รุ้ง-อานนท์ อาลัยวัฒน์ อ่านบทกวี ‘กรีดเลือดพาล’ มั่นใจ คนรุ่นใหม่ ‘สู้ถึงที่สุด’

รุ้ง-อานนท์ อาลัยวัฒน์ อ่านบทกวี ‘กรีดเลือดพาล’ มั่นใจ คนรุ่นใหม่ ‘สู้ถึงที่สุด’

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ในวาระการจากไปของนักเขียนผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนวาระสุดท้าย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครอบครัววรรลยางกูร และกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัยวัฒน์ วรรลยางกูร โดยมีการเคลื่อนขบวนรูปวัฒน์ และธงแดง วนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาตั้งยังอนุสรณ์สถาน ก่อนถึงอนุสรณ์สถานในเวลา 09.28 น.

จากนั้น เวลา 09.30 น. ครอบครัววรรลยางกูร วางรูปวัฒน์ ณ ฐานอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พร้อมพวงมาลัย 3 พวง มีรูปนกพิราบประดับด้านบน ก่อนปักธงแดง เพื่อแสดงออกถึงการสานต่ออุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมบางส่วนร่วมกันผูกธงแดงติดกับธงชาติ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมกันติดป้ายผ้า รอบอนุสรณ์สถาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มแล้ว! รำลึก ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ รัวกลองชูภาพแห่รอบอนุสาวรีย์ ปชต. ลั่นสานอุดมการณ์ จากลานโพธิ์ถึงภูพาน
ปักธงแดง ตั้งรูป ‘วัฒน์’ แห่รำลึกล้นอนุสรณ์ 14 ตุลา ลูกสาวสะอื้นไห้ ‘พ่อยังมีชีวิตผ่านบทเพลงที่ถูกเล่นซ้ำ’

บรรยากาศเวลา 10.08 น. นายอดิศร เพียงเกษ สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอาลัยในฐานะมิตรร่วมรบ ความว่า ตนกับวัฒน์ วรรลยางกูร  มีความใกล้ชิดกันด้านอุดมการณ์ เข้าป่าเป็นทหาร พคท. ตนและครอบครัวเพียงเกษ พ่อแม่กับตน มีพี่น้อง 9 คน ตนเข้าร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศไทยเหมือนกัน อยู่ในป่าเราไม่รู้จักกัน เพราะอยู่กันคนละที่

Advertisement
นายอดิศร เพียงเกษ
นายอดิศร เพียงเกษ

“ผมอยู่ข้างภาคทัพ 1 ชายแดน 14 กิโลเมตรถึงประเทศจีน กับนายวิสา คัญทัพ นักแต่งเพลงชื่อดังที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเยอรมัน ทำงานด้านวัฒนธรรม และออกมาเมื่อเขาให้ออกมา อยู่ในเมืองตอนหลังถึงมาทราบว่าภรรยาของวัฒน์คือคุณเล็ก และภรรยาของตน เรียนคณะเศรษฐศาสตร์ด้วยกัน เราจึงมีความสนิทสนมกันอย่างลึกซึ้ง ไปเยี่ยมซึ่งกันและกัน ตอนนั้นนายวัฒน์ยังไม่แตะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังจากคบกับตนก็เสียคน เริ่มร่ำแอลกอฮอล์เพราะตนเป็นทนายความ เราจึงมีความผูกพันกันมาก กระผมเสียน้องคนหนึ่งคือ สหายหมอก ที่จังหวัดน่าน จนวันนี้ก็ยังหากระดูกไม่ได้ วันนี้ก็ถือโอกาสในวันที่นำกระดูกของนายวัฒน์มาจากฝรั่งเศสพร้อมทั้งกระดูกของสหายหมอก มางานร่วมกันในวันนี้ด้วย” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรกล่าวต่อว่า นายวัฒน์มีข้อเขียนมากมาย ทั้งเรื่องสั้น เรื่องยาว ภาพยนตร์ วัฒน์ วรรลยางกูรให้เกียรติเขียนเล่มนี้ให้แก่คุณพ่อทองปัก เพียงเกษ เขาผูกพันกับครอบครัวตน ทั้งเรื่องสั้นมากมาย เขียนหนังสือเล่มหนึ่งให้ งานเขียนของเขาชื่อว่า ‘ลูกบ้านนอกหำบ่หด’ ทองปักษ์ เพียงเกษ สาระนิยายชีวิตบนทางดาวขาวชมพูแดงเขียว โดยวัฒน์ วรรลยางกูร  หนังสือเล่มนี้ ตนไม่คิดว่าจะเป็นอนุสรณ์งานศพของพ่อตน เมื่อปี 2554 ณ วันนี้ผมเชื่อมั่นว่าทั้งทองปักษ์ เพียงเกษ และสหายร้อย กำลังร่ำสุรากันอยู่บนสรวงสวรรค์ทั้งสอง

