‘ประภาส’ ยก ‘วีโว่’ ปิดทองหลังพระ ชำแหละทรรศนะชักใย คาดม็อบก้าวต่อไป ยอมติดคุก ปลุกคำถาม

‘ประภาส’ ย้อน 2 ปี ‘วีโว่’ ปิดทองหลังพระ ชำแหละทรรศนะชักใย คาด ม็อบก้าวต่อไป ยังกดดัน-ยอมติดคุก เพื่อปลุกคำถาม

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ The Jam Factory เขตคลองสาน กรุงเทพฯ กลุ่ม We Volunteer หรือ วีโว่ จัดงาน “2nd Anniversary Schedule of We volunteer” ระหว่างวันที่ 13-14 สิงหาคมนี้ เวลา 10.30 -18.00 น. เพื่อฉลองครบรอบ 2 ปีการก่อตั้งกลุ่มวีโว่ วันที่ 16 สิงหาคม 2563

บรรยากาศเวลา 13.00 น.  มีวงเสวนาในหัวข้อ “การเดินทางของการเคลื่อนไหว จากอดีตจนถึงปัจจุบัน” โดย ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายอธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง ผู้ดำเนินรายการช่อง Voice TV ร่วมให้ความเห็นถึงการเคลื่อนไหว ตลอด 2 ที่ผ่านมา ดำเนินรายการ โดย เติร์ท โฆษกกลุ่มวีโว่

อ่านข่าว : ‘กนกรัตน์’ ชวนคิด ‘ชีวิตหลังม็อบ’ มอง ‘วีโว่’ คือผลลัพธ์บทเรียน ‘สันติวิธี’ บ่มเพาะวิถีทะลุแก๊ซ

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ประภาสกล่าวว่า งานแบบวีโว่ เป็นงานปิดทองหลังพระที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ พูดตามตรงไม่ได้หน้าเหมือนแกนนำ แต่เป็นงานหลังบ้าน งานเก็บกวาด ต้องไปนำหน้ามวลชน แต่ทุกงานแม้จะเล็ก ก็ต้องการอาสาสมัครมาทำหน้าที่แบบนี้

Advertisement

“ในสมัชชาคนจน เรียกแกนนำว่า พ่อครัวใหญ่ เรียกการ์ดว่า แม่ครัวใหญ่ เป็นโค้ดลับ ซึ่งผมเห็นพัฒนาการที่สำคัญ” รศ.ดร.ประภาสกล่าว

ก่อนขยายความว่า ก่อนเกิดวีโว่ ที่ ม.เกษตร จัดปราศรัยครั้งแรกๆ พูดอยู่ดีๆ มีคนมาแย่งไมค์ ด่าเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ยาวไม่ยอมทิ้งไมค์ จนกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยเข้าไปช่วยกันออกมา นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่คุยกันว่า ต้องการมีการจัดการ

จากนั้น รศ.ดร.ประภาสกล่าวถึงที่มาของม็อบ และนิยามของม็อบ ว่าเกิดจากอะไรเป็นหลัก ?

Advertisement

รศ.ดร.ประภาสระบุว่า คำว่าม็อบ เป็นคำลบแน่ๆ มาจากคำว่า Mobilize คือถูกระดม จัดตั้ง ถูกใช้มาแบบนี้ว่าไม่เดือดร้อนจริง มีมือที่ 3 ตำรวจฝ่ายความมั่นคงต้องเข้าไปตรวจสอบ มีการจัดกลุ่มในเชิงมิติวิทยาว่า เป็นฝูงชนบ้าคลั่ง ที่ถูกปลุกปั่นโดยแกนนำที่ถูกปั่นหัวมา หน่วยความมั่นคงมีการอธิบายใหญ่โตในเชิงทฤษฎี

ปัญหาคือ รัฐไทย หรือผู้ที่อยู่ในหน่วยงานความมั่นคง ก็มักจะนิยามแบบนี้ ‘ม็อบ’ จึงเป็นความหมายในเชิงลบมาตลอด พอพี่น้องสมัชชาคนจนมาชุมนุม คุณเสนาะ เทียนทอง ก็คิดว่า มาอีกแล้ว พวกนี้ มาเป็นฤดูกาล เหมือนนกปากห่าง ปีนึงก็มาที พอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จไม่มีอะไรทำนักการเมืองก็จ้างมา คือทรรศนะของฝ่ายการเมือง พวกทฤษฎีมือที่ 3 ตีนที่ 3 ว่ามีใครชักใยอยูเบื้องหลัง” รศ.ดร.ประภาสกล่าว และว่า ตนจึงไม่ชอบเรียกโดยใช้คำว่า “ม็อบ”

