‘สมชาย’ เชื่อ รปห.ต้นตอ ‘แย่งยึดที่คนชายขอบ’ ต้อนเข้าโรงงาน ยันไม่ใช่เรื่องบุญกรรม เป็นปัญหาโครงสร้าง

‘สมชาย’ เชื่อ รัฐประหารคือต้นตอ ‘แย่งยึดที่ดิน’ ต้อนคนชายขอบเข้าอุตสาหกรรม ยัน ไม่ใช่เรื่องบุญกรรม เป็นปัญหาโครงสร้าง

สืบเนื่องกรณี นางแสงเดือน ตินยอด เหยื่อทวงคืนผืนป่า วัย 55 ปี จากชุมชนบ้านแม่กวัก อ.งาว จ.ลำปาง ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายอภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่องค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 12 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อขอความช่วยเหลือโดยด่วน ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันที่ 28 กันยายนนี้

เมื่อวันที่ 21 กันยายน เวลา 08.00 น. ที่ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ภาคีsaveบางกลอย และเครือข่าย จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “คดีทวงคืนผืนป่ากรณีแสงเดือน กับกระบวนการยุติธรรมไทย” (อ่านข่าว : ‘ปริญญา’ คาใจ จะเอาเข้าคุกให้ได้ ? ชี้ปมคดีแสงเดือนฯ ‘คนอยู่มาก่อนต้องได้สิทธิ’ อย่าดูแค่แผนที่ตีเส้น )

‘พีมูฟ’ จี้บิ๊กป้อมออก กม.นิรโทษ- ‘แสงเดือน’ พ้อ มีทำไมรัฐบาล? ให้ลืมตาอ้าปากแล้วเหยียบจมดิน ‘ไล่พ้นที่ทำกิน’

สาทิตย์ จี้จุดอ่อน นโยบายทวงผืนป่าเปิดช่องจนท.ใช้ดุลยพินิจ ‘เกินขอบเขต’ ชี้ช่อง ‘สั่งไม่ฟ้อง-นิรโทษกรรม’

Advertisement

บรรยากาศ เวลา 10.00 น. นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาเรื่องการที่คนยากคนจน หรือคนชายขอบเหล่านี้ถูกดำเนินคดี ตนคิดว่ามันเป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะกรณี แต่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างในเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในทางเศรษฐกิจ เราเห็นได้ชัดเจนว่ามีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในทางเศรษฐกิจอย่างมาก ในขณะที่คนจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งร่ำรวยมหาศาล แต่คนจำนวนมากยังไม่มีอาหารที่จะกินให้รอดพ้นไปในแต่ละวัน

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากบุญ หรือกรรม แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายในการบริหารประเทศ และนโยบายการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยค่าแรงต่ำ สินค้าทางการเกษตรถูกมาก เพราะมีนโยบายและวัตถุประสงค์ที่จะให้ค่าครองชีพถูกเพื่อที่จะได้จ้างแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมราคาถูก สินค้าในประเทศไทยที่ผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปนอกประเทศ เพื่อที่จะไปแข่งขันกับนานาประเทศ ซึ่งนี่ไม่ใช่ทางเดียวที่รัฐบาลสามารถทำได้ เราสามารถทำสินค้าราคาแพงและมีคุณภาพเพื่อไปแข่งได้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลยังยึดถือนโยบายสินค้าราคาถูกเพื่อกระตุ้นการส่งออก และที่สำคัญคือกระตุ้นการท่องเที่ยวจากนานาประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่าครองชีพถูกที่สุด เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว โดยเหตุผลสำคัญคือ อาหารและที่พักราคาถูก แต่คนที่ต้องทำงานหนักและคนที่มีรายได้น้อย คือผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร ในขณะที่ประเทศไทยนั้นระดับการพัฒนาเราควรจะไปเทียบเท่ากับมาเลเซียแล้ว เราต้องยอมรับให้มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น แต่แน่นอนว่าราคาสินค้าเกษตรและค่าแรงของแรงงานนั้น ก็ต้องสูงขึ้นด้วย แต่รัฐบาลไม่ยอมรับนโนบายนี้และติดกับดักในเรื่องนี้