“ที่พูดนี้ การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด การต่อสู้ต้องรุ่นต่อรุ่น เราไม่เคยได้รับชัยชนะเลย มีแต่ความพ่ายแพ้ แต่ความพ่ายแพ้ มันเป็นบทเรียนให้เราเข้มแข็งขึ้น ผมเองหลังพฤษภา 2553 ก็ลี้ภัยไปต่างประเทศเหมือนกัน เป็นปี กลับมาก็มองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งที่เป่าแคนเฉยๆ มันโหดเหี้ยม รุ่นต่อรุ่นต้องส่งงานให้กัน ทุกรุ่น เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งนั้น ที่จะเสริมงานของวัฒน์ วรรลยางกูร งานของประชาชนประชาธิปไตยให้เข้มแข็งต่อไป ”

Advertisement

“นายวัฒน์เขียนเพลง ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ ผมเขียนเพลง ลูกจะกลับพร้อมกับฉัน เราเป็นศิลปินทุกคนต้องร่วมไปอยู่กับวัฒน์ แต่ภารกิจเพื่อประวัติศาสตร์ทางประชาธิปไตยต้องดำเนินงานต่อไป” นายอดิศรกล่าว
ก่อนปิดท้ายว่า

“ขอให้ดวงวิญญาณของเพื่อนของสหาย อยู่บนแดนสวรรค์ที่มีเสรี ลูกๆ ที่อยู่นี่ผมจะทำหน้าที่ เพราะผมเคยทำหน้าที่สู่ขอลูกสะใภ้ให้แล้ว จะทำหน้าที่แทนคุณเล็กและทำหน้าที่แทน คุณวัฒน์ วรรลยางกูร ขอให้วัฒน์ วรรลยางกูรมีความสุข เพราะคุณยังไม่ตาย คุณยังยืนอยู่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 2516 ตรงนี้ คุณยิ่งใหญ่เกินกว่าคนที่ยึดอำนาจไป” นายอดิศรกล่าว

จากนั้น นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน แกนนำกลุ่มราษฎร กล่าวว่า ตนมาที่นี่ ด้วยสัญญาใจบางอย่าง ตนกับพี่วัฒน์ เรามีโอกาสได้พบกันในช่วงเวลาสั้นๆ ที่อยู่ในขบวนสายธารคนเสื้อแดง ได้พูดคุย กินเหล้า และบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้

นายอานนท์ นำภา
นายอานนท์ นำภา

“พี่วัฒน์ ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยคนแรกที่เสียชีวิตในต่างแดน ถ้าจะพูดให้ถึงที่สุด ผู้ที่อภิวัฒน์ประเทศ อย่าง อ.ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป. หรือนักคิดนักเขียนคนสำคัญ อย่างคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ต่อสู้และเสียชีวิตในต่างแดน ศัตรูที่พวกเขาต่อสู้ ต้นไม้ต้นใหญ่ ปัจจุบันก็ยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน และมรดกที่พวกเขาได้ส่งต่อให้คนรุ่นใหม่วันนี้ก็ยังอยู่ พี่วัฒน์ผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนาน”

“สิ่งที่พี่วัฒน์ทำ ไม่ได้สูญหาย แต่ถูกส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ อย่างแนบแน่น มั่นคง วันนี้ยังมีคนรุ่นใหม่ต่อสู้ตามเส้นแนวทางของผู้อภิวัฒน์ประเทศ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพมีคนรุ่นใหม่หลายคนที่ตอนนี้ยังต่อสู้อยู่ทั้งในและต่างประเทศ อย่างคุณ ตะวัน, เอกชัย หงส์กังวาน เพราะพวกเขาต่อสู้ และต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ” นายอานนท์กล่าว

