‘จิราพร’ อัด ‘บิ๊กตู่’ แล่เนื้อเถือแผ่นดินให้ ‘คิงส์เกต’ แฉ 11 รายการ ไทยขอประนีประนอม

‘จิราพร’ อัด ‘บิ๊กตู่’ แล่เนื้อเถือแผ่นดินให้ ‘คิงส์เกต’ บี้เปิดเผยค่าโง่หากไทยแพ้คดี พร้อมแฉ 11 รายการไทยขอประนีประนอม หวั่นพื้นที่สำรวจแร่ทับซ้อนที่อุทยานฯ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เป็นวันที่สอง โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงคดีเหมืองทองอัคราตอนหนึ่งว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการเลื่อนออกคำชี้ขาดไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ถามว่าการเลื่อนแต่ละครั้งใครขอเลื่อน เลื่อนเพราะอะไร ใครได้หรือเสียประโยน์ เพราะมีข้อสังเกตว่าพอเลื่อนอ่านคำชี้ขาด ไม่นานประเทศไทยจะทยอยคืนสิทธิการทำเหมือง เพิ่มพื้นที่สำรวจแร่ทองคำ และให้สิทธิอื่นๆ เกือบทุกครั้ง และตั้งแต่ประเทศไทยถูกบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด หรือ “คิงส์เกต” ฟ้องร้อง รัฐบาลไทยไม่เคยชี้แจงต่อประชาชนเลยว่าคิงส์เกต ฟ้องร้องไทยประเด็นใดบ้าง และเรียกค่าเสียหายเท่าไหร่ จากการเทียบเคียงกรณีเหมืองทองในประเทศเวเนซุเอลา ที่มีความคล้ายคลึงกันประเมินได้ว่า ถ้าไทยแพ้คดีจะต้องจ่ายขั้นต่ำประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยบอกว่าเป็นตัวเลขที่คาดการณ์ไปเอง หากเป็นเช่นนั้นตนขอถามว่าทำไมไม่กล้าบอกความจริงกับประชาชนว่าคิงส์เกตเรียกค่าเสียหายเท่าไหร่

“อย่าอ้างว่าตอบไม่ได้เพราะเป็นความลับที่อนุญาโตตุลาการไม่ให้เปิดเผย เพราะในแถลงการณ์ของคิงส์เกตที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ระบุว่า อนุญาโตตุลาการให้กระบวนการพิจารณาเป็นความลับ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามการทำหน้าที่ตามกฎหมาย การตอบคำถาม ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจนิติบัญญัติ เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์จะบ่ายเบี่ยงไม่ตอบไม่ได้ อีกทั้งกระบวนการตอนนี้อนุญาโตตุลาการพร้อมอ่านคำชี้ขาดแล้ว แต่มีการขอเลื่อนไปเรื่อยๆ” น.ส.จิราพรกล่าว

น.ส.จิราพรกล่าวอีกว่า สรุปแล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กับคิงส์เกต จะขอยกเลิกกระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือจะเดินหน้าเจรจากัน หรือเลือกที่จะไม่เจรจา แต่จะสู้คดีกันจนถึงที่สุด หากไทยเลือกสู้คดีจนถึงที่สุดก็มีโอกาสแพ้คดีสูงมาก และต้องจ่ายค่าโง่ในรูปแบบเงิน ทองคำ หรือทรัพยากรประเทศ ซึ่งตรงกับข้อมูลของคิงส์เกตที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 โดยระบุว่าคิงส์เกตมีโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์ที่สำเร็จจากชั้นอนุญาโตตุลาการ หากการเจรจากับไทยไม่สามารถสรุปผลสำเร็จได้ หมายความว่าเขามั่นใจว่าถ้าตัดสินชี้ขาด เขาจะชนะคดีแน่นอน หากเป็นเช่นนั้นคนที่ต้องรับผิดชอบคือ พล.อ.ประยุทธ์หรือประเทศ พล.อ.ประยุทธ์จะควักเงินตัวเองจ่ายหรือเอางบประมาณแผ่นดินไปจ่าย

Advertisement

น.ส.จิราพรอภิปรายอีกว่า ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงตรงไปตรงมา ว่าการเปิดทางให้คิงส์เกตนำผงเงิน ผงทองคำ ที่ถูกอายัดไว้ไปขาย การให้สิทธิสำรวจแร่เกือบ 4 แสนไร่ การให้สิทธิประทานบัตร 4 แปลง เป็นส่วนหนึ่งของการประนีประนอมเจรจายอมความหรือไม่ คดียังไม่ถึงที่สุดรัฐบาลก็ให้สิทธิเปิดเหมืองทำต่อ และคาดว่าที่รออนุญาตเกือบ 6 แสนไร่ จะได้รับการอนุมัติอย่างแน่นอน เป็นไปได้อย่างไรที่คดีพิพาทในเหมืองเดิมพื้นที่ 3 พันกว่าไร่ ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ตอนนี้นอกจากจะได้พื้นที่เดิมคืนยังได้สิทธิใหม่เพิ่มเติม เท่ากับต้องใช้สมบัติชาติเฉียด 1 ล้านไร่ เพื่อสังเวยค่าโง่จากการใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา

