สุชาติ เปิดฉากชีวิต ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ หวังความเจ็บปวด ขมขื่น เป็นบทเรียนมิตรน้ำหมึกในโลกคู่ขนาน

สุชาติ เปิดฉากชีวิต ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ หวังความเจ็บปวด ขมขื่น เป็นบทเรียนมิตรน้ำหมึกในโลกคู่ขนาน

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ครอบครัววรรลยางกูร และกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัย “วัฒน์ วรรลยางกูร” กวีและนักเขียนชื่อดังเจ้าของรางวัลศรีบูรพา และผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยช่วงเช้ามีการเชิญภาพของวัฒน์ วรรลยางกูร เดินขบวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาตั้งยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และปักธงแดง เพื่อแสดงออกถึงการสานต่อเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก่อนกลุ่มและองค์กรต่างๆ กล่าวไว้อาลัย อ่านบทกวี และวางช่อดอกไม้

บรรยากาศเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา หลังอนุสรณ์สถานฯ สี่แยกคอกวัว มีการฉายภาพยนตร์ “ไกลบ้าน” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

จากนั้นเวลา 14.30 น. เข้าสู่ช่วงเสวนาในหัวข้อ “กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย” ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ร่วมฟังเสวนาคับคั่ง โดยมีการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้ร่วมงานทุกราย ทั้งนี้ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ มาร่วมฟังเสวนาด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

ในตอนหนึ่ง นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2554 กล่าวว่า ตนจำชัดเจนไม่ได้ว่ารู้จักวัฒน์ตอนไหน แต่เข้าใจว่าเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งวัฒน์เรียนอยู่ที่ ม.รามคำแหง เขาเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเรียน เริ่มจากวัยเด็กเติบโตที่ลพบุรีและย้ายมาอยู่ที่เชียงราก ปทุมธานี ต่อมา ช่วงเรียนหนังสือสมัยมัธยม เริ่มส่งเรื่องสั้นไปนิตยสารยานเกราะ

“พ.ศ.2515 คือช่วงที่เขาอยู่ชั้นมัธยม 5 ส่งงานเขียนไปหลายที่ เช่น ฟ้าเมืองไทย ชัยพฤกษ์ แต่เรื่องแรกได้ลงในนิตยสารยานเกราะ ซึ่งย้อนแย้งว่า บก.นิตยสารนี้มีส่วนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ต่อมา ช่วง 14 ตุลา มีผลสะเทือนกับวัฒน์มาก งานเขียนของเขาเกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยเข้ามาเขียนประจำที่ นสพ.อธิปัตย์ หลัง 14 ตุลา มีผลงานเรื่องสั้น ‘นกพิราบสีขาว’ ปี 2518 ช่วงที่อยู่ในป่า เขียนเรื่อง ‘ใต้เงาปืน’ ก่อนออกจากป่าในปี 2524
วัฒน์พยายามทำงานเขียนเป็นอาชีพ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ที่ลงในนิตยสารบางกอก วัฒน์พยายามใช้งานเขียนในการแสดงออกสถานะทางชนชั้นของเขา ขณะที่มนต์รักทรานซิสเตอร์โดนวิจารณ์ว่าไม่สนุก พอเป็นหนังขึ้นมา ผมก็พูดยั่วเย้าว่าหนังดีกว่าหนังสือ” นายสุชาติกล่าว

Advertisement

นายสุชาติกล่าวว่า วัฒน์ไม่ตามใคร แต่ก็ไม่นำใคร ทั้งเรื่องงานและชีวิต ความเป็นอิสระชนในหลายรูปแบบทำให้เขามีผลงานหลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างจากนักเขียนในช่วงเดือนตุลาที่ค่อนข้าง “เป็นสูตรสำเร็จ” คือ แม่เจ็บ ลูกตาย ควายหาย ข้าราชการทุจริต แต่เป้าหมายของวัฒน์ต้องการสื่อเรื่องความเหลื่อมล้ำ ต่อมา วัฒน์ต้องลี้ภัยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ไป สปป.ลาว

“วัฒน์ถูกหมายหัว ต้องเนรเทศไปที่ลาว และพอเขาไปถึงฝรั่งเศส คนส่งข่าวมา ผมรู้สึกมีความสุขมาก หลังจากนั้นก็คุยทางกล่องข้อความและโทรศัพท์ทางไกล ก่อนที่ผมจะมีปัญหาเรื่องปลดผมจากศิลปินแห่งชาติ วัฒน์บอกผมว่าพี่อยู่มาป่านนี้แล้วไม่ต้องเอาไปแลก มันเป็นความห่วงใยที่ผมไม่ลืม กรณีที่เกิดกับผมเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับข่าวที่ผมทราบว่าเขาป่วย

“ผมคิดว่าเราเคลื่อนไหวมาด้วยกัน เราอยู่ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 จะเกิด เรารู้ว่าพัฒนาการสังคมจะไปทางไหน

“วัฒน์อยู่ในขบวนเพื่อชีวิต วัฒน์รับรู้ว่าควรขยายศิลปะอย่างไรให้มีชีวิต แต่เพื่ออะไรช่างมัน ที่สำคัญคือต้องมีอิสระ มีเสรีภาพ และมีนัยยะเดิมเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น การต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่วัฒน์พูดมาตลอดคือคนเหมือนกันแต่ทำไมจึงมีอะไรไม่เหมือนกัน นี่คือจุดยืนการเลือกข้างของเขามาตั้งแต่ปี 2518” นายสุชาติกล่าว

นายสุชาติกล่าวว่า ขอให้สิ่งที่วัฒน์ได้สร้างไว้ในความหลากหลายของงานเขียน รวมถึงบทเรียนต่างๆ ที่ได้รับรู้จากความเจ็บปวดและความขมขื่นของเขา ทำให้แวดวงที่เหมือนเป็นโลกคู่ขนานได้มีความชัดเจน อย่างน้อยก็ชัดเจนในฐานะที่เป็นมิตรน้ำหมึก ในฐานะที่ร่วมอยู่ในสมรภูมิเดียวกันแต่แยกกันรบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image