‘ปริญญา’ ชี้หมายจับ ‘โรม’ คดีป่ารอยต่อ ออกโดยมิชอบ นอกจากตร. ‘บิ๊กตู่’ คุมสตช.ต้องรับผิดชอบ
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง ปัญหาหมายจับ ที่ออกโดยไม่มีเหตุจำเป็น กรณีรังสิมันต์ โรม ผ่านเฟซ บุ๊ก ส่วนตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้
ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ออกหมายจับ ‘โรม’ อภิปราย ‘บิ๊กป้อม-ป่ารอยต่อ’ เจ้าตัวจ่อฟ้องกลับ ตร.เร่งรัดคดี
- “โรม”เข้าพบตำรวจ หลังได้รับหมายจับคดีหมิ่นประมาท พิธา-ส.ส.ก้าวไกลแห่ให้กำลังใจ
“การที่รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลตามระบบรัฐสภา โดนออกหมายจับในข้อหา หมิ่นประมาทมูลนิธิป่ารอยต่อฯ จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งเป็นประธานกรรมการมูลนิธินั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่แล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการโดยตัวเองหรือถูกสั่งการมาอย่างไรหรือไม่
พอมีการออกหมายจับ ส.ส.รังสิมันต์ในข้อหานี้ ทั้งๆที่เจ้าตัวไม่ได้หนีไปไหน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ในที่สาธารณะมีคนพบคนเห็นสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งน่าสงสัยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหนักเข้าไปอีก คำถามคือ ทำไมต้องออกหมายจับ?
การออกหมายจับแบบนี้ถูกต้องหรือไม่อย่างไร เราต้องไปดู ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติเรื่อง การออกหมายจับ ไว้ในมาตรา 66 ดังนี้ครับ
“มาตรา 66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้ทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้ทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี”
เราจะเห็นได้ว่า เหตุในการออกหมายจับมี 2 เหตุ โดยกฎหมายใช้คำว่า “หรือ” แปลว่าเข้าเพียงแค่เหตุหนึ่งเหตุใดก็ได้ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทที่กระทำโดยมีการกระจายเสียง (เพราะในขณะอภิปรายมีการถ่ายทอด) จะมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี จึงไม่เข้าเหตุตามวงเล็บ (1) ที่ต้องมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี แต่ก็ยังอาจจะออกหมายจับได้ถ้าเข้าวงเล็บ (2) คือ “มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น” ทั้งนี้หาก “ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร” มาตรา 66 ววรคสองก็ให้ “สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี”
ตามข้อเท็จจริงที่ผมอ่านจากข่าว ส.ส.รังสิมันต์ ไม่ได้ไปตามหมายเรียกในครั้งแรก แต่ในขณะนั้นอยู่ระหว่างสมัยประชุม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ไม่ให้ออกหมายเรียกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างสมัยประชุม รังสิมันต์จึงมีข้อแก้ตัวอันควร ซึ่งจริงๆ แล้วหมายเรียกครั้งแรกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเท่ากับไม่มีหมายเรียกเลยด้วยซ้ำ
สำหรับหมายเรียกครั้งที่สอง ซึ่งออกหลังปิดสมัยประชุมสภา ตามข่าวที่ทราบแม้ว่า ส.ส.รังสิมันต์ จะไม่ได้ไป แต่ก็ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วว่า ติดภารกิจในฐานะ ส.ส. จึงถือ “มีข้อแก้ตัวอันควร” แล้ว โดยหลักแล้วก็ต้องนัดกันใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะถือว่า “จะหลบหนี” จนเป็นเหตุในการออกหมายจับทันทีไม่ได้ และที่สำคัญคือมาตรา 66 วรรคสองใช้คำว่า “ให้สันนิษฐาน” ว่า “จะหลบหนี” นั่นคือหักล้างได้ด้วยข้อเท็จจริงห รือการแสดงตนว่าไม่ได้หลบหนี และก็มีข้อแก้ตัวอันควรแล้ว
การออกหมายจับโดยอ้างว่าไม่มาตามหมายเรียกจึงถือว่าหลบหนี ทั้งๆ ที่เขาแจ้งเหตุผลอันรับฟังได้แล้ว จึงไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง จนถือว่า ใช้อำนาจโดยมิชอบ ได้เลยครับ
ปกติตำรวจเขาก็ไม่ทำกันแบบนี้ ที่ทำกันนี่คือไม่ปกติ ถามว่าแล้วใครจะต้องรับผิดชอบ? นอกจาก สน.บางขุนนนท์ และผู้บังคับบัญชาที่สั่งการมาแล้ว ผมเห็นว่า ผู้บังคับบัญชาใหญ่สุดคือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น ผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตาม พรบ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 ไม่อาจปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นและไม่รับผิดชอบได้
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย เพราะ ส.ส.ที่เห็นต่างจากรัฐบาลยังโดนกระทำแบบนี้ได้ แล้วคนทั่วไปที่เห็นต่างกับรัฐบาลจะเป็นอย่างไร? ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หาไม่แล้วคนก็จะนึกไปว่า ท่านนายกฯ หรือท่านรองนายกฯ เป็นคนสั่งตำรวจให้ทำแบบนี้ และคนก็จะยิ่งเชื่อว่ารัฐบาลใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการตั้งข้อหาและจับกุมผู้เห็นต่างจริงๆ ครับ
และที่จะละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ ทำไมศาลท่านจึงอนุญาตให้ออกหมายจับ? ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้เป็นต้นมา การออกหมายจับต้องไปขอศาล เพื่อให้ศาลปกป้องสิทธิประชาชนไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับโดยไม่จำเป็น หรือ ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้าม กรณีนี้ศาลท่านตรวจสอบแล้วหรือไม่ว่า มีเหตุจำเป็นถึงขนาดออกหมายจับจริงๆ หรือ? ผมเห็นว่า ก็ควรต้องไปติดตามดูด้วยว่าหมายจับแบบนี้ศาลท่านให้ออกมาได้อย่างไร หรือมีเหตุผลอย่างไรครับ