วัด ‘แรงสะเทือน’ มื้อเที่ยงพรรคเล็กเขย่าดินเนอร์พรรคใหญ่

วัดแรงสะเทือนž มื้อเที่ยงพรรคเล็กเขย่าดินเนอร์พรรคใหญ่

หมายเหตุความคิดเห็นนักวิชาการ และนักการเมืองต่อกรณีเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) นัดรับประทานอาหารร่วมกันกับหัวหน้าพรรคเล็ก โดยระบุว่าจะมีพรรคเล็กมาร่วมงานกับพรรค ศท.อีกหลายคน

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Advertisement

กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) นัดรับประทานอาหารร่วมกันกับหัวหน้าพรรคเล็ก และตัวแทนของพรรคขนาดกลาง เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมโกลเดน ทิวลิป ซอฟเฟอริน ภายหลังที่กลุ่มพรรคเล็ก ไม่ได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อค่ำวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สโมสรราชพฤกษ์ ถนนวิภาวดี นั้นถือเป็นการแสดงให้เห็นบทบาทและอิทธิฤทธิ์ทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส กับกลุ่มพรรคเล็กที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกันตั้งแต่รวบรวมเสียงของพรรคเล็กมาสนับสนุนร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำ

ส่วนสัญญาณและท่าทีของ ร.อ.ธรรมนัส และพรรคเล็ก ภายหลังร่วมรับประทานอาหาร จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าเมื่อถึงเวลาการประชุมสภาแล้วต้องมีการโหวตในเรื่องสำคัญๆ ที่มีผลต่อสถานะ ความเป็นไปของรัฐบาล ท้ายที่สุดกลุ่มพรรคเล็กคงจะโหวตสนับสนุนรัฐบาลให้เดินหน้าทำงานต่อไปได้ในช่วงปลายและปีสุดท้ายของรัฐบาล

อีกทั้งยังมีเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ หรือกฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่มีสาระสำคัญโดยเฉพาะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กลับมาใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ และสูตรการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ยังมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายที่เห็นว่าควรใช้ 100 คนหาร 2.ฝ่ายที่เห็นว่าควรใช้ 500 คนหาร ออกมาเป็นตัวเลข ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค

Advertisement

ด้วยกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะส่งผลโดยตรงต่อพรรคเล็ก อาจจะถึงขั้นไม่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงเป็นอีกเหตุผลที่แกนนำพรรคเล็กจำเป็นต้องร่วมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลต่อไป เพราะหากเกิดการแปรญัตติแล้วที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้มีการคิดสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 คน โอกาสที่พรรคเล็กจะมีลุ้นได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในครั้งหน้าก็ยังพอมีโอกาส

ขณะเดียวกัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีไพ่สำคัญอยู่ในมืออีกหนึ่งใบนั่นคือ การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) มีการประชุมปรับโครงสร้างพรรค อาจจะได้ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร.ที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรค พปชร. มาเป็นหัวหน้าพรรค ศท. รวมทั้ง ร.อ.ธรรมนัส หรือบุคคลอื่น มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ศท.

หากแกนนำรัฐบาลจะใช้สูตรการปรับ ครม.มาแก้ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับพรรค ศท. ก็สามารถใช้การปรับ ครม.เพื่อดึงพรรค ศท.มาร่วมงานกับรัฐบาล โดยอาจจะเป็น พล.อ.วิชญ์ มารับตำแหน่งใน ครม. หรือบุคคลอื่น ก็จะช่วยให้สถานะทางการเมืองของพรรค ศท. กับรัฐบาลมีความชัดเจนขึ้น

ส่วนข้อกังวลในช่วงการเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นไป จะมีเรื่องสำคัญๆ เข้าสู่การพิจารณาของสภาทั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติตามมาตรา 151 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น

เชื่อว่าแกนนำรัฐบาลจะพยายามประคับประคองให้มีเสียงสนับสนุนให้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปให้ได้ แม้เสียงสนับสนุนนายกฯอาจจะมีไม่ถึง 260 เสียง ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เคยให้ความมั่นใจกับแกนนำรัฐบาลไว้