โดยผู้ร่วมงาน ร่วมกันปรบมือ ส่งกำลังใจถึงนักต่อสู้ที่อยู่ในเรือนจำ

นายอานนท์กล่าวต่อว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยหลายร้อยคน นับแต่ปี 2553 มีเสื้อแดงลี้ภัยไปอยู่ลาว, กัมพูชา หลายร้อยคน ปัจจุบันก็ยังอยู่ ผู้ลี้ภัยหลายคน เสียชีวิตโดยถูกฆาตกรรม วันก่อนเพิ่งระลึกถึงคุณ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกยิงตาย

“หลายคนไม่มีโอกาสกลับประเทศ เพราะอำนาจไล่ล่า ทั้ง อ.สุรชัย แซ่ด่าน, วันเฉลิม, ภูชนะ ล้วนเสียชีวิตในสายธารการต่อสู้ทั้งสิ้น วันนี้เราสูญเสียนักคิด นักเขียนคนสำคัญไปคนหนึ่ง แต่พี่วัฒน์จะยังอยู่กับเรา วันนี้มีกิจกรรมทั้งวัน ผมจะอยู่ร่วมให้พี่วัฒน์จากไปอย่างสงบ มั่นใจว่าคนรุ่นใหม่จะสู้อย่างถึงที่สุด เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” นายอานนท์กล่าว

ต่อมา น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อ่านบทกวี ‘กรีดเลือดพาล’ ที่เขียนโดย “สมหวัง ยังวัน” ความตอนหนึ่งกล่าวถึงการต่อสู้ของวัฒน์ วรรลยางกูร ที่ถูกทำให้พลัดถิ่น แต่ยังคงเจตนารมณ์การต่อสู้ด้วยสองมือเปล่า และปากกา

น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

“เกิดที่ไทย ตายที่ไหน ใช่สาระ….”
“ลุกเปลี่ยนแปลง แทงมีด กรีดเลือดพาล”

จากนั้น เวลา 10.23 น. เพียงคำ ประดับความ กวีหญิงชื่อดัง กล่าวอาลัยด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ความว่า ในฐานะคนที่อ่านหนังสือวัฒน์ตั้งแต่ ม.ปลาย ซึ่งมีผลต่อความคิดอย่างมากช่วงเรียนมหาวิทยาลัย วัฒน์ คือนักเขียนที่อยู่ในใจเรามากที่สุด มีอิทธิพลต่อความคิด

ปี 2552 เราได้มีโอกาสเจอกัน เป็นคนหนึ่งที่ไปชุมนุม คือนักเขียนที่เราศรัทธา เดินขึ้นเวทีประกาศจุดยืนชัดเจน ตัวหนังสือทุกตัวที่เราอ่านเขามา ไม่เคยผิดหวัง ได้ทำงานร่วมกันหลังล้อมปราบคนเสื้อแดง  เมษายน-พฤษภาคม 53 รวมกลุ่มเพื่อนร่วม จัดประกวดบทกวีเพื่อนแสดงออกความรู้สึก ช่วงนั้น มีคนตายมากมาย เราไม่ได้มีชื่อเสียง จึงหาคนที่จะช่วยทำให้เสียงดังขึ้น คนแรกที่นึกถึง คือพี่วัฒน์ จากนั้นจัดประกวด ‘กวีฟรีไรท์อวอร์ด’ เพราะพี่วัฒน์เข้ารอบซีไรท์ เยอะมาก แต่ไม่เคยได้รับรางวัล จากนั้นเดินทางไปต่างจังหวัด ขับเคลื่อนแนวรบศิลปวัฒนธรรม ทุกครั้งที่ไป ที่วัฒน์ไม่เคยถามว่ามีใครไปด้วย เป็นนักเขียนที่ไม่เคยต้องใช้กระไดปีนขึ้นไปคุย ทำให้รู้สึกว่า ‘เราเท่ากัน’ เพียงคำกล่าว

ครั้งสุดท้ายที่เจอกัน คือ โรงแรมแถวประดิพัทธ์ จัดงานให้ ไม้หนึ่ง ก.กุนที วัฒน์เคยพูดเล่นๆ ว่า ‘ถ้าเกิดรัฐประหาร ตัวใครตัวมัน’ แต่ไม่คิดว่าจะเกิดจริง หลัง รัฐประหาร 2549 ก็เกิดรัฐประหาร 2557 ไม่มีกวีไหน ที่จะแทนความรู้สึกได้

