วิโรจน์ ชู 3 นโยบายปราบส่วย ชี้กลไกตรวจสอบต้องโปร่งใส ยัน กทม.คือผู้คน ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง

วิโรจน์ ชู 3 นโยบายปราบส่วย สร้างแพลตฟอร์มให้ง่ายต่อการร้องเรียน กลไกตรวจสอบต้องโปร่งใส ยัน กทม.คือผู้คน ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้ที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางบอน นายนิธิกร บุญยกุลเจริญ ผู้พัฒนาเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นสำหรับเป็นแพลตฟอร์มส่งข้อมูลร้องเรียนต่างๆ ผนึกกำลังร่วมกับนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. กทม.พรรคก้าวไกล เปิดตัวเว็บไซต์ “เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ” เพื่อสร้างการบริหารงานด้วยหลักการเมืองเปิดเผย โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนร้องเรียนและมีการตรวจสอบปัญหาส่วยคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดต้นทุนของคนหาเช้ากินค่ำ รวมถึงผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายกลาง ไม่ให้ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะอีกต่อไป

นายวิโรจน์ยืนยันว่า หากได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ พร้อมที่จะปราบส่วยด้วยนโยบาย 3 ข้อ ดังนี้ ข้อแรก วิโรจน์เสนอการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้ง่ายต่อการร้องเรียน นำเสนอข้อมูลอย่างเปิดเผย และมีการตรวจสอบ ยกตัวอย่าง เว็บไซต์เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ การมีแพลตฟอร์มในการรวบรวมหลักฐาน ระบุการกระทำความผิด จะช่วยตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องดูว่าจริงหรือไม่ หากจริง ต้องดำเนินการเอาผิด และไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ แพลตฟอร์มจะต้องเป็นตัวช่วยเชื่อมประชาชนและผู้ว่าฯกทม.

นายวิโรจน์กล่าวว่า ข้อสอง กลไกการตรวจสอบต้องโปร่งใส โดยเฉพาะเรื่องของจัดซื้อจัดจ้าง เราต้องสร้างกลไกความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง การจะทำให้คนอื่นสะอาดตัวเองต้องสะอาดก่อน จะต้องมีการนำเอาโครงการที่มีมูลค่าสูงทั้งหมดที่มีมาเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ เชิญองค์กรที่อยากตรวจสอบมาตรวจสอบ หากพบความไม่ชอบมาพากล หรือข้อสงสัยก็สามารถส่งข้อมูล คำถามเพื่อการตรวจสอบได้

วิโรจน์ยืนยันว่า การป้องกันการคอร์รัปชั่นที่ดีที่สุดคือความโปร่งใส ไม่ใช่การอวดอ้างว่าตัวเองเป็นคนดี และใช้การเป็นคนดีที่ตนอุปโลกน์ เป็นเกราะป้องกันการตรวจสอบตนและครอบครัวของตน อย่างนี้เรียกว่าเป็นกระบวนการจอมปลอมที่ไม่สามารถแก้ไขคอร์รัปชั่นได้

Advertisement

นายวิโรจน์กล่าวว่า ข้อสุดท้าย กรณีงบกลางในมือผู้ว่าฯกทม.ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 7,000 ล้าน ในระยะเวลาไม่กี่ปี ทำให้มีช่องว่างในการคอร์รัปชั่นกับโครงการใหญ่ๆ

“ผมตั้งคำถามว่าเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินที่เพิ่มมา 7,000 ล้านบาท ผู้ว่าฯไม่ได้รับโทรศัพท์จากคนอื่นๆ เจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หากผมเป็นผู้ว่าฯ จะไม่มีงบกลางในมือเกินจำเป็น แต่จัดสรรให้กับประชาชนผ่านโครงการที่เสนอโดยภาคประชาชนเอง เหมือนที่เมืองหลวงเอกของโลกอย่างปารีส ลอนดอนทำ คือการทำงบประมาณแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วม

“ผมขอย้ำว่ากรุงเทพคือผู้คน ไม่ใช่ทัศนียภาพหรือสิ่งปลูกสร้าง กทม.ต้องเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปากท้องที่ดีขึ้น ไม่ต้องเป็นเมืองติดอันดับโลก แต่ทำให้คนกรุงเทพมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี นี่คือกรุงเทพที่ควรจะเป็น” นายวิโรจน์ระบุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image