เสวนาย้อนปวศ.รามฯ ฐานที่มั่นสุดท้ายพฤษภา’35 เทียบสุจินดามา 47 วัน ประยุทธ์จ่อ 8 ปี

เสวนาย้อน ปวศ.รามฯ ฐานที่มั่นสุดท้ายพฤษภา’35 เทียบสุจินดามา 47 วัน ประยุทธ์จ่อ 8 ปี

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยจัดกิจกรรมรำลึก 30 ปีพฤษภา 35 โดยมีการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่วีรชน การกล่าวรำลึก และเปิดนิทรรศการรำลึก 30 ปี จากนั้น เข้าสู่ช่วงเสวนาหัวข้อ ‘รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน’

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในตอนหนึ่ง นายนันทพงศ์ ปานมาศ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รามคำแหงเป็นที่มั่นสุดท้ายในเหตุการณ์พฤษภา 35 ศพแรกคือนายภิรมย์ รามขาว นักศึกษา ม.รามคำแหง ผ่านมา 30 ปี แต่ปัจจุบัน ตนรู้สึกไม่เหลืออะไร ยังไม่เห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีแต่ถอยหลัง เราต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ให้วีรชนทุกยุคเสียชีวิตไปอย่างสูญเปล่า

นายปกรณ์ อารีกุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขต จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 ตนอายุเพียง 3 ขวบ แม่บอกว่า ‘ทหารฆ่าประชาชน’ เมื่อโตมาจึงศึกษาว่าโครงสร้างอะไรที่ทำให้สามารถเป็นเช่นนั้นได้ รัฐบาลแบบใดที่ทำให้ทหารออกมารัฐประหารได้

Advertisement

สำหรับรัฐธรรมนูญปี 40 ที่มาจากเหตุการณ์พฤษภา 35 บัญญัติมาตราเกี่ยวกับการกระจายอำนาจไว้หลายเรื่อง อำนาจบริหารงานหลายเรื่อง ท้องถิ่นทำได้ แต่รัฐธรรมนูญ 60 นั้นไม่มีคำว่ากระจายอำนาจแม้แต่ประโยคเดียว เป็นฉบับที่มีผู้เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุดในประวัติการเมืองไทย ทั้งในเรื่องที่มาของนายกฯ ที่ให้ ส.ว.แต่งตั้งมาร่วมโหวตนายกฯ ทั้งในเรื่องการแก้ไขที่กำหนดให้ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ขัดต่อหลักการ 1 คน 1 เสียง ดังนั้น เพื่อแก้วิกฤตความเลวร้ายนี้เร่งด่วนต้องแก้รัฐธรรมนูญ ม.272 ไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกอีกต่อไป เพื่อทำให้การเลือกตั้งรอบหน้าสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวบทกวี ความว่า

‘เพราะเราคนเดือนพฤษภา
จึงมา ณ ฐานที่มั่นสุดท้าย
มาย้ำเตือนเเรื่องราวมากมาย
ไม่ให้ลืมไม่ลับหายตามเวลา
เสียงกระสุนวันนั้นยังจำได้
เพื่อนล้มลงแล้วตายไปต่อหน้า
เป็นบันทึกจดจำไว้ในเดือนพฤษภา ประวัติศาสตร์คนกล้าไม่เคยลืม’

Advertisement

จากนั้น นายจตุพรกล่าวว่า ไม่มีใครเคยคิดมาก่อนว่ารามคำแหงจะเป็นที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายประชาชน 14 ตุลา เริ่มต้นที่รามฯ จบที่ธรรมศาสตร์ พฤษภา 35 เริ่มธรรมศาสตร์ จบที่รามฯ หลังถูกสลายชุมนุมราว 15.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 คนแตกกระสานซ่านเซ็น การเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีแกนนำ ตนรอดมาได้อย่างหวุดหวิด

ต่อมาราว 16.00 น. มีการตัดสินใจจะใช้รามคำแหงเป็นฐานที่มั่น ขณะนั้นมีโทรโข่งตัวเดียว คนทยอยมารวมตัวบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหลายพันจนถึงหมื่น เริ่มด้วยโทรโข่งตัวเดียวจนมีการนำเครื่องเสียงมา เจรจากับผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงได้ใช้ลาน สวป. ถ้าไม่มีรามคำแหง อำนาจการต่อรองของฝ่ายประชาชนจะไม่บังเกิด หลังจากนั้น พลเอก สุจินดา คราประยูร นิรโทษกรรมตัวเองและภาคประชาชน มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง

“วันนี้เดินทางมา 30 ปี สถานการณ์เลวร้ายกว่าพฤษภา 35 สุจินดามา 47 วัน ประยุทธ์มาจะ 8 ปีแล้ว ลองโควิดน่ากลัวน้อยกว่าลองประยุทธ์ ช่วงปี 35 ความเห็นต่างมีไหม มี แต่เวลาสู้เผด็จการ ก็เป็นหนึ่งเดียว เป็นเรื่องของประชาธิปไตยกับเผด็จการ ในขณะที่ พ.ศ.นี้เป็นเรื่องของประชาชนกับเผด็จการ ความแตกแยกของประชาชนถูกนำมาใช้ให้ประชาชนมาสวนกับประชาชน ท้ายที่สุดผู้ปกครองอยู่ยาวแบบไร้อนาคต วันนี้เราไม่เท่าทันเผด็จการ” นายจตุพรกล่าว

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.เขตบางแค พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุการณ์ ตนอายุ 5 ขวบ ก่อนร่วมเสวนาจึงถามบิดาซึ่งอยู่ร่วมเหตุการณ์โดยเดินทางมาตระเวนย่าน ม.รามคำแหงในช่วงเริ่มปราบประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image