ปิยบุตร กาง 13 ข้อ ปลดล็อกท้องถิ่น ลั่นใน 2 ปี ครม.ต้องทำแผนยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

‘ปิยบุตร’ เปิด 13 หลักการ แก้ รธน.หมวด 14 กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทั้งงาน-เงิน-คน กำหนดภายใน 2 ปี ครม.ต้องเริ่มทำแผนยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 1 เมษายน ที่อาคารอนาคตใหม่ คณะก้าวหน้า เปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ชวนเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม พ.ศ… หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวในหัวข้อ “ท้องถิ่นก้าวหน้า สังคมไทยก้าวไกล”

ต่อมา นายปิยบุตร บรรยายในหัวข้อ “ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อยุติรัฐราชการรวมศูนย์” กล่าวตอนหนึ่งว่า ต่อให้เราชนะเลือกตั้งท้องถิ่นมากเท่าไหร่ หรือทำงานร่วมกับนายกท้องถิ่นมากขนาดไหนก็ตาม ตราบใดที่อำนาจยังคงรวมศูนย์อยู่ที่ศูนย์กลางเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คงจะเป็นเรื่องยากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะบริหารแผ่นดินได้อย่างไม่มีอุปสรรคและตอบสนองตรงกับความต้องการของประชาชน เราพูดเรื่องการกระจายอำนาจมาหลายทศวรรษแล้ว แต่การกระจายอำนาจเหล่านั้นถูกหยุดลงด้วยรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 และถอยหลังเข้าคลองโดยรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

จนกระทั่งวันนี้การกระจายอำนาจในประเทศไทยก็ยังไปไม่ถึงไหน แน่นอนว่าหากเรามีรัฐบาลอำนาจนิยม รัฐบาลที่ปราศจากวิสัยทัศน์แบบรัฐบาล คสช. หรือรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะหวังให้พวกเขากระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้สักที มี 3 ประการ ได้แก่ 1.ประวัติศาสตร์ 2.กฎหมาย และ 3.การเมือง ระบบการเมืองไทยเป็นระบบเครือข่ายอุปถัมภ์กันเป็นทอดๆ กลายเป็นว่าคนที่ต้องรับผิดชอบกับประชาชนไม่มีอำนาจและงบประมาณ โมเดลบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัดเกิดขึ้นมาเพราะต้องการกินรวบการเมืองทุกระดับ เพื่อสร้างระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ โครงสร้างระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยออกแบบมาเพื่อทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิของตนเอง แต่จำเป็นต้องเรียกร้องการช่วยเหลือผ่านระบบเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ถ้าหากเรากระจายอำนาจ สร้างสิทธิ สวัสดิการได้อย่างเต็มที่ ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องร้องขอความช่วยเหลือจากนักการเมืองจนเกิดเป็นระบบเครือข่ายอุปถัมภ์เช่นนี้

Advertisement

นายปิยบุตรกล่าวต่อว่า คณะก้าวหน้าจึงตัดสินใจเปิดการรณรงค์ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะเราเล็งเห็นว่าสภาพโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินที่รวมศูนย์อยู่เช่นนี้จะไม่สามารถพัฒนาประเทศไทยให้ไปต่อได้ จะกดทับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดเอาไว้ สุดท้ายผลลัพธ์จะตกอยู่ที่ประชาชน

ข้อเสนอของเรามี 13 ประการ 1.เราจะรับรองหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่นในการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยจะรับรองหลักการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายความว่ากฎหมายทั้งหลายหากขัดกับหลักการเหล่านี้ย่อมมีผลขัดรัฐธรรมนูญและสิ้นผลไป โดยการกระจายอำนาจทั้งหมดจะอยู่ภายใต้มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ คือ รับรองเรื่องรูปแบบของรัฐว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

Advertisement

2.เราจะกำหนดรูปแบบประเภทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แบบแรก คือ แบบทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด แบบที่สอง คือ กลุ่มองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ ได้แก่ กทม. เมืองพัทยา และอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

