อาจารย์นิติฯ จุฬาฯ ยันคำสั่งสีปากกา ขัดรัฐธรรมนูญ-ละเมิดผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างแรง

อาจารย์นิติฯ จุฬาฯ ยันคำสั่งปากกาสีน้ำเงิน ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ-ละเมิดผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คาด กกต. น่าจะเข้าใจผิด 

วันที่ 22 พ.ค. จากกรณี ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ เรื่องการนำปากกามายังหน่วยเลือกตั้งเอง โดยนายอิทธิพรกล่าวว่า นำมาเองได้ แต่ขอให้นำปากกาสีน้ำเงินมาเท่านั้น ถ้านำสีอื่นมากาจะถือเป็นบัตรเสีย จนสร้างความสับสนให้กัปประชาชนจำนวนมาก

ต่อมา ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงยืนยันว่า ไม่มีข้อห้ามว่าใช้ปากกาสีไหนในการกากบาทเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แต่ที่ขอร้องให้ใช้สีน้ำเงินเนื่องจากเหตุผลด้านการมองเห็นที่ชัดเจน สีดำ สีแดง จะใช้สีไหนก็ได้ ขณะที่ที่หน่วยเลือกตั้งก็จะมีปากกาบริการโดยมีการทำความสะอาดตลอด เมื่อถามว่า กกต.บอกให้ใช้ปากกาสีน้ำเงิน ไม่อย่างนั้นจะเป็นบัตรเสีย ปลัด กทม.ระบุว่า กกต.เขาเพียงขอความร่วมมือ ไม่ได้ลงในระเบียบไว้

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ มติชนออนไลน์ ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า เรื่องดังกล่าวตนเองมองว่า กรรมการการเลือกตั้งที่ให้สัมภาษณ์น่าจะเข้าใจผิด เรื่องบัตรเลือกตั้งจะเสียหรือไม่เสีย ต้องดูที่หลักการทางกฎหมาย โดยบัตรเลือกตั้งที่ถูกจัดเป็นบัตรเสีย หลักการคือ บัตรเลือกตั้งที่ไม่สามารถระบุหรือบ่งบอกถึงเจตนารมณ์ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ไม่สามารถรู้ได้อย่างชัดเจนว่าผู้ใช้สิทธิเลือกใคร นี่คือหลักการสำคัญสุด เมื่อไปดูที่ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น บัตรเลือกตั้งที่ให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย คือ บัตรปลอม บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเกินจำนวนผู้บริหารท้องถิ่นที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น และบัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด เป็นต้น

Advertisement

จะเห็นได้ว่าหลักการสำคัญของกฎหมายก็คือบัตรเสียคือบัตรที่ไม่สามารถบ่งชี้เจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิได้นั่นเอง ทั้งนี้ในปัจจุบันเกิดการระบาดของโรค ก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องดูถึงเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิเป็นหลัก มากกว่าที่จะมาดูเรื่องข้อบังคับหยุมหยิม ทั้งนี้ในเชิงนโยบายการอนุญาตให้พกปากกามาเองแล้วไปกำหนดว่าต้องเป็นปากกาสีน้ำเงินเท่านั้น ถึงจะถือว่าเป็นบัตรดี ส่วนตัวมองว่าเป็นการกำหนดที่จำกัดสิทธิการเลือกตั้งอย่างยิ่ง โดยเฉพาะไม่ได้มีกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับข้อใดที่ไปกำหนดเรื่องแบบนั้น เป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ล่วงละเมิดสิทธิผู้ใช้เลือกตั้งจนเกินกว่าเหตุ สร้างภาระให้กับประชาชนมากเกินไป ถ้าบ้านของผู้ใช้สิทธิไม่มีปากกาสีน้ำเงินก็ต้องไปหาซื้อมาใช่หรือไม่? เงื่อนไขเหล่านี้มันกระทบกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ต่อมา ผศ.ดร.พรสันต์โพสต์ข้อความ อธิบายเพิ่มเติมในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ว่าด้วยดราม่าสีหมึกปากกา

ผมติดตามข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และพบว่าเกิดกรณีความสับสนโต้แย้งกันเกี่ยวกับ “สีหมึกของปากกา” สำหรับประชาชนที่เตรียมปากกามาจากบ้านเพื่อไปใช้สิทธิลงคะแนน

