ชัชชาติ ชำแหละ 8 ข้อ หลังจบวิ่งเขตบางคอแหลม ชูกรุงเทพฯ 15 นาที แนะทบทวนรื้อแท่นน้ำประปาดื่มได้

ชัชชาติ ชำแหละ 8 ข้อ หลังจบวิ่งเขตบางคอแหลม ชูกรุงเทพฯ 15 นาที แนะทบทวนรื้อแท่นน้ำประปาดื่มได้

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หนึ่งในว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามอิสระ เผยถึง 8 ประเด็นที่น่าสนใจ ภายหลังวานนี้ (12 กุมภาพันธ์) ทีมเพื่อนชัชชาตินัดไปวิ่งที่เขตบางคอแหลม กทม.ว่า เมื่อวาน ทีมเพื่อนชัชชาตินัดกันไปวิ่งที่เขตบางคอแหลม เริ่มที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ใต้สะพานพระราม 9 ถนนพระรามที่ 3 วิ่งในสวนเสร็จ 5 รอบ แล้ววิ่ง City Run ไปตามถนนพระราม 3 ไปสำรวจสวนสาธารณะใต้สะพานกรุงเทพ เดินไปตามถนนเจริญกรุง เข้าชุมชนสวนหลวง 1 ซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนวัดพระยาไกร ระยะ 3 ในซอยเจริญกรุง 91 จากนั้นแวะไปดูท่าเรือวัดวรจรรยาวาส (เจริญกรุง 72) และเยี่ยมศูนย์ฝึกอาชีพของ กทม. สิ่งที่น่าสนใจที่อยากมาแบ่งปันให้พวกเราฟังมีดังนี้ครับ

นายชัชชาติระบุว่า 1.สวนเฉลิมพระเกียรติใต้สะพานพระราม 9 สวยมากครับ อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสวนที่ทางการทางพิเศษมอบให้ กทม.ดูแลเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ตอนนี้ต้นไม้โต ให้ร่มเงาเต็มทั้งสวน คุยกับพี่ที่มาสวนประจำเล่าว่าเมื่อสักห้าปีที่แล้ว การทางจะขอที่คืนเพื่อเอาไปทำที่ก่อสร้างสะพานเส้นใหม่ แต่ประชาชนรวมตัวกันต่อสู้ จนสุดท้ายสวนยังคงอยู่ ในอนาคต กทม.ต้องพยายามหาพื้นที่ว่างทั้งของทางราชการและเอกชนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประชาชน โดยเรามีเป้าหมายกรุงเทพฯ 15 นาที คือต้องให้ทุกคนสามารถเดินถึงพื้นที่สีเขียว หรือลานกีฬาได้ภายใน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตร

นายชัชชาติระบุต่อว่า 2.ทางเท้าริมถนนพระราม 3 ยังมีสภาพไม่เรียบ รวมทั้งมีการขุดทำถนนเพื่อเอาสายไฟฟ้าลงดินกลางถนนพระราม 3 ต้องมีการปรับปรุงความปลอดภัยทั้งบนทางเท้าและบนถนนให้อยู่ในสภาพที่ดีกว่านี้ ระหว่างทางทีมนักวิ่งได้มีโอกาสใส่บาตรพระที่บิณฑบาตอยู่ริมถนนด้วย

Advertisement

“3.ผ่านตู้กดน้ำดื่มฟรี ที่ทาง กทม.กำลังจะรื้อทิ้งทั้ง 400 จุด คุยพี่แท็กซี่บอกว่ายังใช้เป็นจุดกรอกน้ำไว้ดื่มทุกวัน มีประโยชน์มาก จริงๆ แล้วถ้ามีโอกาสอยากให้ทบทวน ซึ่งจากที่เราลงพื้นที่ในหลายๆ จุดก็ยังเห็นคนมากดน้ำดื่มประทังความกระหายอยู่เสมอๆ

