‘ชัชชาติ’ พร้อมร่วมเจียระไนอัตลักษณ์ชุมชน ย้ำค้นตัวตน ‘อย่าโหล’ เชื่อคนรุ่นใหม่สร้างมูลค่าจากความคิดสร้างสรรค์

‘ชัชชาติ’ หนุน การจัดพื้นที่สร้างสรรค์ เชื่อ งานศิลปะเป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้ พร้อมร่วมมือทุกฝ่ายเจียรไนอัตลักษณ์ชุมชนให้เปล่งประกาย

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม เวลา 19.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.และคณะ พร้อมด้วยน.ส.อาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ และนายศุเรนทร์ ฐปนางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ เดินทางมาชมงานเทศกาลศิลปะ ‘เลื่อนฤทธิ์ Artival : Hidden Gem of Yaowarat’ ซึ่งจัดขึ้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ (อ่านข่าว ‘ชัชชาติ’ ลุยเยาวราช ดูงานอาร์ตซอยเลื่อนฤทธิ์ ว่าที่ส.ก.สัมพันธวงศ์ ปชป.คุยปัญหาขยะ-ทางเท้า)

เมื่อเวลา 20.09 น. นายชัชชาติให้สัมภาษณ์ถึงการมาลงพื้นที่เยาวราชในวันนี้ นายชัชชาติ กล่าวว่า ชุมชนเลื่อนฤทธิ์เป็นชุมชนเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตนเคยเดินทางมาเมื่อหลายปีมาแล้ว เป็นตึกเก่าที่ผู้เช่ารวมตัวกันจัดตั้งเป็นบริษัท และขอเช่าระยะยาว โดยมีการรีโนเวทตึกใหม่แต่ยังใช้โครงสร้างแบบเดิม มีกาาเอาสายไฟฟ้าลงดิน ทำบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่ทันสมัย มีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ มีการจัดการแสดงดนตรี เวิร์กช็อปต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะตรงกับนโยบายที่ว่าอนาคตกรุงเทพฯจะต้องเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คนรุ่นใหม่สามารถสร้างมูลค่างานจากความคิดสร้างสรรค์ได้ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้ทำงานประจำเป็นหมอหรือนักบัญชีแล้ว แต่เขาจะสร้างงานด้วยตัวเอง

“ซึ่งในการจะสร้างงานด้วยตัวเองต้องมีพื้นที่ที่สามารถแสดงออกได้ และพื้นที่สร้างสรรค์แบบนี้จะมีกระจายในกรุงเทพฯ นี่ก็เป็นวันที่ดี ที่เรานำพื้นที่ของชุมชนเลื่อนฤทธิ์มาเป็นตัวอย่างของการแสดงพื้นที่สร้างสรรค์ให้คนทุกเพศทุกวัยมาร่วมกันแสดงพลังของความครีเอทีฟ” นายชัชชาติ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า การจัดทำให้มีพื้นที่ทางศิลปะจะช่วยพัฒนาต่อยอดในเรื่องของคุณภาพชีวิตได้อย่างไรบ้าง นายชัชชาติ กล่าวว่า ตนมองว่าศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรียศาสตร์ ความจรรโลงใจ เราอยากจะเสพงานศิลป์แต่พื้นที่มีจำกัด ต่อไปอาจจะมีนิทรรศการต่างๆวนไปตามพื้นที่ต่างๆ ให้คนมีทางเลือกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ออกไปดูหนังที่ห้าง การมาดูงานศิลปะหรือการฟังดนตรี ทำให้ชีวิตเรามีทางเลือกในการพักผ่อนมากขึ้น รวมถึงการสร้างงานใหม่ๆของผู้สร้างงานศิลป์ด้วย

เมื่อถามว่า การจัดพื้นที่ทางศิลปะจะสามารถเป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า แน่นอน ตนคิดว่าทุกอย่างเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ และแต่ละย่านก็มีซอฟต์เพาเวอร์ของตัวเองได้ ตนคิดว่านี่คือจุดแข็งของคนไทยคือการมีซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้มแข็ง ถ้าเราดูแลให้ดีจะสามารถสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ได้เลย แต่อย่าทำแบบอัตลักษณ์โหลที่ทุกแห่งเหมือนกันหมด ให้แต่ละที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ต้องพยายามหาตัวตนให้ได้ ว่าอัตลักษณ์ของเราคืออะไร

Advertisement

เมื่อถามว่า การร่วมมือกับผอ.เขตจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะเค้นหรือเฟ้นหาอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน นายชัชชาติ กล่าวว่า ตนคิดว่าต้องเข้าใจชุมชน ต้องลองมาสัมผัสชุมชน และคนที่จะสร้างซอฟต์เพาวเวอร์ไม่ใช่ผอ.เขต หรือว่าผู้ว่าฯ กทม. เท่านั้น แต่ชุมชนต้องเป็นคนทำด้วย ต้องเป็นการร่วมมือกันทำทั้งหมด รวมถึงส.ก.เขตด้วย ที่จะดูว่าแต่ละชุมชนมีอะไรซ่อนอยู่และเจียรไนให้เปล่งประกายออกมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image