พิชัยชี้ บิ๊กตู่ล้มเหลวรับมือปัญหาเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย-ค่าบาทอ่อน ชวนจับตาอภิปรายฯ

พิชัยชี้ ประยุทธ์ล้มเหลวรับมือปัญหาเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย-ค่าบาทอ่อน จี้แก้ปัญหาไฟฟ้าแพง ข้อพิพาทของก๊าซในอ่าวไทย และค่าความพร้อมสูงถึงปีละแสนล้านบาท ห่วงแนวโน้มเดินตามศรีลังกา

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า เงินเฟ้อของสหรัฐเดือนมิถุนายนสูงถึง 9.1% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ทั้งที่สหรัฐเพิ่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แต่ก็ยังคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกอาจสูงถึง 1% ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่างกันจะทำให้เงินตราต่างประเทศไหลออก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่เงินทุนต่างประเทศจะออกไป เพื่อไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า จะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทยิ่งอ่อนลง และจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีกได้

นายพิชัยกล่าวอีกว่า อีกทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในหลายเดือนที่ผ่านมายิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

โดยล่าสุดในเดือนมิถุนายนไทยขาดดุลการค้า 1.2 พันล้านเหรียญ หรือ 4 หมื่นล้านบาท ซ้ำเติมหลังจากที่ 5 เดือนแรก ไทยขาดดุลการค้าแล้ว 4,726 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินทุนได้ไหลออกไปกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 1 ล้านล้านบาท) แล้วตั้งแต่ต้นปี และยังมีแนวโน้มที่จะไหลออกเพิ่มอีก จนภาคเอกชนกังวลกันว่าเงินบาทที่อ่อนจะทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ในอีกไม่นานนี้ อาจจะทะลุไปถึง 40 บาทต่อดอลลาร์ได้ และอาจทำให้เงินเฟ้อของไทยที่กำลังจะทะลุ 8% อาจจะพุ่งทะลุไปถึง 10% ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก ในขณะเดียวกันหากไทยจะขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงเกือบ 15 ล้านล้านบาท หรือกว่า 90% ของจีดีพี อีกทั้ง หนี้สาธารณะมากกว่า 10 ล้านล้านบาท หรือทะลุ 60% ของจีดีพีแล้ว ซึ่งหากขึ้นดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มภาระขึ้นไปอีกมาก

“ดังนั้น ความกังวลเรื่องการระเบิดของหนี้ต่างๆ ในไทยเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาดอกเบี้ย ปัญหาค่าเงินบาทที่อ่อน และปัญหาการระเบิดของหนี้ จะเป็นปัญหาใหญ่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับมือ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์แทบจะไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เลย ซึ่งจะให้ปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ” นายพิชัยกล่าว

Advertisement

นายพิชัยกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังผลิกผันได้ตลอด เรื่องที่น่ากังวลคือปัญหาการปรับราคาค่าไฟฟ้าที่จะพุ่งสูงขึ้นมากจากหน่วยละ 4 บาท เป็นหน่วยละ 5 บาท สร้างความสั่นสะเทือนและความกังวลไปทั่ว ทั้งค่าใช้จ่ายของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้น และความสามารถแข่งขันของไทยที่จะลดลง เพราะคงไม่มีใครอยากจะมาลงทุนในประเทศที่ค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด แนวทางที่จะแก้ไขก็ต้องเข้าไปแก้กันที่สาเหตุของปัญหา คือการหาข้อยุติในข้อพิพาทระหว่างบริษัทที่รับสัมปทานเดิม เชฟรอน และบริษัทที่รับสัมปทานใหม่ ปตท.สผ. และมูตาบารา ในการส่งมอบสัมปทาน และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการรื้อถอนแท่นขุดเจาะก๊าซในทะเลที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง และอาจถูกฟ้องร้องได้ในกรณีที่การรื้อถอนอาจจะทำให้เกิดมลภาวะในทะเลและชายฝั่งได้ ทั้งนี้ เพื่อที่นำก๊าซจากอ่าวไทยขึ้นมาได้ หลังจากที่ไม่สามารถนำก๊าซธรรมชาติจำนวนมากขึ้นมาได้จากปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว จึงต้องทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาแพงกว่า 30 เหรียญต่อหน่วยเข้ามาทดแทน และทำให้ราคาค่า FT ของค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นสูงมาก

 

นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินถึง 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ทำให้ต้องจ่ายค่าความพร้อมให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้า แต่ไม่ได้ส่งไฟฟ้ามียอดถึงเดือนละกว่า 8,000 ล้านบาท หรือปีละประมาณแสนล้านบาท ซึ่งสูงมาก เป็นความผิดพลาดในนโยบายการผลิตไฟฟ้าของ พล.อ.ประยุทธ์ และปัจจุบันยังมีการให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้ากันอยู่เลย แม้กำลังผลิตจะยังล้นเกินนี้ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะต้องหาทางเจรจาลดค่าความพร้อมนี้ และหยุดการให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าไว้ก่อนชั่วคราวได้แล้วจนกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมีเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงต้องทำเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

Advertisement

 

“จะเห็นได้ว่าการบริหารเรื่องพลังงานในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ตลอด 8 ปี มีปัญหาอย่างมาก แต่โชคดีที่ 6-7 ปีแรกราคาน้ำมัน และราคาพลังงานอื่นๆ ยังมีราคาถูก ประชาชนจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่เมื่อราคาน้ำมัน และราคาพลังงานแพงขึ้นมาก ทำให้เห็นปัญหาเต็มไปหมด เหมือนน้ำลดตอผุด ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเข้าไปแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบเพื่อให้ราคาพลังงานเป็นธรรมแก่ประชาชน ทั้งราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม และราคาไฟฟ้า” นายพิชัยกล่าว

นายพิชัยกล่าวอีกว่า อีกทั้งต้องเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานแพง และรัฐได้รายได้เพิ่มขึ้นอีกมากด้วย ยังจะกระจายความเสี่ยงของการพึ่งพาก๊าซจากประเทศเมียนมาที่มีสัดส่วนถึง 17% เพราะรัฐบาลทหารของเมียนมาอาจจะถูกบีบจากประชาคมโลกเพิ่มขึ้นอีกได้ ประเทศไทยควรต้องคิดและเตรียมตัวล่วงหน้า เพื่อป้องกันและรักษาประโยชน์ของคนไทย

ทั้งนี้ มีคำเตือนและความกังวลจากหลายฝ่ายว่าสถานการณ์ของไทยจะเป็นเหมือนประเทศศรีลังกา ซึ่งความจริงสถานะของไทยในปัจจุบันจะยังดีกว่าศรีลังกามาก จากบุญเก่าที่สะสมมาจากหลายรัฐบาลในอดีต แต่หากยังบริหารกันแบบที่เป็นอยู่ โอกาสจะเป็นแบบประเทศศรีลังกาก็เป็นไปได้สูง เพราะสถานการณ์ในโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ผู้นำไทยขาดความรู้ความเข้าใจ และยังมีแนวทางบริหารที่ผิดพลาดมาโดยตลอด และอยากให้ประชาชนได้ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่จะมีขึ้นในวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image