วาด รวี ชี้ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ สร้างผลงานจาก ‘น้ำเนื้อของชีวิต’ สร้างรอยจารึกจากเสียงจริงของชาวบ้าน

วาด รวี ชี้ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ สร้างผลงานจาก ‘น้ำเนื้อของชีวิต’ สร้างรอยจารึกจากเสียงจริงของชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ครอบครัววรรลยางกูร และกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัย “วัฒน์ วรรลยางกูร” กวีและนักเขียนชื่อดังเจ้าของรางวัลศรีบูรพา และผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยช่วงเช้ามีการนำภาพของวัฒน์ วรรลยางกูร เดินขบวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาตั้งยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และปักธงแดง เพื่อแสดงออกถึงการสานต่อเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก่อนกลุ่มและองค์กรต่างๆ กล่าวไว้อาลัย อ่านบทกวี และวางช่อดอกไม้

บรรยากาศเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา หลังอนุสรณ์สถานฯ สี่แยกคอกวัว มีการฉายภาพยนตร์ “ไกลบ้าน” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

จากนั้นเวลา 14.30 น. เข้าสู่ช่วงเสวนาในหัวข้อ “กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย” ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ร่วมฟังเสวนาคับคั่ง โดยมีการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้ร่วมงานทุกราย ทั้งนี้ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ มาร่วมฟังเสวนาด้วย

ในตอนหนึ่ง นายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี นักเขียนชื่อดัง กล่าวว่า อุดมการณ์ในการสร้างงานของวัฒน์ไม่ได้เดินในทางเดียวตลอด ในช่วงแรกที่วัฒน์เริ่มเขียนหนังสือ ไม่นานก็เกิดกระแสเพื่อชีวิต วัฒน์จึงถือได้ว่าเป็นนักเขียนเพื่อชีวิตรุ่นแรก และเป็นสัญลักษณ์ของ “เพื่อชีวิต” ก็ว่าได้ เป็นงานเขียนที่มีธงชัดเจนว่าเขียนเพื่ออะไร เพื่อประชาชน ตีแผ่การกดขี่ทางชนชั้น

Advertisement

วาด รวี กล่าวว่า ต่อมามีกวีที่ชื่อว่า “ทางสายใหม่” ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้เขาเกิดอุดมการณ์การเขียนเป็นต้นมา หลังจากปี 2523 ที่ พคท.แตกสลาย ฝ่ายซ้ายพ่ายแพ้ อุดมการณ์นี้สลายลง วัฒน์ต้องปรับตัวหลังออกจากป่าเพราะออกมาแบบคนพ่ายแพ้ ซึ่งในเมืองเกิดกระแส “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ขึ้นมาแล้ว มีรางวัลซีไรต์แล้ว ในขณะที่วัฒน์ยังอยู่ในป่า วัฒน์จึงต้องปรับตัว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

“งานชิ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดคือนิยาย ตำบลช่อมะกอก ตีแผ่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชนชั้นนำ จนกลายเป็นหนังสือต้องห้าม และหากมาคิดถึงเรื่อง ฉากและชีวิต ปี 2539 ที่ไม่มีความขัดแย้ง หรือเรื่องชนชั้น สะท้อนว่าบางอย่างเปลี่ยนไปในงานของวัฒน์ เหมือนกับมาตั้งสติใหม่ว่างานเขียนเขาจะมุ่งสู่อะไร แต่พูดเรื่องของจิตใจกวี และคุณค่าของงานเขียน อุดมคติในงานเขียนของวัฒน์เปลี่ยนไป หากเทียบกับ วิสา คัญทัพ หรือคนอื่นๆ วัฒน์คือคนที่ปรับตัวไวสุด

“มนต์รักทรานซิสเตอร์ คืองานเขียนชิ้นแรกหลังออกจากป่าที่ไม่ได้พูดถึงการเมือง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเส้นทางนักเขียนจะเป็นอย่างไรต่อ มาถึงจุดพีคในเรื่อง ฉากและชีวิต ถือว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการปรับตัวเข้ากับบรรยากาศหลังการพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้าย เพื่ออยู่กับสังคมแบบนี้ที่ไม่พูดถึงเรื่องเก่า 14 ตุลา, 6 ตุลา ในแง่การต่อสู้เหมือนเดิม และมาเกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้ง หลัง 2549 ที่ทำให้การเมืองเปลี่ยนอีกครั้ง” วาด รวี กล่าว

