‘ไอลอว์’ ยก รธน.60 อ้างคำ ‘มีชัย-วิษณุ’ เป็นนายกฯได้ไม่เกิน 8 ปี ยันเริ่มนับ ‘วาระบิ๊กตู่’ ที่ 24 ส.ค.57

‘ไอลอว์’ ยก รธน.60 อ้างคำ ‘มีชัย-วิษณุ’ เป็นนายกฯได้ไม่เกิน 8 ปี ยันเริ่มนับ ‘วาระบิ๊กตู่’ ที่ 24 ส.ค.57

สืบเนื่องข้อวิพากษ์กรณีสถานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีในคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2565 นี้ ซึ่งมีเสียงค้านว่าหากนับตั้งแต่การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ นั้น

อ่านข่าว : สภาล่มซ้ำซาก ญัตติฝ่ายค้านนายกฯ 8 ปีวืด

อ.นิด้า ชี้ 8 ปีประยุทธ์ จะเป็นต้นเหตุวิกฤตการเมืองรอบใหม่ หากไม่ทำตามเจตนารมณ์ รธน.

‘สภาล่ม’ อีกแล้ว หลัง ‘ฝ่ายค้าน’ เสนอญัตติด่วนฯ ถกปมนายกฯ 8 ปี ด้าน ‘โรม’ หวั่น พ้น 24 ส.ค. ‘ประยุทธ์’ จะกลายเป็น ‘นายกฯเถื่อน’

Advertisement

ยื่นแล้วปม 8 ปีขอศาลสั่ง ‘บิ๊กตู่’ ยุติหน้าที่ พท.เล็งฤกษ์ 16 ส.ค.ส่งให้ ‘ประธานชวน’

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) เผยแพร่ข้อเขียนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวผ่านทางโซเชียลมีเดีย ว่าเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทุกคนเป็นนายกฯได้ไม่เกิน 8 ปี ตลอดชีวิต

ย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ว่าต้องไม่เกิน 8 ปี ซึ่งปรากฏในมาตรา 171 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้” แต่ทว่า การเขียนเช่นนี้ก็ทำให้เกิดช่องโหว่ว่า ถ้าหากไม่ได้เป็นนายกฯติดต่อกัน หรือมีการเว้นวรรคการดำรงตำแหน่งจะทำให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯได้ใหม่อีกเป็นระยะเวลา 8 ปีหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จึงได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น โดยกำหนดไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” กล่าวคือ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกฯมากี่ครั้ง และไม่ว่าจะดำรงต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ตาม แต่ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯของทุกคนต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ตลอดชีวิต

โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้เขียนขยายความมาตราดังกล่าวไว้ในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ด้วยว่า “…การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว”

อีกทั้งในเอกสารคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

อย่างไรดี มีพยานและหลักฐานอย่างน้อย 2 อย่าง ที่ชี้ให้เห็นว่า การตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับจากวันที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ดังนี้

1) บันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ที่ระบุถึงความเห็นของประธานและรองประธาน กรธ. ในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ไว้ดังนี้

สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. กล่าวว่า “หากนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”

มีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า “บทเฉพาะกาลมาตรา 264 บัญญัติไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี”

จากบันทึกความเห็นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หมายถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯไม่เกิน 8 ปีในมาตรา 158 เช่นเดียวกัน อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 มาตรา 2 ยังระบุว่า ประเทศมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. ที่ระบุว่า หากเป็นนายกฯภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมด้วย ดังนั้น ต้องเริ่มนับวาระนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557

2) คำให้สัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายกฎหมาย) เมื่อปี 2562 ที่ระบุว่า รัฐบาลนี้ (คณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ใช้บังคับ) ไม่ใช่คณะรัฐมนตรีที่รักษาการ เพราะว่าถ้าใช่ รัฐธรรมนูญจะบอกว่าเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กลับบอกด้วยว่า ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เป็นคณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น จึงเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ใช่ข้อยกเว้นตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ระบุว่า“ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” ดังนั้น ต้องเริ่มนับวาระนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังกำหนดด้วยว่า คณะรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 (1) คือ พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลง เหตุเพราะอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภา หรือคณะรัฐมนตรีลาออก แต่กรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ตามเงื่อนไขดังกล่าว

อีกทั้งหากจะกล่าวอ้างว่าคณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้เป็นคณะรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีชุดนั้นก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ที่กำหนดว่า ห้ามอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือสร้างภาระผูกผันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป หรือไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รวมถึงไม่อนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แต่จากข้อมูลของสำนักข่าวบีบีซีไทยระบุว่า ครึ่งปีหลังของปี 2561 หรือก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่กี่เดือน คณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้อนุมัติโครงการอย่างน้อย 9 โครงการ อาทิ เติมบัตรคนจน แจกบำนาญข้าราชการ โครงการบ้านหนึ่งล้านหลัง หรือโครงการช้อปช่วยชาติ ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ภายใต้สถานะคณะรัฐมนตรีรักษาการ แต่เนื่องจาก นายวิษณุ เครืองาม ได้กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มและสามารถกระทำได้ ดังนั้น จะกล่าวอ้างว่าการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้

อ่านต่อเรื่องวาระนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/6222

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image