‘ธงชัย’ บอก ต้องปอกความหมาย ให้พ้นมายาคติ สังคมไทย อึกทึกได้ทั้งที่เงียบ

‘ธงชัย’ บอก ต้องปอกความหมาย ให้พ้นมายาคติ สังคมไทย อึกทึกได้ทั้งที่เงียบ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 กันยายน ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จ.เชียงใหม่ มีการจัดงานนิทรรศการและเสวนาในหัวข้อ “ห้วงขณะอันลึกลับแห่งความเงียบ” The mysterious moment of silence ทัศนาสงครามเย็นครั้งที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม และสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ โดยมี ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา และ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ร่วมวงเสวนา

อ่านข่าว : ‘ทัศนัย’ เปิดงานชิ้นใหม่ ที่ต้องใช้เวลาตีความ 300 ปี เกริ่น ‘สงครามเย็นมีเรื่องเยอะ’ ไทยเป็น ‘สังคมมหรสพ’

ในตอนหนึ่งพิธีกรถามว่า เมื่อเดินเข้ามาในห้อง เห็นผลงาน มีความรู้สึกแรกอย่างไรบ้าง ?
ศ.ดร.ธงชัยเปิดเผยว่า ตนรู้สึก เสียงมันดังจังเลย

“สิ่งที่ผมเห็นคือเสียงที่อึกทึก อ.ทัศนัย หรือใครก็ไม่รู้กำลังตะโกนโหวกเหวก ดังลั่น มันทั้งร้อน ทั้งแรง ทั้งเสียงดัง

Advertisement

สำหรับผม สารพัดอย่าง 40 กว่าปีที่ผ่านมา มันเงียบ ถ้าคิดว่า 6 ตุลาฯ 19 เป็นโมเมนต์หนึ่งในนิทรรศการนี้ จนถึงโมเมนต์สุดท้าย ภาพท้ายๆ ผมก็ยังรู้สึกว่า เสียงอึกทึกเหลือเกิน อึดอัด อยากพูด และโพล่งออกมา ผมพูดมาก แต่เวลาเขียนหนังสือรู้สึกมันเงียบในความรู้สึก

ผมโตมาไมมีศิลปะในหัวใจ เคยอยากมีรสนิยมทางศิลปะ ก็ไม่สำเร็จ สมาร์ทโฟนไม่มีเพลง ผมไม่พกหูฟัง ไม่ฟังเพลง ผมไม่มีศิลปะ คำตอบสั้นๆ คืองานของ อ.ทัศนัย มีความอึกทึกคึกโครมเหลือเกิน อาจจะไม่ได้พูดสิ่งเดียวกับที่ผมพูด อาจจะพูดถึง 6 ตุลาเหมือนกัน พูดถึงเหยื่อ และปรากฏการณ์ทางสังคมเหมือนกัน แต่มองคนละแง่ มันร้อนแรง” ศ.ดร.ธงชัยกล่าว

จากนั้น ชูหนังสือ ‘Moments of Silence’ ที่ตั้งชื่อให้ล้อไปกับนิทรรศการ The mysterious moment of silence

ศ.ดร.ธงชัย ระบุว่า ออกแบบให้ว่างที่สุด

เมื่อถามว่า พื้นที่ของงานที่ออกแบบให้ว่าง มีนัยยะอะไร ?

ศ.ดร.ธงชัยกล่าวว่า บทที่ 1 ผมเริ่มอธิบายว่า ความเงียบคืออะไร เคยคิดว่าความเงียบหมายถึง “การลืม” การถูกกลั่นแกล้ง กดขี่ บังคับ ใช้เราลืม แต่พออยู่กับความเงียบมานานๆ เข้า ผมรู้สึกว่า ไม่ใช่แค่นั้น มทีอย่างอื่นอีกมาก

“ความเงียบที่เราอาจไม่มีทางนึกถึง มีประโยคหนึ่งสะกิดใจผมมาก

“เราจะเข้าใจและรับฟังดนตรีได้หรือไม่ ? รู้จักความต่างของคนต่างๆ ได้หรือไม่ ถ้าหากระหว่างคนเหล่านั้น ไม่มี ‘ความเงียบ’ (Silence)”

สำหรับผมมันปิ๊งเลย เออ ถ้ามันไม่มีพื้นที่ความเงียบซ่อนอยู่ เราจะฟังเสียงต่างๆ ได้แบบที่เราฟังดนตรีหรือไม่” ศ.ดร.ธงชัยกล่าว

จากนั้น ศ.ดร.ธงชัยยกสเหน่ห์ของหนังเงียบ ที่เพียงแค่ท่าทางของนักแสดง ก็ทำให้เราเติมคำพูดเข้าไปได้ ในความเงียบระหว่างช่องเสียงนดตรี หลายตอนในหนัง ในเวลาสื่อความหมายพิเศษ หลายครั้งไม่ได้สื่อด้วยคำพูด แต่สื่อด้วยภาพที่เงียบๆ ไม่เชื่อไปดูหนังของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เงียบมาก จนสุดท้ายตนอึดอัด เพราะมันพาให้ผมคิดไปถึงโน่น ถึงนี่เต็มไปหมด