จากนั้น วาด รวี อธิบายต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม วัฒน์ยังอยู่ในภวังค์ความคิดแบบนักเขียนไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้เปลี่ยนทันที แต่ใช้เวลาพอสมควร เขาแสดงบทบาทอยู่ข้างคนเสื้อแดงชัดเจนในปี 2552 ขณะที่ปี 2549 ยังงงๆ อยู่

“จากอุดมการณ์เพื่อชีวิต จนป่าแตก ปรับตัวใหม่ วัฒน์เคยให้สัมภาษณ์เปรียบเทียบปัจจุบัน เขาบอกตอนนั้นยังมึนงงอยู่ ไม่เหมือนตอนนี้ หลังปี 2549 เหมือนเขาค้นพบความจริงใหม่ ก่อตัวอุดมการณ์ใหม่อีกครั้ง ที่เห็นได้ชัดหลังปี 2549 วัฒน์ไม่มีนิยายออกมาเลย เพราะงานในช่วงพีคของเขาไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว สถานการณ์สวิง ทำให้นักเขียนคนหนึ่งโดนเหวี่ยงไปมาระหว่าง 2 ฝั่ง เหมือนลูกปิงปอง” วาด รวี วิเคราะห์

วาด รวี ยังกล่าวถึงวงการนักเขียนด้วยว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นคนสร้างคำว่า “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ขึ้นมา และซีไรต์เอาไปใช้ อย่างไรก็ตาม ตนมองไม่เหมือนนายสุชาติ เพราะมองว่าก่อนที่วัฒน์ออกจากป่ายังไม่มีลักษณะปัจเจกนิยม ซึ่งมาเกิดหลังจากวัฒน์ออกจากป่าแล้ว หากอ่านงานให้ละเอียดจะพบว่ามีความแตกต่าง ลักษณะที่คงเส้นคงวาคืออารมณ์โรแมนติกกับความยากจนที่เห็นตั้งแต่พิมพ์เล่มแรก หนังสือยานเกราะที่ว่าผู้หญิงหากินก็มีศักดิ์ศรี มองแง่งามของชนชั้นล่าง แต่หลังออกจากป่า สิ่งที่ไม่มีคือ “ปัจเจกนิยม” ซึ่งผนวกกับ “ความโรแมนติก” ประเด็นกดขี่ชนชั้นไม่ชัด มีลักษณะประนีประนอมมากขึ้น แต่วัฒน์มีท่าทีรับฟังและปรับตัวเร็วกว่า ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับนักเขียนหลายคนที่อกหักจากอุดมการณ์ล่มสลาย จึงหันไปลงลึกกับภาวะภายใน “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งก็ช่วยให้วรรณกรรมพัฒนา ตัวละครสมจริงขึ้น

“ผมคิดว่าจักรวาลทางการเมืองของคนในสังคมไทยหลังวิกฤตการเมืองแตกกระจาย ผนวกการมีโซเชียลศูนย์กลางในการอธิบาย จึงหลากหลาย และต่างมองจากศูนย์กลางของตัวเอง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ ความเคยชินกับคำว่าชุมชนวรรณกรรม ยุคหลังไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้ยังมีความหมายสำหรับคนรุ่นใหม่หรือไม่ เพราะผิดหวังกับสังคมนักเขียน ซึ่งตอนนี้อาจจะไม่มีสังคมนั้นแล้ว

“งานสไตล์วัฒน์คืองานที่ไม่ค่อยมีคนเขียนอีกแล้ว มีตอนหนึ่งที่เล่าว่า หลานเขาเป็นนักเขียน เอางานมาให้อ่าน ในงานนี้บรรยายว่ามีหิมะตกด้วย ซึ่งวัฒน์บอกว่าเขียนไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน นี่เป็นลักษณะที่แทบไม่มีในนักเขียนปัจจุบัน งานที่เขาผลิต ผลิตจากน้ำเนื้อของชีวิต มีปูมหลังแบบชีวิตลูกชาวบ้าน ต้องให้เครดิตกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิต แต่หลังปี 2540 คนที่จะมาเป็นนักเขียนได้คือชนชั้นกลาง ซึ่งสไตล์ของวัฒน์จะเป็นรอยจารึก บางอย่างเราก็อยากได้เสียงจริงจากชาวบ้าน และไม่ง่ายที่จะมี” วาด รวีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image