3.กำหนดให้อำนาจหน้าที่การจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่นเอาไว้แบบเป็นการทั่วไป คือ อปท.มีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ของตนเองได้ทุกเรื่อง ยกเว้นบางเรื่องที่ทำไม่ได้ เช่น ทหารป้องกันประเทศ ความมั่นคงในราชอาณาจักร กิจการต่างประเทศ ระบบเงินตรา ระบบธนาคารกลาง

4.กำหนดให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาคเป็นตัวเสริม โดยอำนาจทุกอย่างเป็นของท้องถิ่นเป็นหลัก โดยจะทำได้เฉพาะท้องถิ่นไม่มีศักยภาพทำได้และเขาร้องขอให้เข้าไปช่วย ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างส่วนกลางภูมิภาคกับส่วนท้องถิ่นได้

นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า 5.เรื่องการแบ่งอำนาจระหว่างท้องถิ่น เนื่องจากตอนนี้ในพื้นที่ 1 จังหวัดมีท้องถิ่นซ้อนกัน 3 ชั้น คือ อบจ. เทศบาล และ อบต. ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าใครทำอะไร โดยหลักการกระจายอำนาจที่ใช้ในนานาอารยประเทศ คือ อปท.ขนาดเล็กทำก่อนขนาดใหญ่ โดยระดับจังหวัดดูภาพรวมทั้งหมด และค่อยไปช่วยเสริมตอนขนาดเล็กทำไม่ได้

6.สมาชิกสภาท้องถิ่นและนายกท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง 7.เรื่องความเป็นอิสระทางการเงินกลางคลัง ภายใน 3 ปี การแบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างรัฐบาลกับส่วนท้องถิ่นจะขยับไปที่ 50-50 8.แผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งแผนที่ผ่านมากำหนดว่าต้องโอนภารกิจภายในปีนั้นปีนี้แต่กลับไม่โอน ซึ่งต่อไปนี้แผนจะต้องมีสภาพบังคับ ถ้ากำหนดภายในกี่ปีต้องโอนตามนั้น หากทำไม่ได้ให้ถือว่าเป็นผลโดยการโอนทันทีโดยผลของรัฐธรรมนูญ

9.กำหนดรูปแบบการจัดทำบริการสาธารณะรูปแบบใหม่ๆ เช่น ให้ท้องถิ่นตั้งบริษัทหรือองค์การมหาชนระดับท้องถิ่นได้ หรือรวมตัวกันระหว่างท้องถิ่นประเภทเดียวกันหรือต่างประเภทได้ แล้วแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งนิติบุคคลที่สามารถหารายได้ได้ โดยมีขอบเขตภารกิจที่ชัดเจน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ อปท.สามารถทำสัญญามอบอำนาจให้เอกชนจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งรูปแบบการร่วมทุนหรือสัญญาสัมปทาน

10.หลักความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล 11.ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางภูมิภาคกับท้องถิ่นจะต้องอยู่กันแบบการกำกับดูแล ไม่ใช่บังคับบัญชา โดยมีเงื่อนไขจะต้องมี พ.ร.บ.บอกเอาไว้และทำไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น 12.เรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมือง เช่น การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในท้องถิ่น

และ 13.จากสิบสองข้อข้างต้นทำให้เกิดคำถามว่า เราจะมีราชการส่วนภูมิภาคเอาไว้ทำไม ถ้าหากอำนาจงาน เงิน คน ถูกโอนไปยังท้องถิ่นได้ตามสิบสองข้อแรก ดังนั้น เรากำหนดว่าภายในระยะเวลา 2 ปี คณะรัฐมนตรีควรต้องริเริ่มทำแผนว่าจะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคอย่างไร จะกระทบเรื่องใดบ้าง และภายใน 5 ปี ครม.จัดทำประชามติถามประชาชนว่าประเทศไทยจะมีราชการส่วนภูมิภาคต่อไปหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image