“รายการเหล่านั้นเป็นข้อแลกเปลี่ยน ในการเจรจาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่ คำตอบอยู่ในแถลงการณ์ของคิงส์เกต ต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ระบุว่า คิงส์เกตและรัฐบาลไทย ได้ร่วมกันร้องขอคณะอนุญาโตตุลาการ ชะลอคำชี้ขาดไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เพื่อขยายเวลาให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทร่วมกัน และคิงส์เกตได้เจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อพิจารณาข้อตกลง ซึ่งจะต้องทำตามขั้นตอนมีทั้งหมด 11 รายการ ตรงนี้ชัดเจนว่ามีการเจรจาประนีประนอมยอมความกัน” น.ส.จิราพรกล่าว

Advertisement

น.ส.จิราพรกล่าวต่อว่า สำหรับ 11 รายการ อาทิ การให้ใบอนุญาต และคำขอใบอนุญาตที่จำเป็นในเหมืองทองชาตรี การต่ออายุการอนุมัติคำขอใบอนุญาตการสำรวจที่สำคัญ การให้สิทธิและการลดหย่อนภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การเข้าถึงเงินทุน เพื่อการพัฒนาสำหรับการปรับปรุงการขยายเหมือง การพัฒนาโรงงานผลิตทองคำในท้องถิ่นของไทยที่ได้รับการรับรองระดับสากล การสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการนำบริษัท อัคราฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายในท้องถิ่นทั้งหมด ทั้งหมดคือสิ่งที่คิงส์เกตระบุว่ากำลังเจรจาต่อรองกับไทย ชัดเจนว่าที่ผ่านมาการที่ไทยให้ผลประโยชน์ และคืนสิทธิต่างๆ ให้คิงส์เกต เป็นข้อต่อรองในการเจรจาประนีประนอมยอมความ

“พล.อ.ประยุทธ์คืนเหมืองให้ต่างชาติ แต่ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน หลงมัวเมาในอำนาจจนบ้านเมืองจะพัง ปิดเหมืองไปแล้ว ประเทศเสียหายแล้ว ต้องมาคืนสิทธิให้เขาอยู่ดี ประเทศไทยต้องเสียให้กับคิงส์เกตจากการเจรจาครั้งนี้ อาจมหาศาลมากกว่าเม็ดเงิน และทองคำ ที่ต้องชดใช้ในกรณีที่แพ้คดีเสียอีก” น.ส.จิราพรกล่าว

น.ส.จิราพรกล่าวต่อว่า การให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่กว่า 4 แสนไร่ และการให้ประทานบัตร เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เหมืองแร่ 2560 กำหนดให้พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ต้องไม่ใช่พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำ เป็นต้น และกำหนดให้ต้องทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ และกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง หลังมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องเอาพื้นที่ในประเทศมากาง เพื่อกำหนดว่าพื้นที่ใดทำเหมืองแร่ได้บ้าง ผ่านมาเกือบ 5 ปี ประเทศไทยยังไม่ได้มีการประกาศเขตเหมืองแร่ แต่ตอนนี้มีการเปิดทางให้สำรวจแร่เกือบ 4 แสนไร่ และต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองให้บริษัท อัคราฯ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพื้นที่ที่อนุมัติทับซ้อนเขตอุทยานฯหรือไม่ และในพื้นที่อีก 6 แสนไร่ ที่คิงส์เกตทำเรื่องขอประทานบัตรทำเหมือง และขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ค้างไว้ เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งทองคำ ชื่อ แหล่งสุวรรณ และแหล่งโชคดี พื้นที่รวมกันกว่า 3.1 หมื่นไร่ คาดว่าอยู่ในเขต อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และมีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย คำถามคือ พล.อ.ประยุทธ์จะยกพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติให้คิงส์เกตสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำหรือไม่

“ที่ผ่านมามีความพยายามดึงเวลา รัฐบาลค่อยๆ แล่เนื้อเถือแผ่นดินให้คิงส์เกตไปเรื่อยๆ รายการข้อตกลงที่นำมาเจรจายอมความกันอยู่เหนือข้อพิพาท ซึ่งข้อพิพาทระหว่างคิงส์เกตกับไทย จุดศูนย์กลางของปัญหาเป็นเรื่องของการที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งให้ระงับการทำเหมืองของบริษัท อัคราฯ และที่มีการเจรจายอมความกัน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากให้มีการตัดสินมาตรา 44 ใช่หรือไม่ เพราะถ้าคณะอนุญาโตตุลาการพิเศษออกคำชี้ขาด เขาจะต้องตัดสินประเด็นข้อพิพาท อนุญาโตตุลาการต้องชี้สถานะทางกฎหมายของมาตรา 44 ซึ่งคงไม่อภินิหารทางกฎหมายใดในโลกนี้ที่จะทำให้การใช้มาตรา 44 เป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมในเวทีสากลโลก เพราะมาตรา 44 เป็นกฎหมายเถื่อนที่ไม่ผ่านรัฐสภา แต่ออกโดยคณะรัฐประหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วคณะอนุญาโตตุลาการจะกล้ารับรองความมหัศจรรย์ของกฎหมายเถื่อนนี้หรือ ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการชี้ว่ามาตรา 44 ไม่มีสถานะทางกฎหมาย จะกลายเป็นสึนามิที่สะเทือนถึงผู้ที่ออกมาตรา 44 ทั้งหมด” น.ส.จิราพรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image