Advertisement

ทั้งนี้ท่าน ปธ.กกต.ได้ให้ความเห็นไว้ว่า หากผู้ต้องการนำปากกามายังเขตเองเพื่อใช้สิทธิ “ให้นำปากกาหมึกสีน้ำเงิน” มาลงคะแนนเท่านั้น ถ้านำสีอื่นมาถือว่าเป็น “บัตรเสีย” ด้วยความเคารพ ผมเห็นว่าน่าจะเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับหลักการ รัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นฯ

1.ตามหลักการทางรัฐธรรมนูญ สิทธิเลือกตั้งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนที่จะแสดงเจตจำนงว่า “มีความประสงค์ที่จะเลือกบุคคลใดเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเอง” ดังนั้น หลักการสำคัญของการใช้สิทธิเลือกตั้งคือ “การบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ลงคะแนนมุ่งหมายที่จะลงคะแนนให้ใครเป็นสำคัญ” จึงย่อมเข้าใจได้ว่า การลงคะแนนที่ไม่อาจระบุได้ว่าผู้ใช้สิทธิต้องการเลือกใครจึงถือเป็นบัตรเสีย ดังนั้น รายละเอียดจึงมีการบัญญัติ “ลักษณะของบัตรเสียไว้” ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นฯ เช่น บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนบ้าง บัตรที่ไม่ทราบว่าลงคะแนนให้กับผู้สมัครท่านใด ฯลฯ นี่คือ “เหตุผลทางรัฐธรรมนูญในการลงคะแนน” (Constitutional reason of voting) ของสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น การกำหนดว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องนำเอาปากกาหมึกสีน้ำเงินมากาในบัตรเลือกตั้งจึงย่อมไม่ใช่เงื่อนไขที่สอดคล้องกับหลักการทางรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่าจะด้วย “ปากกาหมึกสีใด” ก็ย่อมสามารถบ่งชี้ หรือระบุได้ว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งประสงค์จะลงคะแนนให้บุคคลใดทั้งสิ้น

2.อย่างไรก็ดี มีคำถามที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า กรณีที่ท่าน ปธ.กกต.ตั้งเงื่อนไขว่า ต้องนำเอาเฉพาะปากกาหมึกสีน้ำเงินมาลงคะแนนเท่านั้น มีฐานกฎหมายรองรับหรือไม่อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่ง มีตัวบทกฎหมาย หรือระเบียบใดๆ ที่กำหนดเงื่อนไขไว้หรือไม่ว่า ต้องใช้ปากกาสีน้ำเงินเท่านั้นจึงจะใช้สิทธิลงคะแนนได้ หากตอบว่ามีตัวบทกฎหมายและระเบียบรองรับ คำถามต่อไปคือ มีการประกาศ หรือแจ้งต่อประชาชนให้ทราบล่วงหน้าแล้วอย่างชัดเจนและทั่วถึงหรือไม่อย่างไร

3.แม้จะมีการปฏิบัติแล้วอย่างครบถ้วนตามข้อ 2. จริง ผมก็ยังเห็นว่า การกำหนดเงื่อนให้ประชาชนต้องนำ “เฉพาะปากกาหมึกสีน้ำเงิน” มาเท่านั้นจึงจะลงคะแนนได้ มิฉะนั้นจะเป็นบัตรเสีย ถือเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) อย่างชัดเจน กล่าวคือ การกำหนดเงื่อนไขที่ละเมิดต่อสิทธิเลือกตั้งในลักษณะที่เป็นการ “สร้างภาระให้กับประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ” (Undue burden) อันเป็นการขัดต่อหลักความได้สัดส่วน (Proportionality) อยู่ดี เพราะคงเป็นการแปลกประหลาดมาก (สมมุติ) หากปรากฏว่าที่บ้านของประชาชนที่พยายามป้องกันการติด หรือแพร่เชื้อโควิดไม่มีปากกาหมึกสีน้ำเงินเลย นั่นหมายความว่า เขาเองก็ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะหากนำไปใช้ลงคะแนนจะกลายเป็นบัตรเสียไป นี่เป็นการสมเหตุสมผลแล้วหรือ?

อย่าลืมนะครับว่า กกต.มีหน้าที่สำคัญคือ การจัดการเลือกตั้งและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง ดังนั้น การสร้างเงื่อนไขหรืออุปสรรคใดๆ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญอย่างเรื่อง “สีหมึกของปากกา” อันเป็นการกระทบต่อ “สิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมือง” ของประชาชน ย่อมกระทำมิได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image