อจ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ ยกรัฐธรรมนูญอธิบาย ชี้หากปรับสถานะโควิด รบ.ต้องยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน

อจ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ ยกรัฐธรรมนูญอธิบาย ชี้หากปรับสถานะโควิด รบ.ต้องยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงข้อสังเกตในประเด็นทางกฎหมายว่าด้วย “โควิด-19” กับการปรับเปลี่ยนเป็น “โรคประจำถิ่น” ว่า ติดตามข่าวมาหลายวันแล้ว ได้ยินว่าจะมีการประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” ในอีกไม่ช้า ซึ่งในความเห็นของผมนั้นควรทำความเข้าใจและมีข้อสังเกตเบื้องต้นในประเด็นทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างน้อย ดังนี้

ผศ.ดร.พรสันต์ระบุว่า 1.คำว่า “โรคประจำถิ่น” ไม่ใช่ถ้อยคำที่เป็นทางการ โดยใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จะใช้คำว่า “โรคติดต่ออันตราย” “โรคเฝ้าระวัง” และ “โรคระบาด” ซึ่งปัจจุบันโควิด-19 ถูกจัดอยู่ใน “โรคติดต่ออันตราย” จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ปี 2563 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข

“2.จากข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อเห็นว่าจะมีการประกาศให้โควิด-19 เป็น ‘โรคประจำถิ่น’ โดยอยู่ในฐานะ ‘โรคที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งแน่นอนว่าในทางกฎหมายมีความหมายแตกต่างจาก ‘โรคติดต่อร้ายแรง’ ทั้งนี้ มีความหมายว่าโควิดถูกปรับสถานะให้เป็นโรคที่มีความรุนแรงน้อยลงกว่าเดิม

“3.เนื่องจากก่อนหน้านี้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โควิด-19 เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ นั่นหมายความว่า หากจะปรับลดสถานะของโรคให้มีความรุนแรงน้อยลง ก็ย่อมต้องออกประกาศใหม่เพื่อยกเลิกสถานะเดิมและกำหนดสถานะใหม่ให้เป็น ‘โรคที่ต้องเฝ้าระวัง'” ผศ.ดร.พรสันต์กล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.พรสันต์กล่าวต่อว่า 4.หากทำการปรับเปลี่ยนตามข้อ 3. ย่อมส่งผลต่อสิทธิตาม ม.47 ของรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิแก่ประชาชนที่จะได้รับการป้องกันและขจัด “โรคติดต่ออันตราย” จากรัฐโดย “ไม่เสียค่าใช้จ่าย”

“5.หากรัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางกฎหมายเกี่ยวกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผลจากการ ‘ปรับเปลี่ยนสถานะ’ ของโควิด-19 จากเดิมที่เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ มาเป็น ‘โรคเฝ้าระวัง’ นี้ย่อมมีผลต่อการดำรงอยู่ของสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency) ณ ปัจจุบัน ที่อยู่บนเหตุผลเดิมตั้งแต่ปี 63 ที่ว่าโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายด้วย กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั่นเอง” ผศ.ดร.พรสันต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image