จากนั้น เพียงคำ อ่านบทกวี เนื้อหาระบุว่า วัฒน์คือหนึ่งในนักเขียนที่สร้างไฟฝัน และหวังว่าจะได้พบกันด้วยรักและอุดมการณ์ แต่ต้องมาลาไกล ปิดฉากชีวิต
ด้วยเป้าหมาย ‘ฝันให้ไกลไปให้ถึง’ ยังท้าทาย เผด็จการ และชะตากรรม

“ขึ้นรถไฟสังกะสี สู่กระท่อมเสรีภาพ
พรุ่งนี้ฝูงพิราบ จะกลับมาเมื่อฟ้าค่ำ
มนต์รักทรานซิสเตอร์ ยังสดใสและร่ายรำ
ทุกถ้อยเพียงคำ กระจ่างชัด วัฒน์ วรรลยางกูร”

ต่อมาเวลา 10.30 น. นายศรัณย์ สัชชานนท์ หรือ นัท รองประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กล่าวว่า วันนี้เนื่องในโอกาสที่รำลึกถึงวัฒน์ วรรลยางกูร กวีผู้จากไป นักเขียนผู้ต่อต้านเผด็จการทรราชจนวาระสุดท้ายของชีวิต ตนได้แต่งกลอนบทหนึ่งเพื่อรำลึกถึงสหายร้อย

“หนึ่งวิหค โผผิน บินละล่อง
สู่ครรลอง ดั่งใจ ปรารถนา
เพื่อเติมเต็ม ปณิธาน แห่งวิญญาณ
อันแกร่งกล้า ดุจผา แห่งภูพาน
แล้วจึงร่าย บรรเลง เพลงกวี
แห่งเสรี แด่ผองชน ได้ขับขาน
กระสันเสียง ดังกึกก้อง ชัชวาล
เป็นสะพาน สู่ครัน จิตใจคน
สยายปีก ไทยท้าว ทรราช
แล้วประกาศ ให้ทั่ว ทุกแห่งหน
วิหคนี้ ได้ยืนหยัด อดทน
จนถึงคราว ประชาชน บรรลุชัย
คนคือคน เท่ากัน ทุกคนชั้น
คือความฝัน ที่วิหก ยึดมั่นไว้
คนคือคน ไร้สูงต่ำ เหนือผู้ใด
เสมอภาค สถิตไซร้ ในใจคน
ณ วันนี้ วิหคนั้น บินลาแล้ว
แต่ไม่แคล้ว ทิ้งปณิธาณ ไว้ทุกแห่งหน
อุดมการณ์ วัฒน์ วรรลยางกูร ดั่งสายชล
ไหลท่วมท้น ตราบจน ชีวาวาย”

นายศรัณย์กล่าวว่า ในฐานะตนเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ได้ร่วมรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาคมมาตลอด 3 ปีตั้งแต่เขารั้วมหาวิทยาลัย งานเขียน  บทเพลงของวัฒน์ วรรลยางกูร ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลต่อจิตใจ ต่อความอยากต่อสู้ ความกระหายเสรีภาพ ความกระหายความเสมอภาคเพื่อประชาชน ต่อประชาชนและนักศึกษาอย่างเรา สหายน้อยจึงเป็นผู้ที่มีคุณูปการอันใหญ่หลวงกับนักศึกษาธรรมศาสตร์  ต่อนักศึกษาที่ใฝ่หาความเป็นคนเท่ากัน ในประเทศที่เผด็จการทรราช เถลิงอำนาจ

“สำหรับผม สหายร้อย ก็เหมือนกับนกพิราบ เหมือนนกวิหค ที่สยายปีก บินไปอย่างเสรีตามใจตน ไม่ยอมอยู่ใต้ผู้ใด บินล่องไปตามความฝัน บินล่องไปตามเสียงเพลงและบทเพลงกวี ที่ตนเองได้รังสรรค์ขึ้นมา และบทกวีและบทเพลงเหล่านี้ จะกลายเป็นแรงบันดาล ใจจะกลายเป็นสิ่งที่เติมเต็มความฝัน ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ให้เยาวชนได้ติดตาม ได้ศึกษาและได้รับแรงบันดาลใจ เพื่อการปฏิวัติสังคมต่อไป ขอไว้อาลัยวัฒน์ วรรลยางกูรมา ณ ที่นี้ด้วย” นายศรัณย์กล่าว