สำหรับเสียงสนับสนุนของรัฐบาล หากไม่นับรวมกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสนั้น เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ถึง 260 เสียง หากจะรวบรวมให้ถึง ส่วนตัวมองว่าจะต้องไปหาเสียงจากพรรคร่วมฝ่ายค้านแน่นอน แต่ที่ยังไม่สามารถเปิดตัวได้ เพราะห้วงเวลายังไม่สุกงอมพอและยังไม่พร้อมเปิดตัว แน่นอนว่ากลุ่มพรรคเล็ก ฝ่ายค้าน และสมาชิกบางคนจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) รวมทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่จะไปทำงานการเมืองกับทั้งพรรค ภท. รวมทั้งพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่

เพราะฉะนั้นถามว่าเสียงของสมาชิกบางคนที่อยู่พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมจะย้ายไปทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่เกิดใหม่ คงต้องดูแนวโน้มและความชัดเจนของกติกาการเลือกตั้ง อย่างรัฐธรรมนูญที่ยังออกแบบกติกาให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกนายกรัฐมนตรีได้ จึงเท่ากับว่า จะการันตีว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ คิดจะเล่นการเมืองต่อ ก็มีโอกาสที่กลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่อาจไม่ใช่พรรค พปชร. มาเป็นพรรคแกนนำรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง

เพราะฉะนั้นถ้าฝ่ายค้านยังยึดมั่นในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดิมก็ต้องยอมรับสภาพความเป็นพรรคฝ่ายค้านต่อไป ดังนั้น ความเชื่อที่ว่ามีการเพาะเลี้ยงงูเห่า หรือบางคนที่พร้อมย้ายไปเป็นหนึ่งใน 260 เสียง จึงมีความเป็นไปได้

ส่วนเกมที่ฝ่ายค้านจะพยายามอภิปรายไม่ไว้วางใจ และรวมพลังทำให้คะแนนเสียงไม่ไว้วางใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการทำลายความชอบธรรมทางการเมืองว่าไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่
นายกฯต่อไปนั้น คงไม่สามารถสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อตัวนายกฯมากนัก เพราะอยู่ในช่วงปลายรัฐบาล หรือปีสุดท้ายของรัฐบาลแล้ว

ประเด็นสำคัญที่จะสั่นคลอนและเกิดแรงเสียดทานทางการเมืองต่อตัวนายกฯมากกว่า คือ การตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการชี้ขาดและตีความวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกฯ ไม่ว่าจะออกมาในทางบวกหรือลบ หากมีเหตุผลและข้อกฎหมายมารองรับที่ไม่ดีพอ ย่อมจะส่งผลสะเทือน และเกิดแรงเสียดทานทางการเมืองต่อ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมากแน่นอน

ส่วนตัวยังมองว่าแกนนำรัฐบาลจะประคองเสถียรภาพ และเสียงสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถทำหน้าที่ไปตามเป้าหมาย คือ อยู่จนครบวาระ ยกเว้นจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ขณะที่การตรวจสอบของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ด้วยเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คงอาจจะไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ แต่ประเด็นที่ฝ่ายค้านจะสามารถสร้างแรงกดดัน และเสียดทานต่อการบริหารงานของรัฐบาลได้ คือ เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและค่าครองชีพที่แพงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม

หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ของแพงลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนไม่ได้ และฝ่ายค้านสามารถเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดีกว่ารัฐบาล ตรงนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้ฝ่ายค้านได้แต้มสะสมไปเรื่อยๆ ขณะที่รัฐบาลก็เหมือนกับถูกชกจนช้ำ หากไม่สามารถแก้เกมได้ โอกาสที่จะถูกน็อกผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้าก็มีสูงมาก

จึงอยู่ที่แกนนำรัฐบาลจะแก้เกมทางการเมือง โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากหลายปัจจัยภายนอกได้อย่างไร

ธีรัจชัย พันธุมาศ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)

มองว่าการนัดรับประทานอาหารของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และแกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) กับแกนนำพรรคเล็ก เป็นการแสดงพลังและอำนาจต่อรองทางการเมืองไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร โดยอำนาจต่อรองที่มีมาเสมอคือตำแหน่งรัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง และเรียกร้องให้ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถือเป็นความพยายามรวบรวมเสียงของ ร.อ.ธรรมนัส และการร่วมรับประทานอาหารกับพรรคเล็กเป็นการแสดงทางกายภาพ จึงไม่รู้ว่าพรรคเล็กจะตกลงปลงใจมาอยู่กับกลุ่ม 18 คน ของ ร.อ.ธรรมนัส หรือไม่ทั้งนี้ ในช่วงการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ ช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีวาระสำคัญคือ การอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เสียงข้างมากในการโหวตพิจารณาให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯผ่าน