“4.สวนสาธารณะใต้สะพานกรุงเทพอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ไม่ได้รับการดูแล ทั้งๆ ที่ก็อยู่ในตำแหน่งที่ดี ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดินจากถนนเจริญกรุงไม่ไกล น่าจะพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพได้ดีกว่านี้

“5.ชุมชนสวนหลวง 1 ในซอยเจริญกรุง 103 เป็นชุมชนพี่น้องมุสลิม มีมัสยิดอัลอะติ๊กตั้งอยู่ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ เข้าออกด้วยซอยเล็กๆ เป็นทางเดินเท้าและมอเตอร์ไซค์ มีร้านอาหารที่น่าทานอยู่ตลอดทาง ขนานไปกับคลองสวนหลวง สามารถพัฒนาเป็นย่านอาหารฮาลาลได้” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า 6.ปัญหาที่พบในชุมชนบริเวณนี้ทั้งสวนหลวง 1 วัดพระยาไกรระยะ 3 คือทางเข้าออกชุมชนเป็นซอยเล็กๆ เข้าออกโดยการเดินและมอเตอร์ไซค์ การเข้าเก็บขยะมีปัญหา บางครั้งมีปัญหาขยะตกค้าง เรื่องนี้ต้องปรับปรุงกระบวนการในการนำขยะออกมาจากชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะต้องพัฒนาวิธีการขนขยะจากที่ใช้รถเข็น เป็นใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขนาดเล็กลากพ่วงถังขยะออกมาสู่ถนนใหญ่ที่รถขยะเข้าถึง อาจจะทำให้การลากขยะออกมาทำได้รวดเร็ว และทั่วถึงมากขึ้น

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า 7.วัดวรจรรยาวาส เดิมเคยมีท่าเรือสำหรับจอดเรือด่วนกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันท่าเรือชำรุด เสียหาย เรือไม่จอดรับส่งผู้โดยสารแล้ว คงต้องไปดูว่ายังมีความต้องการใช้งานหรือไม่ และเร่งประสานงานกับทางกรมเจ้าท่าในการปรับปรุงซ่อมแซมต่อไป รวมทั้งทำการเชื่อมโยงเส้นทาง รถ ราง เรือ เดิน ให้สะดวกปลอดภัยด้วย

“8.ศูนย์ฝึกอาชีพของ กทม.ที่วัดวรจรรยาวาสมีการฝึกอาชีพในหลายๆ ด้าน เช่น นวด ทำกาแฟ แต่งหน้าเค้ก ทำอาหาร ตัดผม ทำผม ตัดเย็บ ทำ Pattern หลักสูตรยอดฮิตคือ ช่างตัดผม และช่างทำผม ผมคุยกับพี่เจ้าหน้าที่บอกว่าปีๆ นึงมีคนมาเรียนประมาณ 15,000 คน หลายๆ คนมีอาชีพอยู่แล้วแต่มาหาความรู้เพิ่มเติม ได้คุยกับน้องพยาบาลจากโรงพยาบาลกลางที่มาเรียนนวด เพราะช่วยทำให้ดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น

“ศูนย์ฝึกอาชีพหลักของ กทม.มีอยู่ทั้งหมด 15 แห่ง และโรงเรียนฝึกอาชีพอีก 10 แห่ง จะเป็นบริการที่มีประโยชน์มากต่อประชาชน โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ที่หลายๆ คนต้องการหารายได้เสริม หรืองานใหม่ แต่ต้องมีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และถ้าสามารถคุยกับทางภาคเอกชน เพื่อสอบถามความต้องการและจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่น คนดูแลผู้สูงอายุ E-Commerce รวมทั้งหาตลาดงานให้หลังเรียนจบ ก็จะช่วยให้มีประโยชน์มากขึ้น วันเสาร์หน้า เรานัดกันวิ่งกันที่เขตบางบอน เดี๋ยวจะแจ้งพิกัดไปอีกทีนะครับ” นายชัชชาติกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image