จากนั้น เวลา 10.36 น. นายกิตติวัฒน์ หรือ หยก สมาชิกห้องสมุด People Space 1932 กล่าวรำลึก

เวลา 10.39 น. น.ส.ปนัดดา ศิริมาศกุล หรือ ต๋ง ทะลุฟ้า กล่าวว่า วัฒน์เป็นนักต่อสู้ ที่สมควรได้รับการยกย่อง เป็นวีรบุรุษที่สู้กับเผด็จการชั่วร้าย ผ่านวรรณกรรม และบทกวี ที่สะท้อนอุดมการณ์และเจตนารมณ์ ที่ต้องการสานต่อ แต่ด้วยการมีอยู่ของกฎหมายไม่ชอบธรรม ทำให้วัฒน์ที่ควรจะใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิด กลับต้องหลบหนี ไม่เพียงเข้าป่า แต่ลี้ภัยไปต่างประเทศถึง 2 ครั้ง

ยังมีวรรณกรรมมากมายจากปลายปากกาที่สร้างฝันให้คนรุ่นใหม่ ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

“ทะลุฟ้า เราได้เรียนรู้และรับทราบสิ่งที่วัฒน์พยายามทำตลอด จนวาระสุดท้ายของชีวิต เราขอบคุณ ที่ร่วมปูทางให้เราตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน สัญญาว่าจะนำโลกใบใหม่มาสู่สังคม”

“ไม่ควรมีใครต้องลี้ภัยจนตาย หรือมีกฎหมายใดมาทำลายชีวิตได้ เพียงเพราะเรามีความคิดไม่ถูกใจผู้ปกครอง เราขอเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อเจตนารมณ์” น.ส.ปนัดดากล่าว

จากนั้น น.ส.ปนัดดาอ่านบทกลอน ของ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ เนื้อหากล่าวถึง การจารึกผลงานของวัฒน์ที่บันทึกไว้เป็นพยานประวัติศาสตร์เพื่อพลิกฟื้นตำนาน

ต่อด้วย นายวุฒิพงษ์ เลาหไพโรจน์ ประธานเครือข่ายเดือนตุลา กล่าวไว้อาลัยว่า ขอขอบคุณครอบครัววัฒน์ และคณะกรรมการจัดงาน เราปลื้มปีติ ดีใจไปกับวัฒน์ เพราะบรรดาผู้ที่ร่วมงาน ประกอบไปด้วยนักต่อสู้ตั้งแต่ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภาทมิฬ กระทั่งการต้อต้านรัฐประหารปี 49 และ 57

“วัฒน์เคยพูดว่า เขาเป็นนักเขียนตลอดกาล เป็นนักเขียนที่จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ชาติเรา เราอาจมีนักการธนาคาร นักวิชาการด้านต่างๆ มีกวี นักประพันธ์อีกนับพันคน แค่คนอย่างวัฒน์ได้พิสูจน์ตัวเอง บนหนทางของการต่อสู้ ความเป็นธรรมและมนุษยนิยม ครั้งหนึ่งคนชื่อวัฒน์ได้ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินนี้ และได้สร้างคุณูปการใหญ่หลวง

วัฒน์เป็นตำนานหนึ่ง ที่คนรุ่นลูกหลานจะต้องพูดถึง
ขอร่วมรำลึกและดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่วัฒน์ได้วางไว้” นายวุฒิพงษ์กล่าว

จากนั้น ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวอาลัย

บรรยากาศ เวลา 10.51 น. ผู้ร่วมงาน ร่วมวางพวงหรีด และดอกไม้ร่วมอาลัย เริ่มจากพวงหรีดของกลุ่มวีโว่ ทั้งนี้ บางรายได้พนมมือบอกกล่าววัฒน์ และโค้งคำนับหน้ารูปภาพด้วยความคารวะ

ทั้งนี้ เวลา 10.08 น. นายอภินันท์ หรือ ซิดนี่ย์  เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ กล่าวถึงวัฒน์ ความตอนหนึ่งว่า

“ถ้าอาวัฒน์ยังอยู่ตอนนี้ คงจะบอกว่า ยกเลิก 112 เถิดพี่น้อง”

