09.00 INDEX : ประวัติศาสตร์ ‘ซ้ำรอย’ รัฐธรรมนูญ จากสถานการณ์ พฤษภาคม 2535

การปรากฏขึ้นของ “มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย” ที่มี นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ เป็นประธานได้ก่อให้เกิดอาการ “สั่นไหว” ทางการเมือง
อาจเสมอเป็นเพียงการสั่นไหวอย่าง “เล็กน้อย”
แต่ที่มิอาจมองข้ามได้อย่างเด็ดขาดก็คือ มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย เกิดขึ้นจาก สถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
สถานการณ์นั้นมี “จุดเด่น” อยู่ตรงไหน

คำตอบเฉพาะหน้าอาจมองเห็นใบหน้าและเรื่องราวของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
นายทหารใหญ่แห่ง “รสช.”
แต่ “เนื้อหา” สำคัญซึ่งไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ สถานะและฐานที่มาแห่งอำนาจทางการเมืองของ “รสช.”และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

1 มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534
1 มาจาก“รัฐธรรมนูญ” พ.ศ.2534 อันเป็นผลผลิตอย่างสำคัญของกระบวนการ “รัฐประหาร”
1 เป็นรัฐธรรมนูญที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มีบทบาทอย่างสำคัญ
สถานการณ์อันนำไปสู่การ“นองเลือด”ในเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นคำตอบได้อย่างดีต่อความพยายามอีกครั้งของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ผ่านกระบวนการของ”รัฐธรรมนูญ”
การประท้วงครั้งนั้นจึงมี “เป้าหมาย”เฉพาะหน้า 2 ประการ

1 ต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” 1 ซึ่งสำคัญก็คือ คัดค้าน ต่อต้าน “รัฐประหาร”
ประชาชน “สะสม” ความไม่พอใจเป็นเวลา 1 ปี
ประชาชนไม่ต้องการให้เกิดการ “ย้อนกลับ” ไปสู่ยุคที่ได้นายกรัฐมนตรีจาก“คนนอก”ในแบบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อีก

Advertisement

แม้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะเป็น “คนดี”
แต่การออกมากล่าวปฏิเสธตำแหน่ง”นายกรัฐมนตรี”ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยประโยคที่ว่า
“ผมพอแล้ว”
คำตอบของ “ประชาชน” อันสะท้อนผ่านการประท้วงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็ยืนยันความรู้สึกเช่นเดียวกันว่า
“ประชาชน” ก็“พอแล้ว”เหมือนกัน
น่าสนใจก็ตรงที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และ “ขบวนการ” รัฐประหารพยายามที่จะ “ย้อนยุค”ไปอีกคำรบ 1
ทั้งๆ ที่เคยมีเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

ประวัติศาสตร์สามารถ “ซ้ำรอย” ตัวเองได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ต่อกรณี “รัฐธรรมนูญ”
จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2535 มายังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559
จากรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
เวลา 23 ปีเหมือนจะ “นาน”
แต่พลันที่ “มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย” ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ ภาพจาก “อดีต” ก็หวนกลับมา

เหมือนภาพยนตร์“จอกว้าง” แจ่มชัดอย่างยิ่ง
แจ่มชัดเหมือนกับภาพของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 แจ่มชัดเหมือนกับภาพรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534
ภาวะ “ซ้ำรอย” ของ “ประวัติศาสตร์” ดำรงอยู่จริง
แต่ก็ต้องยอมรับด้วยเหมือนกันว่า ลักษณะ “ซ้ำรอย” นั้นเหมือนกับเป็นการตอกย้ำ และยืนยัน

Advertisement

ยืนยันว่าขาด “ความหลาบจำ”
ยืนยันว่าขาด “การสรุป” ขาดการเก็บรับมาเป็น “บทเรียน”
โดยเฉพาะ “ผู้อาวุโส” ซึ่งอยู่มาอย่างยาวนานเช่น นายมีชัย ฤชุพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image