“ผมเลยเข้าใจหนังสือเล่มนี้ พูดถึงความทรงจำมากมายที่อยู่ในความเงียบ ในความเงียบของหนัง ดนตรี มีเสียงอึกทึกเต็มไปหมด สิ่งที่ อ.ทัศนัยทำ หลายภาพๆ มาจากความเงียบเหล่านี้ หนังสือและภาพในห้องนี้เกี่ยวกับ 6 ตุลา

ผมอธิบายในหนังสือเล่มนี้ไว้ตอนนึงว่า 6 ตุลา มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามเย็น สงครามเย็นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น การปราบปรามคอมมิวนิสต์ อ.ทัศนัย ส่งเสียงดังถึงเรื่องเหล่านั่น ในสิ่งที่ผมพยายามพูดสมัยก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อพูดจบ สำหรับผมรู้สึกว่า มันยังเงียบเกินไปอยู่ดี” ศ.ดร.ธงชัยกล่าว

ศ.ดร.ธงชัยกล่าวอีกว่า สังคมไทย อึกทึกคึกโครมได้ทั้งที่เงียบ เห็นด้วยมาก ผมสังเกตสังคมไทย คำขวัญเต็มบ้านเต็มเมือง

“ล่าสุด ต้องเคารพความหลากหลาย บลาๆ คำขวัญในเชิงปลุกขวัญกำลังใจเยอะไปหมด นี่คือด้านอึกทึก ด้านเงียบคือ เมื่อคุณวิจารณ์ คุณถูกปิดปาก จนทุกคนรู้สึกปล่อยให้เป็นไปตามนั้น (Conform) พอรู้ว่า ‘เส้นแค่ไหนอย่าพูด’ คือการรู้จุด อะไรทำให้ตัวเองอยู่ในสังคมนี้ได้

เรื่องไหนบ้างที่อยากพูด ? ในขณะที่ปากร้อง ดาราทั้งหลาย หรือบุคคลที่สังคมรู้จัก มาตะโกนให้คำขวัญโลกสวยสารพัด อีกด้านหนึ่งคือ “อย่าพูด” นี่คือ 2 ด้านที่อยู่ด้วยกัน” ศ.ดร.ธงชัยระบุ

ศ.ดร.ธงชัยยังกล่าวถึงสงครามเย็นด้วยว่า เป็นสงครามที่ถึงภาวะลงมือใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสงครามในปัจจุบันไม่ใกล้เคียงกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ สงครามเย็นถือได้ว่า ‘เกือบจะร้อนที่สุด’

“ผมสงสัยเวลาที่ อ.ทัศนัย พูดถึงการถูกรบกวนใจ ด้วยรัฐประหาร 2 ครั้ง ในแง่นี้มีข้อสังเกตเล็กๆ ใครไม่เห็นข้อดีของ ประยุทธ์ คุณเริ่มเห็นแล้ว ถ้าไม่มีรัฐประหาร คงไม่มีผลงานพวกนี้ออกมา มันเหมือนกับว่า อ.ทัศนัย ทำเรื่องสงครามเย็น แต่ก็มีสิ่งที่ต้องการจะพูดเยอะ ทำ 2 ปี ถ้าเป็นผมทำไม่ได้ ผมจะร้อนข้างในใจ” ศ.ดร.ธงชัยเผย

ศ.ดร.ธงชัย ยังกล่าวถึง เลเยอร์ของชั้นงาน อ.ทัศนัย ด้วยว่า สงครามเย็น มีหลายอย่าง มีสิ่งล่อลวงมากมาย ปรากฏว่า สงครามเย็นเอง ไม่ใช่เลเยอร์ของความเป็นจริงบางอย่างที่ไม่เคยได้เอ่ย จนสุดท้ายก็กลายเป็นความจริงอีกชุดที่เราเห็น ทั้งที่เป็นเรื่องโกหก หลอกลวงทั้งสิ้น เหมือนภาษาที่มีความหมายหลายชั้น ที่เราเห็นปัจจุบันคือสิ่งที่เรารับรู้ได้ทั่วไป แต่มีร่องรอยของชั้น (ความจริง) ก่อนหน้านั้นซ่อนไว้อยู่เต็มไปหมด ถ้าจะไปให้พ้นมายาคติของภาษา ต้องรู้จักปอกความหมายเหล่านั้นออกมา

ทั้งนี้ มีการแจกปฏิทินคณะราษฎร ให้แก่ผู้ที่ร่วมถาม-ตอบ ในช่วงท้ายของการเสวนาอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image