เกษตรกรอยุธยา ร้อง ‘เพื่อไทย’ ช่วย หลังต้นทุนสูงทำขาดทุน-น้ำท่วมจนแห้งยังไร้เยียวยา

“เกษตรกรชาวอยุธยา” ร้อง “เพื่อไทย” ช่วย หลังต้นทุนสูงทำขาดทุน-น้ำท่วมจนน้ำแห้งยังไร้เยียวยา ด้าน “หมอชลน่าน” แนะ รัฐทำสัญญาเช่าพื้นที่รับน้ำจากปชช. เตรียมทำนโยบายเกษตร

เมื่อเวลา 11.35 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วยส.ส.พรรค รับหนังสือร้องเรียนจากเกษตรกรชาว จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

โดย นายฐิติวัฒน์ กลีบมาลัย ตัวแทนเกษตรกรชาวพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สืบเนื่องจากต้นทุนการผลิตทุกชนิดที่เกี่ยวกับการทำนาสูงขึ้นจาก ไร่ละ 6 พันกว่าบาท เป็น 8 พันกว่าบาท แต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตยังอยู่ที่ 6 พันกว่าบาท ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุน ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรเคยยื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว แต่เกรงว่าจะไม่ทันต่อการแก้ปัญหา เพราะข้าวเริ่มออกรวง จึงมายื่นขอความช่วยเหลือจากพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ นอกจากนี้ โครงการประกันพืชผลทางการเกษตร เราอยากให้แก้ไข แม้ว่ามีเกษตรกรบางส่วนที่อยากได้โครงการนี้ แต่ส่วนใหญ่อยากได้โครงการจำนำข้าวมากกว่า เพราะรายได้ถึงมือพี่น้องชาวนาโดยตรง แต่กาาประกันราคาต้องใช้หมายเลขโฉนดไปขึ้นทะเบียน ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่เป็นลักษณะการเช่าทำ เจ้าของนาจึงไปขึ้นทะเบียนทำให้พี่น้องชาวนาตัวจริงไม่ได้รับประโยชน์ อีกปัญหาที่อยากให้มีการแก้ไข คือ เรื่องเงินเยียวยาพื้นที่รับน้ำ ที่ขณะนี้เพิ่งมีการสำรวจ จึงอยากฝากให้ติดตามเรื่องดังกล่าว

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงคือเจ้าของที่ นี่คือข้อจำกัดของโครงการนี้ ส่วนเรื่องพื้นที่รับน้ำชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ควรได้รับ 2 ต่อ คือ รัฐควรมีการเช่าพื้นที่ประชาชนเพื่อป้องกันเขตเศรษฐกิจ ถ้ามีพื้นที่รับน้ำต้องเกิดการทำสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชน รวมถึงการได้รับการเยียวยาด้วย ตนจะนำเรื่องนี้ส่งให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการศึกษาหามาตรการ เพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป

“เรากำลังนำสิ่งที่ท่านเสนอไปต่อยอด โดยคำนึงถึงสิ่งที่พี่น้องชาวนาจะได้รับมากที่สุด มั่นใจว่าดีกว่าเดิม และเกษตรกรจะถูกใจ พรรคเพื่อไทยกำลังเขียนนโยบายเรื่องนี้อยู่ ไม่แน่ว่าปีหน้าอาจจะได้ใช้ ซึ่งนโยบายด้านการเกษตรถือเป็นไฮไลท์หนึ่งในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยแน่นอน แต่เราจะไม่ใช้ชื่อจำนำข้าว เพราะคำนี้อาจแสลงใจ ส่วนหลักการที่ใช้อาจจะไม่แตกต่าง แต่ถ้อยคำที่ใช้รณรงค์อาจจะตัดคำว่าจำนำข้าวออกไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image