เลขากก.ญาติวีรชนแจงปมวิพากษ์งาน 30 ปีพฤษภา 35 เชื่อ ‘เป็นเรื่องเข้าใจผิด’ จากร่างกำหนดการ ‘ภาษาอังกฤษ’

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

สืบเนื่องกรณี นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เผยแพร่แถลงการณ์ ‘ประณามการบิดเบือนเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภา 35’ ในคืนวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีเนื้อหาระบุถึงการไม่เห็นด้วยต่อการเชิญ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าร่วมงาน โดยมองว่าเป็นการไม่ให้เกียรติคุณค่าความเสียสละชีวิตของวีรชน  (อ่านข่าว ล่าชื่อแถลงประณามงาน ‘รำลึก 30 ปีพฤษภา 35’ บิดเบือนเจตนารมณ์วีรชน ปมเชิญ ‘บิ๊กป้อม-อภิสิทธิ์’) ต่อมา เครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (People’s Network for Democracy: PNP) เชิญชวนกลุ่มองค์กรต่างๆ ร่วมกันลงชื่อเพื่อแสดงเจตจำนงไม่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว รวมถึงนักวิชาการชาวต่างชาติ

ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 14.15 น. นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวกับ ‘มติชน’ ถึงประเด็นดังกล่าวว่า การออกแถลงการณ์วิจารณ์ร่างกำหนดการงานรำลึก 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ที่ระบุว่ามีการเชิญพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้น ตนขออนุญาตชี้แจงแทนคณะกรรมการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรมว่า น่าจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดเพราะเป็นแค่ร่างกำหนดการภาษาอังกฤษที่ฝ่ายต่างประเทศใช้ประสานงานติดต่อวิทยากรจากต่างประเทศมาร่วมสัมมนา ซึ่งปกติจะไม่เผยแพร่กำหนดการทางสาธารณะ หากยังไม่ได้เข้าประเทศมา เพื่อปกป้องการเดินทางเพราะอาจจะถูกแบล็คลิสต์หรือห้ามเข้าประเทศได้ แต่ก็มีคนเผยแพร่ไปแล้ว
.
“แถลงการณ์นั้นคงต้องการพาดพิงไปที่อาจารย์โคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภา และนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนฯ โดยตรง แต่ที่บอกว่าแถลงการณ์น่าจะเข้าใจผิด เนื่องจากกิจกรรมพิธีรำลึกเฉพาะวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ในปีนี้ คณะกรรมการฯ เชิญทุกฝ่ายเหมือนเช่นทุกปี มีประชาชนที่เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 35 มาร่วมกิจกรรมเหมือนเช่นทุกปีโดยไม่มีการแบ่งแยก รวมถึงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณจตุพร พรหมพันธ์ นายจำลอง ศรีเมือง ฯลฯ รวมถึงตัวแทนรัฐบาล พรรคการเมืองและภาคเอกชน บางปีก็มานั่งรำลึกกันคนละมุม แต่ปีนี้มีอภิปรายภาคบ่ายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้จัดจึงได้เชิญแต่ละคนร่วมอภิปรายบทเวทีเสวนาเพื่อสรุปบทเรียนความขัดแย้งเพื่อหาทางออกให้บ้านเมืองร่วมกัน (อ่านข่าว มีอะไรใน ‘รำลึก 30 ปีพฤษภา 35’ ? เปิดกำหนดการ 17 พ.ค.นี้ ก่อนนำมาซึ่งเสียงประณาม)
.

และเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ในปีนี้คณะผู้จัดงานจึงตัดสินใจไม่ได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นปีแรก ซึ่งธรรมดาจะต้องส่งผู้แทนรัฐบาลมาร่วมงานเพื่อแสดงความรับผิดชอบในนามรัฐ ต่อมาจึงมีชื่อเชิญรองนายกฯ แทน แต่ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะส่งใครมาหรือไม่ เพราะรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร หรือนายวิษณุ เครืองาม ก็ไม่เคยมางานแบบนี้เลย ส่วนใหญ่จะส่งข้าราชการสำนักนายกฯ มาแทนแทบทุกปีเพราะไม่เห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ประชาชน ผิดกับเหตุการณ์กวางจู เกาหลีใต้ ที่สร้างบรรทัดฐานทางการเมืองและประชาธิปไตย ในงานรำลึกทุกปี หากไม่ใช่ประธานาธิบดีก็นายกรัฐมนตรีจะต้องมาร่วมงานและคารวะวีรชน” นายเมธากล่าว

นายเมธากล่าวต่อไปว่า ในส่วนของคณะกรรมการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรมนั้น ประกอบไปด้วยมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 รวมถึงกรุงเทพมหานคร ฯลฯ ร่วมจัดงานรำลึกในวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 ธันวาคม 2546 รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวัน “พฤษภาคมประชาธรรม” เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์เดือนพฤษภาคม 2535 และให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดงานรำลึกวันพฤษภาประชาธรรม ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม โดยกรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานสนับสนุนอุปกรณ์การจัดงานทุกปีซึ่งต้องใส่ชื่อผู้แทนส่วนต่างๆ ให้ครบไว้ก่อน ส่วนมูลนิธิพฤษภาประชาธรรมและญาติวีรชน จัดหางบประมาณจัดงานเองทุกปี

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมรำลึก 30 ปีพฤษภาประชาธรรมในปีนี้มีความหลากหลาย ทุกฝ่ายสามารถจัดงานรำลึกได้ไม่มีใครกลุ่มใดเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ ซึ่งมีหลายองค์กรกำลังจัดกิจกรรมขึ้นไม่ว่าจะเป็น Amnesty International Thailand หรือเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ (อ่านข่าว แถลงจัดใหญ่ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม เปิดอนุสาวรีย์วีรชน จ่อส่งเทียบเชิญ ผบ.ทบ. ร่วมรำลึก)

Advertisement

นายเมธากล่าวว่า นอกจากกิจกรรมขององค์กรต่างๆ ที่ต่างจัดขึ้นในปีนี้นั้น งานรำลึก 30 ปีพฤษภาประชาธรรมยังได้มีการจัดขึ้นตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ – 27 มิถุนายน 2565 โดยคณะกรรมการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ซึ่งประกอบไปด้วยมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 รวมถึงกรุงเทพมหานคร รัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรประชาธิปไตย และองค์กรสิทธิมนุษยชน โดยเน้นสืบสานภารกิจ 30 ปีพฤษภาฯ หยุดวงจรการรัฐประหาร เพื่อสร้างประชารัฐธรรมนูญ ยุติบทบาททหารกับการแทรกแซงการเมืองไทย การอภิปรายวิชาการสาธารณะ มีเป้าหมายเชื่อมโยงเหตุการณ์ 30 ปีพฤษภา กับ 90 ปี 24 มิถุนา วันเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา และ 27 มิถุนายน วันสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประชาธิปไตยของผู้คนระหว่างวัย เพื่อทบทวนบทเรียนในอดีตเชื่อมต่อกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันกับข้อเสนอการปฏิรูปเชิงสถาบันต่างๆ และข้อเสนอการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยประสานงานเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายการพัฒนาประชาธิปไตย ยุติบทบาททหารกับการเมืองไทย ยุติความขัดแย้งและสร้างการปรองดองทางสังคม และที่สำคัญคือการหยุดยั้งการรัฐประหารมิให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง ปธ.ญาติวีรชน ร่ำไห้หน้าอนุสรณ์พฤษภา 35 ชี้ บิ๊กตู่ ล้มเหลว หนุนนศ.ปฏิรูป ค้านรัฐประหาร

ย้ายอัฐิ ‘วีรชนพฤษภา35’ ฝากวัดชนะสงคราม คาด 60 วันย้ายสู่อนุสาวรีย์ใหม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image