การรวมกลุ่มก้อนของผู้คน สามารถอธิบายได้ด้วยกรอบอื่น เช่น กลุ่มผลประโยชน์ ที่มาด้วยปัญหา ความต้องการ หรือมองเป็น “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” คือเห็นถึงปัญหาที่ดำรงอยู่ว่าถูกกดทับอย่างไร ต้องการชีวิตใหม่ ความเปลี่ยนแปลงอย่างไร คือการให้ความหมายในเชิงสร้างสรรค์

เหมือนกับคำว่า “คนไร้บ้าน” ที่ก่อนหน้านี้ถูกเรียกว่า “คนจรจัด” สะท้อนทรรศนะ หรือ กรอบคิดอะไรบางอย่าง พอมีกรอบแบบนี้ก็มองเห็นแต่แบบนี้ สมช.ก็เห็นทะลุแก๊ซที่ดินแดงว่า แบ่งแยกดินแดง เพื่อที่จะกระทืบได้ นี่คือสิ่งที่กำกับมาจนถึงปัจจุบัน เป็นปัญหาของสังคมไทยส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่ายต่อต้านขบวนการเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประภาสกล่าวว่า ในส่วนของสมัชชาคนจน ตอนที่ตนเคลื่อนไหวกันมา ก็เจอคำถามแบบนี้

“สิ่งที่เราทำคือ ต้องอธิบายกับคนในสังคม แบ่งกันไปแจกใบปลิวเพื่ออธิบายผู้คนในกรุงเทพ ตามศูนย์การค้า ท่าเรือ งานกาชาด เอากล่องไปรับบริจาค คุยให้ฟัง ไปพบผู้สื่อข่าว พบ บก.ใหญ่ นสพ.แทบทุกฉบับ จากที่ตามมา ช่วง 10 กว่าปี ผมดูบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์หลักๆ เออ มันก็เปลี่ยนทรรศนะเรื่องพวกนี้เหมือนกันนะ” รศ.ดร.ประภาสกล่าว และว่า

ทรรศนะปัจจุบัน เรายังเห็นว่าเป็นทรรศนะที่สำคัญของฝ่ายความมั่นคง หลักสูตรยังสอนกันอยู่แบบนี้ ทั้งๆ ที่ถ้าเรามองบนฐานประชาธิปไตยสากล นี่คือ “พื้นที่การมีส่วนร่วม”

รศ.ดร.ประภาส ยังยกบทเรียนจากม็อบสมัชชาคนจน มาบอกเล่าด้วยว่า ถ้าเราดูคลื่นการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย ปี 31 เรามีรัฐบาลซึ่ง นายกฯ มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก หลังมีการลงชื่อ 99 ชื่อ แต่ปัญหาของประชาธิปไตยตัวแทนเป็นปัญหาทั่วโลก จึงนำมาสู่การปฏิรูปมากมาย

“(สมัชชาคนจน) เราพยายามจะบอกว่า เลือกตั้งจำเป็น แต่ไม่พอ ที่จะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ จึงเคลื่อนไหวโดยตรง เอาตีนเดินมา เพื่อให้คนเห็นปัญหา

ช่วงรัฐบาลทักษิณ เราสถาปนาการเมืองแบบเลือกตั้ง ลงหลักปักฐาน ส่วนหนึ่งที่ทำให้เอ็นจีโอเดินขบวน คือกฎหมายลูกไม่เคยเกิด มีแต่เจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ

จุดสำคัญ การเมืองตั้งแต่พันธมิตรต่อเนื่องมาถึง กปปส. มีการเสนอประชาธิไตย 70 / 30 ซึ่งยังสืบเนื่องมาถึงระบอบปัจจุบัน เราควรจะเห็นถึงประชาธิปไตย 3 กระแส ปัจจุบันเรากำลังสู้กระแสหลัก ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549-2557” รศ.ดร.ประภาสกล่าว และว่า

 

การขยายเครือข่าย ต้องไม่ใช่ประเด็นเฉพาะ แต่ต้องขยายไปถึงประเด็นร่วมในส่วนอื่นๆ

“ผมคิดว่าระบอบนี้กดทับผู้คน ซึ่งสืบเนื่องมา ผมคิดว่าไม่มีอุดมการณ์สำเร็จรูป แต่ข้อเรียกร้อง จุดหมาย เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ สร้างขึ้นมา และทั่วโลกเป็นแบบนี้ โดยเฉพาะในยุคโซเชียลที่เปลี่ยนฉากทรรศน์ของการเคลื่อนไหวทางสังคม

