ย้อนผลงาน ‘ชำนาญ ยุวบูรณ์’ ผู้ว่าฯกทม.คนแรกใน ปวศ.ไทย ริเริ่มโปรเจ็กต์เพียบ

เปิดปูมประวัติผู้ว่าฯ กทม. คนแรก “ชำนาญ ยุวบูรณ์”

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใกล้มาถึงเข้าไปทุกที กำหนดเข้าคูหา อาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมนี้

ใครจะได้นั่งเก้าอี้พ่อเมือง ต้องจับตา ส่วนผู้ว่าฯ กทม. คนแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย มาจากการ ‘แต่งตั้ง’

(อ่าน ย้อนประวัติศาสตร์ ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ จากแต่งตั้งสู่เลือกตั้ง เปิดสมรภูมิสู้เดือดครึ่งศตวรรษ)

Advertisement

บุคคลผู้นั้น มีนามว่า ชำนาญ ยุวบูรณ์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2516 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ให้จัดรูปแบบการปกครองเป็น “กรุงเทพมหานคร” ที่รวมราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน

โดยก่อนหน้าที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรก ชำนาญ มีประวัติน่าสนใจอย่างมาก

ชำนาญ เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2457 อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง เข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนวัดราชาธิวาส โรงเรียนวัดสุทธิวราราม และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

Advertisement

ระดับอุดมศึกษา เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ทั้ง 3 ระดับ ปริญญาตรี ธรรมศาสตรบัณฑิต, ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต และปริญญาเอก รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต เกียรตินิยมดี ซึ่งนับเป็นคนแรกที่ได้ปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การรวมอำนาจและการกระจายอำนาจตามกฎหมายปกครองไทย”

นอกจากนี้ ยังได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่ต่างประเทศ สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางกฎหมายปกครอง มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส (DIPLOME D’ ETUDES SUPER-RIEURES DE DROIT ADMINISTRATIF) และสอบไล่ได้ปริญญาเอก DOCTEUR EN DROIT DE L’UNIVERSITE และเข้าศึกษาเป็นนักเรียนพิเศษของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฝรั่งเศส ECOLE NATIONALE D’ ADMINISTRATION

ด้านประวัติการทำงาน เมื่อตอนอายุ 20 ปี เริ่มรับราชการตำแหน่งปลัดอำเภอคลองตาล (ศรีสำโรง) จ.สุโขทัย ในปี พ.ศ.2477 ขึ้นเป็นนายอำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ในปี พ.ศ.2484 ต่อมาเมื่ออายุ 38 ปี ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ในปี พ.ศ.2495

ต่อมาเมื่ออายุ 43 ปี ขึ้นเป็นอธิบดีกรมมหาดไทย หรือกรมการปกครอง ในปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2500-2511 เป็นระยะเวลากว่า 12 ปี ถือว่าดำรงตำแหน่งอธิบดียาวนานที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งควบ นายกเทศมนตรีนครกรุงเทพ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2501-2511 และนายกเทศมนตรีนครธนบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2502-2511

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2512-2513 ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐอาร์เจนตินา ก่อนจะกลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรก ในปี 2516 ซึ่งเป็นตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายในทางราชการ

ผลงานที่โดดเด่นของชำนาญ ในฐานะอธิบดีกรมการปกครอง นายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ และเทศบาลนครธนบุรี คือ เป็นผู้ริเริ่มการทำนา 2 ครั้งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มขยายการผลิต, เป็นผู้ริเริ่มการปลูกกาแฟ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งได้รับผลดีมาถึงปัจจุบัน, ริเริ่มงานการพัฒนาชุมชนขึ้นในกรมมหาดไทย และได้ขยายตัวต่อมาจนเกิดเป็นกรมการพัฒนาชุมชน, ริเริ่มงานการเร่งรัดพัฒนาชนบทขึ้นในกรมการปกครอง และได้ขยายตัวต่อมาเป็นสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท, เสนอขอให้กระทรวงมหาดไทย ขยายการปกครองท้องถิ่น ในรูปสุขาภิบาลให้มีทุกอำเภอทั่วราชอาณาจักร การจัดตั้งวิทยาลัยการปกครอง, การจัดตั้งสันนิบาตมูลนิธิ, การเผยแพร่สถานธนานุเคราะห์ในส่วนของเทศบาลและกรุงเทพมหานคร การส่งเสริมให้ทุกอำเภอมีสุขาภิบาล, การส่งเสริมการจัดให้มีกองทุนเงินสะสมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด, การจัดตั้งสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เป็นต้น

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวไว้ในหนังสือ “อำนาจอยู่หนใด” อันเป็นหนังสือที่กล่าวถึงชีวประวัติของนักปกครองชั้นครู 7 ท่าน ว่า ชำนาญ เป็นผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มี “มหานิยมดีเลิศ” มีจุดเด่นที่ความเอื้อเฟื้อเจือจุนแก่คนทั่วไป โคยยกตัวอย่างตอนหนึ่ง ว่า

“ครั้งหนึ่ง ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพธนบุรี คนงานระดับภารโรงคนหนึ่งไม่มาทำงาน ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นไม่ทราบว่าหายไปไหน แต่นายกเทศมนตรี ผู้มีลูกน้องหลายหมื่นคนบอกว่าเมียเขาท้องแก่คงจะออกลูก และก็เป็นจริงตามนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่และคุ้นเคยกับผู้ใต้บังกับบัญชาทุกระดับชั้น”

ประสงค์ สุขุม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตเลขาธิการสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กล่าวไว้ในหนังสือ “สู้ภัยแผ่นดิน” ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงการต่อสู้ป้องกันภัยจากคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล ข้าราชการ และเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ว่า

“ท่านเป็นที่เกรงใจของผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ เพราะเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม เป็นที่เชื่อถือของผู้ใหญ่ในรัฐบาล และมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเมตตาต่อผู้อื่นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถือเป็นผู้มีบารมีสูงในหมู่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และที่สำคัญคือเป็นผู้บริหารที่มีใจกว้าง คือพร้อมที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น และทำให้ผู้อื่นด้วย โดยไม่มองแคบเฉพาะงานในหน้าที่ของตนเองเท่านั้น”

อีกทั้งเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังกล่าวถึงครั้งที่เคยร่วมงานกับ นายชำนาญ ในบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ใน ‘เนชั่นสุดสัปดาห์’ ว่า

“ถึงวันนี้ผมยังนึกชมเชยการมีความคิดกว้างไกลและทันสมัยของอธิบดีชำนาญ ยุวบูรณ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมการปกครอง และนายกเทสมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ และนครธนบุรีในยุคนั้น ที่ทำให้เมืองไทยมีโรงฆ่าไก่ที่ทันสมัย ได้เป็นรากฐานในการพัฒนากิจการโรงฆ่าไก่ที่ทันสมัยจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งได้หวัน เกาหลี ฮ่องกง ยังต้องตามหลังเราอยู่ เมืองไทยเราเทียบชั้นได้กับญี่ปุ่น…”

ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับคุณหญิงวลี มีบุตร-ธิดา 8 คน เป็นหญิง 2 ชาย 6

ชำนาญ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ด้วยโรคชรา สิริอายุได้ 100 ปี 8 เดือน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร

ขอบคุณข้อมูลจาก วิทยานิพนธ์ “มุขภาพ แนวคิด และผลงานสำคัญของอธิบดีกรมการปกครอง : กรณีศึกษา ดร.ชำนาญ ยุวบูรณ์ พ.ศ.2500-2511”  โดย วิชิต ชาญประเสริฐกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image