จนท.เขตบางรัก รับคำร้องขอสมรส ‘ฟ้า-แฟนหนุ่ม’ ก่อนแจ้งไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย

นายทะเบียนเขตบางรักรับคำร้องขอสมรส ‘ฟ้า-แฟนหนุ่ม’ ก่อนแจ้งขาดคุณสมบัติตาม กม.

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลา 10.45 น. ที่สำนักงานเขตบางรัก นายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า แกนนำกลุ่มราษฎรมูเตลู พร้อมแฟนหนุ่ม เดินทางเข้ายื่นความจำนงจดทะเบียนสมรส เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยมีกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และนักกิจกรรมหลายรายโดยสารรถสามล้อเคลื่อนตัวมาเป็นขบวนจอดหน้าประตูทางเข้า อาทิ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, สิริ นิลพฤกษ์ หรือทาทา นักเคลื่อนไหวผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

นายพรหมศรกล่าวในตอนหนึ่งว่า วันนี้ต้องการแสดงออกเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยขอให้คนไทยร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์ https://www.support1448.org ซึ่งล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วเกือบ 300,000 ราย จากนั้นได้เข้ายื่นคำร้องต่อนายทะเบียนซึ่งมีการถ่ายเอกสารใบคำร้องจดทะเบียนและบัตรประชาชนของทั้งคู่ โดยภายหลังได้รับเอกสารฉบับหนึ่ง นายพรหมศรอ่านออกเสียงท่ามกลางสื่อว่าได้ตรวจสอบคุณสมบัติของคู่สมรสแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นเพศชาย จึงไม่มีคุณสมบัติขึ้นทะเบียนสมรสได้ตามกระบวนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดให้ชายและหญิงเท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้

นายพรหมศรกล่าวว่า ค่อนข้างเสียใจพอสมควร ใช้คำว่าเสียใจมาก เหตุผลที่เสียใจมาจากที่ว่าความรักเป็นเรื่องสำคัญ เชื่อว่าความรักเป็นสิ่งสวยสดงดงาม

Advertisement

“ฟ้าเชื่อว่าฟ้าก็เป็นหนึ่งบุคคลที่เสียภาษี ฟ้าก็ไม่ต่างจากใครในประเทศไทยที่เสียภาษี ฟ้าไม่เข้าใจว่าทำไมฟ้าไม่ได้รับสิทธิที่ฟ้าควรได้รับตั้งแต่เกิด จริงๆ วันนี้เราไม่ควรมาเรียกร้องเรื่องนี้ เราไม่ควรมาสำนักงานเขตเพื่อมาสร้างความประทับใจ หรือสร้างความตื่นตระหนกตกใจให้สังคม จริงๆ การแต่งงานระหว่างชายชาย หรือหญิงหญิงก็ตาม ควรเป็นเรื่องปกติ และเป็นบรรยากาศของหลายๆ ประเทศ และมีข้ออ้างว่ากลุ่มศาสนา ศาสนิกชนอื่นอาจจะไม่พอใจ ถ้าเราไปเห็นในหลายๆ ประเทศเราจะได้เห็นว่าหลายๆ ประเทศที่มีความหลากหลายของศาสนา แล้วเขาอนุมัติให้สามารถจดทะเบียนได้ เราควรแยกความเชื่อกับสิทธิออกจากกัน จริงๆ เราเดินทางมาเหมือนคู่รักทั่วไป ยื่นขอใบจดแจ้งว่าเราจะมาจดทะเบียนสมรส แต่สิ่งที่เราได้รับคือเราไม่สามารถจดได้ตั้งแต่ในใบจดแจ้งเลย การใส่คำนำหน้านายนาย หรือนางสาวนางสาว ถือเป็นการตีกรอบ ตอนนี้ในตามกฎหมายภาคประชาชนที่เราจะแก้คือเป็นบุคคลต่อบุคคล ซึ่งเมื่อแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบุคคลต่อบุคคลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้” นายพรหมศรกล่าว