การทำงานด้วยวิธีการแบบนี้ อาจจะเป็นการทำงานภายในกระบวนการ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจปัญหาร่วมกัน แต่ในเชิงกดดันไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ สุดท้ายต้องแก้รัฐธรรมนูญ กดดันสภา สุดท้ายเราก็ต้องใช้วิธีการยอมติดคุก เพื่อให้คนถามต่อกระบวนการ ว่ายุติธรรมหรือไม่ ผมว่าคงจะต้องขยับไปแบบนี้ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ แต่ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป ขบวนการที่ใหญ่โตในปัจจุบัน คงไม่ใช่ทิศทางใด ทิศทางหนึ่ง”  รศ.ดร.ประภาสกล่าว

ด้าน นายอธึกกิต หรือ ใบตองแห้ง กล่าวว่า พวกที่ทะเลาะกัน ก็เถียงกันอยู่ ทั้ง 2 อยู่ในขั้วประชาธิปไตย แต่ก็ยังซัดอยู่ตลอด ซึ่งเราต้องเข้าใจ และคิดว่าจะเป็นจุดที่ ต่างคนต่างมีทั้งจุดร่วมและจุดต่างซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องปกติในสังคมที่มีความหลากหลาย

“มองต่อไปอย่างไร ผมว่า เราอยู่ในจุดที่เรารออะไรบางอย่างในการเปลี่ยนเชิงคุณภาพ เป็นจังหวะที่เรารอจุดเปลี่ยนอยู่ ในช่วงที่กระแสม็อบ ไม่สามารถเป็นม็อบได้ ต่อไปคือจังหวะของการเลือกตั้ง การคงรักษาอุดมคติ ในขณะที่ต้องทำมาหากินกับชีวิตปกติ เป็นเรื่องสำคัญ” นายอธึกกิตกล่าว

เมื่อถามว่า กลุ่มวีโว่และการ์ดอื่นๆ ได้สร้างมาตรฐาน หรือคุณูปการอย่างไร ควรมีการ์ดในการชุมนุมหรือไม่ ?

นายอธึกกิตกล่าวว่า การ์ดมีความจำเป็นทุกยุคสมัย แต่การ์ดปัจจุบัน เป็นการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ว่าจะรักษาสถานการณ์อย่างไร  ไม่ใช่มีไว้เพื่อใช้กำลัง แต่มีไว้เพื่อ “รักษา” ซึ่งต้องใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก เป็นจุดที่วีโว่พยายามจะทำ และทำหน้าที่เก็บกวาด ทำหน้าที่รอบนอก อย่างองค์ประกอบของม็อบที่ต้องจัดการต่อเนื่อง แต่หน้าที่ต่อไปของวีโว่ช่วงนี้ ที่การเมืองไม่มีม็อบ เราจะไปต่ออย่างไร

“ผมเห็นใจว่า คนที่เคยเข้าร่วมม็อบ ไม่ได้บอกว่า กระแสต่ำ แล้วกลับบ้านไปทำงาน เรียนหนังสือเถอะ ซึ่งไม่ได้ เพราะคดีเพียบ ต้องอยู่กึ่งเคลื่อนไหว กึ่งชีวิตปกติ การใช้ชีวิตในช่วงหลังม็อบจึงค่อนข้างลำบากกว่าปกติ น่าเห็นใจ และต้องปรับ คนในขบวนต้องเข้าใจ และสนัสบสนุนตรงนี้ที่จะกลับไปใช้ชีวิตปกติอย่างไร

ในตอนหนึ่ง เมื่อถามว่า มีโอกาสเกิดรัฐประหารหรือไม่ ?

นายอธึกกิตกล่าวว่า ไม่มี หรือโอกาสมี น้อยมาก เนื่องจากปัจจุบันเป็นรัฐอำนาจนิยม โดยไม่ผ่านการรัฐประหาร ใช้วิธีควบคุมกลไกลความมั่นคงและองค์กรอิสระ ซึ่งเอื้อไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน เพียงแต่จะคุมความสมดุลทางอำนาจไปได้แค่ไหน ซึ่งไม่ได้สมดุลในมุมของประชาชน

“ไม่ได้รับประกันเรื่องการรัฐประหาร แต่สิ่งที่ต้องการ คือระบอบที่แกล้งทำเหมือนปกติ ทั้งที่รู้ว่ามีช้างตัวใหญ่อยู่ในห้อง แต่คุณทำเป็นมองไม่เห็น นั่นคือระบอบที่เขาต้องการ” นายอธึกกิตกล่าว

จากนั้น เวลา 16.00 น. มีการเสวนาหัวข้อ “การชุมนุมทำไมต้องมีการ์ด” โดย เป้ กลุ่มการ์ด Mayhem, เฮียเหลียง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “พิราบขาว” และ นุ่น หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ปลดแอก”

สำหรับวันพรุ่งนี้ (14 สิงหาคม) จะมีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย, น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มาร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “นักการเมืองกับเรื่องม็อบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image