นอกจากนั้น การมุ่งที่จะส่งเสริมธุรกิจทางด้านบริการและการผลิตทางอุตสาหกรรม โดยละเลยการเกษตร ก็มีผลให้เกิดกระบวนการแย่งยึดที่ดิน ซึ่งนี่เป็นระบบที่จะต้อนพวกเราเพื่อที่จะไปใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมในราคาถูก ถ้าเราไม่มีที่ทำกิน แล้วในที่สุดลูกหลานของเราแทนที่จะเข้าเรียน แต่ต้องไปเป็นผู้รับจ้าง

Advertisement

ผมอยากจะชี้ประเด็นนี้ว่า ไม่ใช่ปัญหาบุญ-กรรม แต่เป็นปัญหาเรื่องโครงสร้าง และโครงสร้างในลักษณะเช่นนี้ถูกทำให้เข้มแข็งขึ้นเมื่อมีการกระทำรัฐประหาร ดังนั้น พวกเราต้องสำเหนียก ต้องตระหนักว่าเราต้องไม่สนับสนุนการรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารแต่ละครั้งก็ออกกฎหมายเป็นคำสั่ง คสช.บ้าง ประกาศ คสช.บ้าง โดยที่ไม่ได้รับฟังหรือมีส่วนร่วมในการตรากฎหมายของพี่น้องประชาชน แต่ตอบสนองนโยบายที่นายทุน เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์ นอกจากปัญหาในทางโครงสร้างแล้ว ปัญหาโครงสร้างในเรื่องป่าไม้มีความสับสนมาก รวมทั้งปัญหาโครงสร้างในทางที่ดิน คนบางคน บริษัทบางบริษัท มีที่ดินเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ ในขณะที่พี่น้องมี 10-20 ไร่ ขาข้างหนึ่งก็เข้าไปอยู่ในคุกแล้ว เราไม่มีการจำกัดการถือครองที่ดิน ดังนั้น เมื่อพี่น้องสูญเสียที่ดิน ส่วนหนึ่งก็ต้องไปหาที่ดินใหม่หรือไม่ ก็ต้องไปอยู่ในโรงงานนั่นเอง และใช้กระบวนการทางกฎหมายถือว่าคนเหล่านี้ผิดกฎหมาย” นายสมชายกล่าว

โดยในตอนหนึ่ง นายสมชาย ได้ยกตัวอย่างการถูกดำเนินคดีเรื่องที่ดินว่า มีคนหาเช้ากินค่ำ ไปเก็บขนุนริมคลองหลอดเอามาให้ลูกกิน แต่มีความผิด หากศาลตัดสินให้ติดคุกก็สามารถทำได้ หากตัดสินว่าคนนี้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ไปเก็บขนุนมาประทังชีวิตให้ติดคุก 1 ปี หรือ 6 เดือน เป็นธรรมหรือไม่ ดังนั้น ความเป็นธรรมคือกฎหมายสูงสุด จะให้ความเป็นธรรมได้ ต้องพิจารณาแต่ละกรณีด้วย จะพิจารณาตามนโยบายไม่ได้ ตนคิดว่าการทำแบบนี้เอาคอมพิวเตอร์มาตัดสินคดีดีกว่า เพราะว่าการตัดสินคดีจะให้ความเป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องมีความเป็นมนุษย์ ยิ่งผู้ตัดสินจะต้องเป็นมนุษย์ เพราะแววตาของพยานและจำเลยมันสื่อความหมาย บางทีเรารู้ได้เลยว่าคนๆ นี้โกหกหรือพูดความจริง ดังนั้น จึงอยากบอกว่าในกระบวนการยุติธรรมนั้นการสอบสวน การสั่งคดี การตัดสินพิพากษา ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของของมนุษยธรรม ความเป็นมนุษย์ เพราะท่านเป็นมนุษย์ และสิ่งที่ท่านตัดสินจะมีผลกระทบต่อมนุษย์

ทั้งนี้ เวลา 13.00 น. ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) จะไปยื่นหนังสือ ถึงประธานศาลฎีกา ที่สำนักงานศาลฎีกา สนามหลวง และคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image