ‘กวางจู’ ชูประเด็น 734 คนหาย

ญาติวีรชนพฤษภา 35 ประกาศจัดใหญ่เทียบ ‘กวางจู’ ชูประเด็น 734 คนหาย ขุดความจริงให้ปรากฏ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 26 มกราคม ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 แถลงข่าวเตรียมจัดงานรำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ครบรอบ 30 ปี (17 พฤษภาคม 2535-17 พฤษภาคม 2565) ในรูปแบบงานรำลึกสืบสานวีรชน “30 ปี พฤษภาประชาธรรม”

โดยเวลา 10.25 น. นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เริ่มต้นด้วยการกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนง ที่ตลอดเวลาได้อุ้มชูพวกตน หากสื่อไม่เป็นผู้ใหญ่ที่ช่วยอุ้มชูพวกตน ญาติวีรชนพฤษภาก็คงไม่มีวันนี้ สื่อมวลชนไม่เคยขาดการสนับสนุนให้แก่ญาติ ทำให้องค์กรยืนอยู่ได้ตลอดมาจนถึงปัจจุบันขึ้นปีที่ 30

“ตลอดเวลานับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความสูญเสียและความรุนแรงเกิดขึ้น ครอบครัวและญาติผู้สูญเสียทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่าพยายามที่จะรณรงค์ หรือเรียกร้องต่อสังคมว่าอย่าให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราพยายามที่จะเข้าไปร่วมกับกรรมการสมานฉันท์เพื่อทำให้บ้านเมืองอยู่กันอย่างสงบสุข ถึงแม้จะมีความคิดที่แตกต่างกันก็ต้องอยู่ด้วยกันได้” นายอดุลย์กล่าว

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์
อดุลย์ เขียวบริบูรณ์

จากนั้น เวลา 10.32 น. นายปรีดา เตียสุวรรณ์ กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า 30 ปีนี้ต้องถือว่าเป็น 30 ปีที่พิเศษ ซึ่งจะตรงกับ 90 ปี ของการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนไทย ซึ่งมีความหมายใน 3 มิติ ที่สำคัญ

Advertisement

“มิติแรก ผู้เสียชีวิตและผู้ที่สูญหายรวมกันแล้วมี 88 คน ตอนนี้ชื่อจึงถูกจารึกอยู่บนอนุสรณ์สถาน รวมถึงมูลนิธิเองได้รับการร้องเรียนมาอีก 400-500 คนว่าสูญหายไป และปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการสืบเสาะเหตุการณ์ ยังถือว่าเป็นผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬถึง 400-500 คน เพิ่มจากที่ปรากฏอยู่ในอนุสรณ์สถาน จึงนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยมากที่สุด

“มิติที่สอง คือเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ถือว่าร่วมสมัยที่สุด และจะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะว่าคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 30 ปีก่อน กว่าครึ่งของจำนวนของบุคคลเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเรามาเจอกันอีกที 10 ปีให้หลัง คนเหล่านั้นจะเหลือไม่ถึงเศษ 1 ส่วน 3 เพราะฉะนั้นนี่คือโอกาสสำคัญของเราผู้รักประชาธิปไตย ที่จะต้องออกมารวมพลังกันให้เต็มที่ ช่วยกันจัดให้งาน 30 ปีนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ในประเด็นที่ว่าเราในฐานะปุถุชนชาวไทย เราต้องการที่จะได้ประชาธิปไตย เพราะนี่เป็นโอกาสที่สำคัญ” นายปรีดากล่าว

เวลา 10.40 น. นายวีระเดช สมบูรณ์เวชชการ กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า ในวันนี้เป็นปีสำคัญที่ครบรอบ 30 ปี ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการตัวแทนธุรกิจเพื่อสังคม ก็จะเข้าร่วมงานในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้

Advertisement

เวลา 10.58 น. นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า จุดเด่นของเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่ครบรอบ 30 ปี คือญาติวีรชนพฤษภา 35 จะยกประเด็นเรื่องคนหาย 734 คน ที่สงสัยว่าถูกฝังกลบไว้ที่บริเวณค่ายทหารของกองพลฯ 9 เพื่อเปิดเผยว่าคนหายอยู่ที่ใด ให้ความจริงปรากฏ และทำให้งานยิ่งใหญ่และจดจำได้เหมือนเหตุการณ์ที่กวางจู ประเทศเกาหลีใต้

“โดยส่วนตัวจะทำงานนี้ให้เป็นที่จดจำ ไม่ใช่เป็นงานที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่การที่จะทำให้ยิ่งใหญ่และจดจำได้เหมือนเหตุการณ์ที่กวางจู เมื่อตอนครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์กวางจู ประเทศเกาหลีใต้ โดยเฉพาะประธานาธิบดีและประชาชนที่กวางจูได้ออกมาชุมนุมเพื่อเฉลิมฉลองระลึกถึงเหตุการณ์ที่กวางจูเต็มถนนมืดฟ้ามัวดิน รัฐบาลเกาหลีใต้ยังให้ความสำคัญกับอนุสรณ์สถานมากกว่ากับเหตุการณ์นี้ ให้พื้นที่เป็นรายๆ เพื่อสร้างอนุสรณ์สถาน และเก็บกระดูก หรือศพของผู้ตายไว้ที่นั่น

“เมื่อผมกลับมาที่อนุสรณ์สถานของพฤษภา 35 แตกต่างกันอย่างฟ้ากับดิน กว่าเราจะได้อนุสรณ์สถานพฤษภา 35 เรียกได้ว่าเลือดตาแทบกระเด็น ไม่ได้เงินจากรัฐบาลแม้แต่สตางค์แดงเดียว เพราะฉะนั้นนี่เป็นประเด็นที่ผมควรมาคิดว่าทำไมเกาหลีใต้ถึงสามารถเคลื่อนย้ายให้กระบวนการประชาธิปไตยเดินทางมาจนถึงทุกวันนี้ และนำความเจริญให้กับประเทศได้ เป็นสิ่งที่เราอยากเสนอ” นายพิภพกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image