ส่วนเรื่องการตีตก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม นายพรหมศรกล่าวว่า ติดตามการประชุมสภาตั้งแต่ครั้งแรก ตั้งแต่วินาทีแรกที่มีการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลจนจบในการร่างโหวต ซึ่งทำให้ค่อนข้างเสียใจมาก

“แอบมีความโกรธเล็กๆ ในจิตใจว่าทำไมสิ่งที่เราเรียกร้องมาถึงไม่สำเร็จ อย่างที่เราทราบกันดี เมื่อไหร่ก็ตามที่คณะรัฐมนตรีนำไปพิจารณามันก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น และมันก็จะถูกปัดตกไป จริงๆ สิ่งที่รัฐทำในปัจจุบันคือการชะลอไว้เฉยๆ ไม่ได้ให้การสนับสนุนหรือการผลักดันอะไรเลย ถ้ารัฐบาลมีความบริสุทธิ์ใจต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย เราก็จะพร้อมให้เขาได้จดเลยในทันทีโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือข้อขัดขวางใดๆ

Advertisement

คณะรัฐมนตรีจะไม่ให้ตัวแทน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมานำสิ่งเหล่านี้กลับขึ้นไป เพราะแน่นอนกระบวนการกฎหมายกว่าจะยื่นเอกสารเหล่านี้ ถูกกระบวนการรัฐสภาให้พิจารณาได้ ต้องผ่านกระบวนการศึกษามาแล้วเป็นปีๆ กว่าจะถูกนำเข้ามา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะนำเข้ามาสภาได้ ไม่ใช่แค่ใครสักคนหนึ่งร่างกฎหมายแล้วมายื่นในสภาแล้วจบ แต่คือกระบวนการพิจารณาต่างๆ มากมายแล้วจึงนำเข้ามาพิจารณาว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่สิ่งที่รัฐบาลทำกลับบอกว่าไม่รับอะไร ขอนำไปศึกษาก่อน การนำไปศึกษาก่อนแสดงว่าในเวลาปีกว่าๆ ที่ผ่านมาคุณไม่ศึกษาเลยใช่ไหม หรือคุณไม่ให้ความสำคัญกับเราเลยใช่ไหม กลุ่มความหลากหลายทางเพศไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าเขาจะเป็น him หรือ her ก็ตาม เขาควรรับสิทธิอันชอบธรรมที่ควรได้รับ การยอมรับกับสิทธิเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน สิทธิคือสิ่งที่ควรพึงได้ในส่วนสิทธิ ความเป็นคนเท่ากันที่กลุ่มคณะราษฎรเรียกร้องมาโดยตลอด

ความสำคัญคือเราตามเรียกร้องให้คนเท่ากัน คนเท่ากันในที่นี้คือการเข้าถึงสิทธิในการเข้าถึงประโยชน์ต่างๆ เท่ากันเช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่เรื่องศักดินาอย่างเดียว มันทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่เขาควรได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศก็ตาม เรื่องสิทธิการศึกษา สาธารณสุขก็ตาม คือความเป็นคนเท่ากัน เพราะทุกคนมีสิทธิที่ควรได้รับตั้งแต่เกิด การยอมรับหรือไม่ยอมส่วนหนึ่งของสังคม แต่ต้องเข้าใจว่าการมีความหลากหลายทางเพศไม่ได้เพิ่งมามี 10-20 ปี หรือ 30-40 ปีที่แล้ว แต่มีมากันเป็นพันๆ ปี และบันทึกกันในประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน ดังนั้น สิ่งที่เรามาเรียกร้องคือสิทธิ ไม่ใช่การยอมรับ ฟ้าคาดหวังว่าจะมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเร็วๆ ในวันนี้ รัฐบาลไม่ควรนำไปพิจารณาถึง 60 วัน” นายพรหมศรกล่าว และทิ้งท้ายว่า ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้กฎหมายนี้ ภาคประชาชนก็ต้องเรียกร้องต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image