บรรยากาศเวลา 11.08 น. สำนักพิมพ์ลูกสมุน ได้แจกจ่ายหนังสือ “ในสายธาร วัฒน์ วรรลยางกูร” รวมบทรำลึกจากคนกว่า 50 ชีวิต ทั้งในวงการหนังสือ นักวิชาการ ศิลปิน ช่างภาพ ผู้กำกับ เพื่อนสนิท และลูกของวัฒน์ วรรลยางกูร ซึ่งพิมพ์จำนวนจำกัด เพียง 400 เล่ม สำหรับแจกในงานรำลึกช่วงเช้านี้

ทั้งนี้ มีผู้ต่อแถวรอรับหนังสือเป็นที่ระลึกจำนวนมาก ล้นหน้าอนุสรณ์สถาน 14 โดยมีการยื่นบัตรประชาชน เพื่อลงชื่อรับหนังสือ

ก่อนสิ้นสุดกิจกรรมในช่วงเช้าในเวลาประมาณ 11.20 น.

สำหรับเนื้อหาภายในเล่ม บอกเล่าเรื่องราวของ ‘วัฒน์’ พร้อมภาพประกอบชีวิต ตั้งแต่วัยหนุ่มไปจนถึงช่วงปลายชีวิตที่ฝรั่งเศส อาทิ เป็นนักเขียนที่ได้รับการกล่าวถึงว่า ‘กระดูกสันหลังตั้งตรง’ จนวันสุดท้ายของชีวิต, เรื่องเล่าจากในป่ายุคหลัง 6 ตุลา, การต่อสู้ทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2549, ช่วงลี้ภัยไปต่างประเทศ, เรื่องเล่าของหนังสือเล่มสุดท้าย ไปจนถึงเรื่องเล่าในบ้านผ่านตัวหนังสือของลูกๆ

รายชื่อผู้ร่วมเขียนรำลึก อาทิ กฤช เหลือลมัย, เกษียร เตชะพีระ, ขรรค์ชัย บุนปาน, คมทวน คันธนู, คำสิงห์ ศรีนอก, จตุพล บุญพรัด, จรัล ดิษฐาอภิชัย, จักรภพ เพ็ญแข, จำลอง ฝั่งชลจิตร, จิ้น กรรมาชน, เจริญ กุลสุวรรณ, ชาติ กอบจิตติ, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, เชาวลิต โพธิเจริญ, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, แดนอรัญ แสงทอง, ถนอม ชาภักดี, ทองธัช เทพารักษ์, ธเนศร์ เวศภาดา, ธิดา ถาวรเศรษฐ, ธิติ มีแต้ม, ธีร์ อันมัย, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, บุญส่ง นาคภู่, ปรวย, ปราปต์ บุนปาน, เป็นเอก รัตนเรือง, เพียงคำ ประดับความ, ภู กระดาษ, มานิต ศรีวานิชภูมิ, เมฆ’ ครึ่งฟ้า, รชา พรมภวังค์, เรเชล แฮร์ริสัน, เริงชัย ประชาธรรม, วจนา วรรลยางกูร, วนะ วรรลยางกูร, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, วสุ วรรลยางกูร, วาด รวี, เวียง-วชิระ บัวสนธ์, ศุ บุญเลี้ยง, สินสวัสดิ์ ยอดบางเตย, สุจิตต์ วงษ์เทศ, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, เหวง โตจิราการ, อดิศร เพียงเกษ, อธิคม คุณาวุฒิ, อุทิศ เหมะมูล และไอดา อรุณวงศ์

บรรยากาศเวลา 12.50 น. นายจตุรภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาวดิน แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า, นายถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง และนายธีระพล อันมัย หรือธีร์ อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เดินทางมาร่วมวางดอกไม้ พร้อมชู 3 นิ้วบันทึกภาพร่วมกัน ขณะเดียวกันมีผู้ทยอยเดินทางมาวางดอกไม้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับบรรยากาศ หน้าอนุสรณ์ 14 ตุลา โดยรอบ มีร้านค้ามากมายที่ขายทั้งอาหาร เครื่องดื่ม หนังสือเก่าเก็บ หายาก โดยหนังสือที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง และหนังสือของวัฒน์ วรรลยางกูล อาทิเช่น ‘ไพร่กวี’ เขียนโดยวัฒน์ วรรลยางกูร, ใต้ธงปฏิวัติ หนังสืองานศพของ ธง แจ่มศรี เป็นต้น รวมถึงมีบูธเปิดให้เขียนโปสการ์ดเกี่ยวกับการปล่อยตัว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่ถูกถอนประกัน ในคดี ม.112

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image