เปิดตำแหน่ง กมธ.แก้ กม.ลูก หลัง ‘ไพบูลย์’ ตัวเต็ง พ่าย ‘สาธิต’ ได้เป็นแค่ กมธ.

เปิดตำแหน่ง กมธ.แก้ กม.ลูก หลัง ‘ไพบูลย์’ ตัวเต็ง พ่าย ‘สาธิต’ ได้เป็นแค่ กมธ. วางกรอบถกสัปดาห์ละ 2 วัน เอาให้เสร็จก่อนเปิดสมัยประชุม พ.ค.

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้เลือกตำแหน่งต่างๆ ดังนี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประธาน กมธ. นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. รองประธาน คนที่ 1 นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภา สัดส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) รองประธาน คนที่ 2 นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รองประธาน คนที่ 3 นายสมชาย แสวงการ ส.ว. รองประธาน คนที่ 4 นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) รองประธาน คนที่ 5 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) รองประธาน คนที่ 6 นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ส.ว. รองประธาน คนที่ 7 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. รองประธาน คนที่ 8

สำหรับตำแหน่งที่ปรึกษา กมธ.มี 10 คน เช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ส.ว. พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ส.ว. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ขณะที่ตำแหน่งโฆษก กมธ.มีทั้งหมด 7 คน เช่น นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการแลือกตั้ง (กกต.) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรค ปชป. นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรค ก.ก. ส่วนตำแหน่งเลขาฯ กมธ. ได้แก่ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

จากนั้นเวลา 12.10 น. นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … แถลงภายหลังการประชุมนัดแรกถึงกรอบการทำงานว่า กมธ.ฯ จะประชุมให้เสร็จสิ้นภายในช่วงปิดสมัยประชุม และเมื่อเปิดประชุมสมัยหน้าในเดือนพฤษภาคมจะได้นำร่างที่พิจารณาเสร็จแล้วนำเสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ ทั้งนี้ กมธ.ฯ จะประชุมทุกวันพุธ เวลา 10.30 น. และวันพฤหัสบดี เวลา 09.30 น. โดยจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้า ส่วนการพิจารณาจะเป็นการพิจารณาแบบคู่ขนานไปกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งหากมีการแปรญัตติมาก หรือมีข้อถกเถียง อาจจะพิจารณาเพิ่มวันประชุม เพื่อให้การพิจารณาเสร็จทันช่วงปิดสมัยประชุม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image