ส่วนกรณีที่พรรคเล็กขอให้ยุบสภานั้น ผมคิดว่ายังไม่ถึงขั้นให้ยุบสภา เพราะตอนนี้เป็นเพียงการต่อรองทางการเมือง ในส่วนหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัสยังมีความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่ความขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาไกลมากแล้ว และ พล.อ.ประยุทธ์ก็พยายามแข็งตอบ คือไม่ยอมคุยหรือเจรจา ถึงจุดสุดท้ายผมมองว่าจะมีการปรับ ครม.ก่อนที่จะเปิดประชุมสภา เพื่อยุติการแสดงพลังอำนาจต่อรอง และรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลให้สามารถอยู่ต่อไปได้อีกสักระยะหนึ่ง โดยเป้าหมายของทุกรัฐบาลคือการอยู่ครบวาระ หรืออยู่ให้ถึงการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค ช่วงปลายปี 2565 ที่เป็นความฝันของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้มีความมั่นใจในเสียงของตัวเอง

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลักการล้มรัฐบาลคือต้องให้เสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภา ซึ่งตอนนี้เสียงของฝ่ายค้านมีไม่ถึง แต่หากรัฐบาลได้รับคะแนนไว้วางใจน้อยก็จะส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะอยู่ต่อไม่ได้ จนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯไป พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องพยายามปรับให้เสียงของตัวเองเกินมามากๆ เพื่อให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งอย่างสง่างามต่อไป ผมเชื่อว่าในอีกสักระยะหนึ่งคงจะมีการตกลงกันอีกครั้ง เพราะตอนนี้เป็นเพียงช่วงปฏิกิริยาเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นและตกลงตามที่ตัวเองต้องการ ไม่มีอะไรซับซ้อนเป็นการเมืองแบบเดิมๆ

สุทิน คลังแสง
ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.)
ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

การนัดรับประทานอาหารของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา และแกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) กับแกนนำพรรคเล็ก ก็แล้วแต่จะมอง แต่ผมมองว่าเป็นการแสดงเอกภาพของกลุ่มการเมืองหนึ่ง ซึ่งเดิมกลุ่มนี้เคยอยู่กับรัฐบาล แต่เมื่อไม่ร่วมรัฐบาลและไม่สนับสนุนรัฐบาล จึงเป็นการส่งสัญญาณสั่นคลอนรัฐบาล ต่อไปนี้รัฐบาลคงต้องคิดและทำงานอย่างหนัก ว่าจะสามารถรวบรวมมือที่เหลือมาใช้ค้ำรัฐบาลได้อีกหรือไม่ ถ้าไม่สามารถทำได้ก็หมายความว่ารัฐบาลจะผ่านวาระสำคัญในช่วงต้นสมัยประชุมสภาหน้าไม่ได้ ส่วนจะมีการต่อรองทางการเมืองเพื่อให้ได้เก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่นั้น ผมไม่ออกความเห็น รู้เพียงแต่ว่าการสั่นคลอนและการกดดันเกิดขึ้นแล้ว แต่จะต่อรองทางการเมืองอะไรอีกหรือไม่ก็ต้องรอดูต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

โดยก่อนเปิดสมัยประชุมสภาหน้าที่จะมีวาระสำคัญคือ การอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะต้องเช็กกำลังตัวเองให้ดี ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะลำบาก หมายความว่าถ้าเสียงของ ส.ส.กลุ่มนี้ออกมาเป็นแบบนี้แล้ว เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่เหลือก็ไม่น่าจะเพียงพอ ซึ่งจะมีการสั่งไว้ตามกันมาอีก และเห็นอย่างชัดเจนว่า ความไม่มั่นคงได้เกิดขึ้นกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แล้ว และปรากฏการณ์การร่วมรับประทานอาหารของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย และพรรคเล็ก ได้สั่นคลอนรัฐบาลแล้ว อยู่ที่ว่าจากนี้รัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไร จึงต้องติดตามดู ถ้าบริหารจัดการปรากฏการณ์แบบเมื่อวันที่ 11 มีนาคมไม่ได้ รัฐบาลก็น่าจะถึงจุดจบและก็จะเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อสั่นคลอนรัฐบาลต่อไปอีกเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image